แก้รัฐธรรมนูญ Deadlock การเมือง
การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขการสืบทอดอำนาจและให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก" และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ทางตัน หรือ Deadlock ทางการเมือง
ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เขียนบทบัญญัติที่ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการร่างใหม่ตามระบบรัฐสภาทำได้ “ยากมาก” ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ซึ่งหนทางในระบบ ไม่มีทางเป็นไปได้
ด้วยบทบัญญัติมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ให้แก้ยากเย็นแสนเข็ญ โดยเฉพาะการต้องใช้เสียง สมาชิกวุฒิสภา เห็นด้วยกับการแก้ไข อย่างน้อย 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 คน
และประเด็นข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุม และพรรคการเมือง คือการแก้ไขที่มา และอำนาจของ ส.ว. ที่เป็นปมประเด็นยากต่อการทำให้ ส.ว. 84 คนยกมือให้ผ่านการแก้ไข
ถึงแม้จะกดดันให้ผ่านได้ ด้วยการเปิดกุญแจแก้มาตรา 256 เมื่อผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งต้องได้เสียง ส.ว.เกิน 1 ใน 3 แล้ว ยังจะต้องนำร่างแก้ไขนั้นไปทำประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ แค่กระบวนการแก้ไขมาตรา 256 อย่างเดียว ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน
ถ้าหากมีการเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะจะต้องใช้เวลาในกระบวนการได้มาของ ส.ส.ร.ไม่น้อยกว่า 3 เดือน จากนั้นต้องให้เวลา ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญราว 1 ปี และต้องทำประชามติใหม่อีกรอบ
นี่คือกรอบเวลาที่ไม่ทันใจของฝ่ายเรียกร้อง ที่ทั้งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พูดจาสอดคล้องกันว่า ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ถ้าเป็นดังกรอบเวลาดังกล่าว ก็จะนำไปสู่ Deadlook อย่างที่ว่า เพราะผู้ชุมนุมจะไม่รอถึง 2 ปี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร
ในประวัติศาสตร์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่อาศัยขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย มีอยู่ด้วยกัน 2 ทาง คือ หนึ่งจากการรัฐประหาร ซึ่งเมืองไทยใช้หนทางนี้มา 14 ครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475
หนทางที่สอง คือการกดดันของสังคมผ่านการเรียกร้องของประชาชน ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะแรงกดดันของประชาชน 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญปี 2517 หลังการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นกัน
การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าเดินหน้าแก้ไขตามขั้นตอนระบบรัฐสภา และรัฐธรรมนูญตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ ยืนหยัด ขณะที่ฝั่งผู้ชุมนุมต้องการให้แก้ไขอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนจะเป็นเส้นขนาน ที่ไม่มีทางบรรจบกันได้ และอาจไร้ซึ่งทางออก จนเป็น Deadlock ในหน้าประวัติศาสตร์เมืองไทยอีกครั้ง ต้องระวัง !