VUCA กับการปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

VUCA กับการปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์(identity politics) เป็นศัพท์รัฐศาสตร์ที่ใช้อธิบายแนวการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมือง

ที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หรือลักษณะที่บ่งบอกตัวตนบางชนิดร่วมกัน เช่น ศาสนา เชื้อชาติ ภูมิหลังทางสังคม ชนชั้น หรือเพศสภาพ ฯ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมตามวาระข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่ม การรวมตัวเป็นกลุ่มการเมืองแบบอัตลักษณ์นี้มักมีสาเหตุมาจากการมีประสบการณ์กับความอยุติธรรมทั้งโดยตรงและโดยอ้อมร่วมกันระหว่างสมาชิกร่วมอัตลักษณ์ซึ่งมักเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม ที่ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพหรืออำนาจทางการเมืองอย่างเท่าเทียมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งกับคนหมู่มากของสังคมที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ร่วมกับพวกเขา จนนำไปสู่การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตหรืออนาคตของตนเองเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มอัตลักษณ์จึงต้องเป็นการปฏิเสธสภาพการเป็นอยู่แบบเดิมๆ ที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ควรเท่ากันแต่กลับไม่เท่ากันของพวกเขา

การใช้กรอบคิดแบบ “การเมืองเรื่องอัตลักษณ์” อาจจะช่วยให้เราเข้าใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและเยาวชนในขณะนี้ได้ในระดับหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้รวมตัวกันได้อย่างเป็นกลุ่มก้อนและดำเนินการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบที่พวกเขาทำได้นั้น ไม่ใช่เรื่องศาสนาหรือเชื้อชาติแบบเดียวกับกลุ่มอัตลักษณ์ชนิดเดิมๆ ที่เรารู้จักกันดี แต่คือเรื่อง “ช่วงชั้นของวัย” ที่อาจมีปัจจัยภูมิหลังทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือ เยาวชนกลุ่มนี้น่าจะต้องอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีพอควร กล่าวคือ มาจากครอบครัวที่สามารถส่งเสียให้เรียนหนังสือได้ ไม่ต้องออกมาใช้แรงงานเพื่อหาเลี้ยงชีวิตตัวเองหรือส่งเสียครอบครัว มีเวลาเหลือพอที่จะใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่กับการสื่อโซเชียล อย่าง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์หรือ TikTok (อันที่จริงผู้เขียนไม่ใคร่รู้เกี่ยวกับเยาวชนและการเล่นสื่อโซเชียลมากนัก แต่ก็เคยฟังมาจากนักศึกษาระดับหัวกระทิจำนวนหนึ่งที่ผู้เขียนเคยสอนว่า พวกเขาไม่เล่นสื่อเหล่านี้เพราะไม่มีเวลา ดังนั้น ก็อาจเป็นได้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องความเป็นเด็กเรียนหรือไม่ใช่เด็กเรียนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเช่นกัน) ซึ่งการที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันและมีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่ในระบบการศึกษาแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ย่อมทำให้เยาวชนเหล่านี้พูดกันรู้เรื่อง พูดภาษาเดียวกันมีประสบการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นพูดคุยยอดฮิตผ่านหน้าจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญที่สุดพวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่คนในกลุ่มอัตลักษณ์อื่นไม่มี หรือถึงเคยมีแต่ก็ผ่านมานานพอสมควรจึงไม่รู้สึกชัดเจนจับต้องได้มากเท่า อันได้แก่ ความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำทางอำนาจที่พวกเขาต้องประสบอยู่ทุกวันภายใต้บริบทของวัยและการเป็นนักเรียน นำมาสู่การสามารถมีอารมณ์ร่วม เข้าอกเข้าใจกัน และความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันชนิดที่กลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้สำเร็จทุกกลุ่มจำเป็นต้องมี (ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้นึกถึงกลุ่ม #MeToomovementเป็นตัวอย่าง

คนในวัยเรียนโดยเฉพาะวัยมัธยมปลายเป็นช่วงวัยที่อยู่ในสภาวะกดดันมากที่สุด คือ ต้องเตรียมตัวสำหรับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ที่พวกเขาจะต้องพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้เพื่อเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงด้านสถานะและรายได้ในอนาคต แต่ขณะเดียวกันนับวันก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่สามารถให้หลักประกันได้มากกับที่เคยเป็นมาในอดีต และแน่นอนว่าเยาวชนกลุ่มนี้คงไม่มองว่าการมีอาชีพเป็นผู้ใช้แรงงานหรือกรรมการรายได้ต่ำคือทางเลือกสำหรับพวกเขา ดังนั้น จึงเกิดเป็นความกดดันอันใหม่ขึ้นมาว่า จะ“เลือก” เรียนต่อดีหรือ“เลือก” ประกอบอาชีพนอกระบบไปเลย เช่น ขายของออนไลน์ ซึ่งดูจะยังพอไปได้ดีอยู่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจการเมืองโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการเมืองภายในของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนที่มีคุณสมบัติเลือกงานได้มากกว่าคนเลือกไม่ได้ ความไม่แน่นอนนี้ยิ่งซ้ำเติมความกดดันที่มีอยู่แล้วให้รุนแรงขึ้นอีก และวิธีหนึ่งที่รู้จักกันดีในตำราว่าด้วยการจัดการความเครียดไม่ให้เป็นพิษจนเกินไปก็คือ การแย่งชิงอำนาจควบคุมชีวิตของตนกลับคืนมาจากมือใครก็ตามที่กุมมันอยู่แทนที่จะเป็นตัวพวกเขาเอง การออกมาเปล่งเสียงเรียกร้องและแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการใช้อำนาจในสถาบันการศึกษาที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ ในช่วงนี้จึงถูกเข้าใจได้ดีที่สุดว่าคือการเพิ่มพลังอำนาจให้แก่ตนเอง (self-empowerment) ผ่านการแย่งชิงอำนาจควบคุมกลับมาเป็นของตน

ความไม่แน่นอนผันผวนที่ว่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ดังที่มีคำย่อว่า VUCA ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ที่บอกว่าเรากำลังอยู่ใน VUCA world นั่นคือ V-Volatility คือ ความผันผวนสูง อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้ เป็นสถานการณ์เปลี่ยนฉับพลัน แบบตั้งตัวไม่ทัน หรือรวดเร็วมาก เช่น ซึ่งในปัจจุบันคือ Disruptive innovation นวัตกรรมที่พลิกผัน อัตราการเปลี่ยนแปลงสูง (High rate of change)U-Uncertainty คือ สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง คาดการณ์ได้ยาก ขาดความชัดเจน ไม่สามารถหาข้อมูลที่ชัดเจน มายืนยันในแต่ละสถานการณ์ได้ ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ เพราะโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนสูง (Unclear about the present) C-Complexity คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆเชิงระบบ มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนต่อการตัดสินใจ (Multiple key decision factors) A-Ambiguity คือ ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน (Lack of clarity about meaning of an event)(https://www.sasimasuk.com/16768188/vuca-world)

แต่ไม่ใช่แค่นั้น ในกรณีของประเทศไทย มันยังเกิดขึ้นในการเมืองของเราด้วยเช่นกัน การเมืองภายในบ้านเรานั้นเข้าข่าย VUCA อย่างชัดเจน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเมือง พ.ศ. 2549 จนถึงขณะนี้ การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน การชุมนุมประท้วง รัฐบาลอยู่ยาก การเลือกตั้งไม่เป็นทางออก มีรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 8 ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. 2549-2557 ที่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองให้หมดไปได้ และเมื่อการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจก็พลอยระส่ำ ยิ่งถูกผลกระทบจากสิ่งที่เหนือความคาดเดาอย่างการระบาดของ Covid-19 ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อการชีวิตทางสังคมที่ไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะเป็นอย่างไร ในสภาพที่โลกข้างนอกก็เป็น VUCAและโลกข้างในก็ยังเป็น VUCA อีก

โดยปกติ การเมืองจะเป็นอะไรที่สามารถบอกเราได้ว่า อนาคตเราจะเป็นอย่างไร เช่น นโยบายต่างๆ ที่จะออกมา หรือพรรคการเมืองที่เราเลือกไปจะผลักดันอะไรตามที่สัญญาไว้ แต่ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเมืองของเราผันผวนไม่แน่นอนและคลุมเครือจนทำให้คนในวัยที่ยังไม่ทำงาน แต่เรียนหนังสือ และต้องตัดสินใจว่าจะเรียนหรือไม่เรียนต่อ ถ้าต่อ จะเรียนอะไร ถ้าไม่ต่อ จะไปทำงานอะไร แล้วจะมั่นคงยั่งยืนได้แค่ไหน? ต่างจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เขาใช้ที่ให้ความชัดเจนแน่นอนได้และดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งได้มากกว่า จึงไม่แปลกที่เยาวชนยุคปัจจุบันจะมีความคับข้องใจ แต่นอกจากนี้แล้วพวกเขายังรู้สึกว่าตนกำลังเผชิญกับความอยุติธรรมที่ร้ายแรงอันหนึ่งอยู่ด้วย เพราะตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีมานี้ คนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ต่อสู้ทางการเมืองกันคือคนที่ทำให้พวกเขาต้องรับเคราะห์อยู่ในสภาพVUCA และถ้าพวกเขาได้รับข้อมูลว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เศรษฐกิจดี แต่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีการให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่าเพื่อพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อมาการเมืองก็ยังสับสนวุ่นวายมีการกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ “จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” ยุบสภา และแม้นว่า การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งจะชอบธรรม แต่ก็ไม่เห็นจะต้องบานปลายไปถึงการปฏิเสธการเลือกตั้ง จนทำให้ต้องเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ก็มีการอ้างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องอีกและจะสังเกตได้ว่ามีคนรุ่นใหม่ เริ่มออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารที่ให้สัญญาว่า “จะคืนความสุข” 

ดังนั้น นอกจากเยาวชนจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนผันผวนกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว พวกเขายังถูกลิดรอนความสุขที่รัฐบาลสัญญาว่าจะคืนให้ไปอีก ซ้ำร้ายความหวังที่จะได้ความยุติธรรมกลับคืนมาก็ถูกทำให้กลายเป็นฝันสลาย เมื่อหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจผ่านวุฒิสภา และเมื่อพรรคอนาคตใหม่ที่ส่วนใหญ่ของคนช่วงวัยนี้เลือก เกิดถูกตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จากการที่พรรคกู้เงินหัวหน้าพรรคตัวเอง และเมื่อเชื่อมโยงกับวาทกรรมว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังคำตัดสินของศาลและรวมทั้งเรื่องราวอื่นๆ ที่พาดพิงสถาบันสูงสุด คำตอบสั้นๆ ในความเข้าใจของพวกเขาที่ก่อให้เกิด VUCA ในการรับรู้ของพวกเขาก็คือ มรดกเผด็จการของคนรุ่นก่อนที่ทิ้งไว้ให้พวกเขา และพวกเขาจะไม่ทนอีกต่อไป

การรวมกลุ่มอัตลักษณ์เพื่อเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เรื่องนั้น ส่วนการกำกับควบคุมการเคลื่อนไหวให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งในที่นี้คือการโค่นล้มเผด็จการลงและสถาปนารัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเมืองแบบอัตลักษณ์มีลักษณะย้อนแย้งในตนเองอยู่ประการหนึ่งคือ ยิ่งอนุญาตให้คนอื่นเข้าร่วมด้วย แทนที่กลุ่มจะเข้มแข็งขึ้น กลับจะอ่อนแอลง เนื่องจากเกิดการละลายหรือเจือจางของอัตลักษณ์ขึ้น สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับกลุ่มเยาวชนในการขับเคลี่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้จึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรเมื่อไปถึงจุดหนึ่งแล้ว จะสามารถขยายขอบเขตอัตลักษณ์ของตนให้ไปแตะกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อที่จะระดมความร่วมมือจากกลุ่มอัตลักษณ์กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มคนสูงวัยจำนวนมาก ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ ปัญญาชนรุ่นเก่าที่พวกเขาอาจมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนิยมมาใช้ในการร่วมการสถปานารัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นได้ หากทำเช่นนี้ไม่สำเร็จ และจุดจบของการเมืองแบบอัตลักษณ์ครั้งนี้กลับกลายเป็นความขัดแย้งที่แหลมคมระหว่างคนต่างกลุ่มอัตลักษณ์ขึ้นแทน

ผู้เขียนเชื่อว่าสภาวะใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ช่วยให้ VUCA ลดลงหรือเป็นสิ่งที่จัดการได้ แต่จะกลับจะยิ่งทำให้ VUCA ที่คนทั้งสังคมไทยต้องเผชิญจากภายในและภายนอกกลับจะยิ่งกลายมาเป็นห่วงที่รัดคอเราให้หายใจไม่ออกมากยิ่งขึ้น