จีนอยากได้ทรัมป์หรือไบเดน?
ตลอด 4 ปี ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมาตลอด ทั้งการจุดไฟสงครามการค้า การประกาศแบนบริษัทเทคโนโลยีจีน
การทวิตและปราศรัยว่าจีนเป็นภัยคุกคาม หลายคนสงสารประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนที่โชคร้ายมาอยู่ในตำแหน่งพร้อมผู้นำสหรัฐที่เปี่ยมด้วยลูกบ้าลูกชนอย่างทรัมป์
แต่ไม่แน่นะครับ ในใจลึกๆ สี จิ้นผิงอาจอยากให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งต่อไปก็ได้ เพราะเผลอๆ รับมือกับไบเดนอาจยากกว่ารับมือกับทรัมป์
ทรัมป์ทำให้จีนเสียหายและเจ็บตัวหนักในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ทรัมป์ขาดแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นระบบ วิธีคิดของทรัมป์เป็นลูกเล่นของพ่อค้าที่เก่งในการแสวงกำไรระยะสั้น ด้วยการปั่นกระแสและพลิกไปมาให้คนคาดเดาลำบาก แต่ทรัมป์ไม่มีการพยายามสร้างรากฐานเพื่อความแข็งแกร่งของสหรัฐในระยะยาวเลย ทรัมป์ไม่มีนโยบายเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ มีแต่เที่ยวตัดงบการวิจัยและพัฒนาของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ
ถ้าทรัมป์ยังเป็นต่อ และจีนสามารถทนเจ็บและหยุดเลือดได้ในช่วงระยะสั้น ในระยะยาวจีนอาจคว้าชัยชนะในสงครามเย็นยุคใหม่ก็ได้
พิชัยสงครามบอกจะชนะต้องมีชัยภูมิดี มีพันธมิตรเยี่ยม และคุมลิขิตฟ้า สหรัฐนั้นชัยภูมิดีแน่ แต่ในยุคของทรัมป์ พันธมิตรของสหรัฐไม่รักใคร่กลมเกลียวเหมือนแต่ก่อน เพราะทรัมป์เที่ยวหาเรื่องทำสงครามการค้ากับเขาไปทั่ว ทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่ทรัมป์เคยเป็นผู้นำ สหรัฐก็ลดบทบาทลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลก ไปจนถึงการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก
ส่วนแต่เดิมที่ใครๆ คิดว่าสหรัฐนั้นคุมลิขิตฟ้า คืออยู่ข้างความถูกต้องคือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ในสมัยทรัมป์ก็ดูเหมือนสหรัฐจะไม่สามารถเรียกศรัทธาหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ ตัวทรัมป์เองก็ดูไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนเลย เคยแต่ชื่นชมปูตินและสี จิ้นผิงว่าเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง
แต่หากไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี ในเชิงจุดยืนของสหรัฐคงยังมองจีนเป็นภัยคุกคามและเป็นคู่แข่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่ในทางรูปแบบจะเป็นการดำเนินนโยบายกับจีนที่เสถียรขึ้น คาดเดาได้มากขึ้น และกลับสู่รูปแบบปกติมากขึ้น หมดยุคขึ้นลงแบบรถไฟเหาะตามทวีตของพี่ทรัมป์
ในด้านการค้า รูปแบบจะเปลี่ยนจากสงครามการค้าฝ่ายเดียวแบบทรัมป์ เป็นการแสวงพันธมิตรทางการค้าเพื่อปิดล้อมจีนและเพื่อสร้างกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ชัดเจนว่าไบเดนไม่เห็นด้วยกับสงครามการค้าของทรัมป์ เพราะสหรัฐเองก็เสียหายด้วย ดังนั้นมีแนวโน้มสูงที่ไบเดนจะกลับมารื้อฟื้นแนวคิด TPP ของโอบามา (ซึ่งในขณะนี้ภายหลังจากที่สหรัฐถอนตัวเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP)
แนวคิดหลักของ TPP คือการรวมกลุ่มการค้ากับพันธมิตรของสหรัฐ และเนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดในโลก กลุ่มการค้านี้จึงมีความสำคัญ สหรัฐเองจะกำหนดกฎเกณฑ์การค้าใหม่ผ่าน TPP และเมื่อถึงวันหนึ่ง จีนเองก็คงจะสนใจขอเจรจาเข้าร่วม TPP ด้วย เมื่อถึงวันนั้นก็เท่ากับจีนจะต้องผูกมัดตัวเองเข้ากับกฎกติกาการค้าโลกที่สหรัฐเป็นผู้กำหนดการคิดแบบ TPP จึงเป็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะสะกดจีนอยู่ในกฎเกณฑ์และระเบียบโลกของสหรัฐ
ไบเดนจะกลับมาให้ความสำคัญกับกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการปฏิรูปองค์การการค้าโลก และเขาได้ประกาศแล้วว่าในวันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะพาสหรัฐกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกซึ่งทรัมป์ได้ถอนตัวไปก่อนหน้านี้
ในด้านสิทธิมนุษยชนและคุณค่าประชาธิปไตยในขณะที่ทรัมป์ไม่ค่อยสนใจจะกดดันจีนในประเด็นเหล่านี้ แต่สำหรับไบเดนนี่จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่ายกักกันในซินเจียงปัญหาการละเมิดสิทธิกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงจะล้วนกลายเป็นประเด็นร้อนที่นำมาใช้กดดันจีนในเวทีโลก
ในเรื่องของการแบนบริษัทเทคโนโลยีจีน ไบเดนเองคงเปลี่ยนมาใช้แนวทางการกำกับดูแลโดยออกกฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและระบบ แต่คงไม่ใช่การห้ามมิให้ธุรกิจสหรัฐค้าขายกับบริษัทจีนดังเช่นที่ทรัมป์ทำ
ไบเดนเองคงพร้อมที่จะมีความร่วมมือกับจีนในประเด็นที่จีนและสหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายของไบเดนต่อจีนจะคล้ายกับนโยบายของโอบามาต่อจีน แต่จะเข้มข้นและดุดันกว่า หลายคนบอกว่า ทรัมป์เป็นจุดพลิกความสัมพันธ์สหรัฐกับจีน แต่แท้จริงแล้วตั้งแต่สมัยโอบามาเองสหรัฐก็เริ่มมองว่าจีนเป็นคู่แข่งและเป็นภัยคุกคาม แต่ตัวโอบามานั้นหน้าฉากบอกกับสี จิ้นผิงว่าความสัมพันธ์สหรัฐและจีนเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดต่อเสถียรภาพโลกและดูเป็นมิตรต่อกัน แต่หลังฉากนั้นโอบามาก็เริ่มเดินเกมปิดล้อมและตัดแข้งตัดขามังกรไม่ให้ทะยานขึ้นมา ทั้งการริเริ่ม TPP และนโยบายการกลับเข้ามามีบทบาทในเอเชีย (Pivot to Asia)
ไบเดนจะเป็นโอบามาที่โฉ่งฉ่างคือหน้าฉาก ไบเดนจะไม่สุภาพหรือพูดจาอัธยาศัยไมตรีดีกับจีนเช่นโอบามา แต่จะดุดันและเล่นบทแข็งกร้าวกับจีนเช่นเดียวกับทรัมป์ ส่วนหลังฉากก็จะใช้วิธีเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวแตกต่างจากทรัมป์ จะคล้ายกับโอบามา แต่จะเข้มข้นกว่าโอบามา
ในช่วงหาเสียงไบเดนเองก็มีท่าทีแข็งกร้าวทั้งต่อทั้งจีนและสี จิ้นผิง และนี่ก็สอดคล้องกับกระแสในสังคมสหรัฐ ผลสำรวจของ The Pew Research Center เดือน มี.ค.2020 พบว่าอเมริกันชนถึง 66% มีทัศนะคติกับจีนในเชิงลบ โดยนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการทำสำรวจในปี 2005 และเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ
คำพูดที่ว่าไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือไบเดน จีนกับสหรัฐจะไม่กลับมารักกันอีกแล้ว คือยังไงก็คงเป็นคู่แข่งกันทางยุทธศาสตร์ แต่ถ้าหากเป็นประธานาธิบดีไบเดน เราจะเห็นรูปแบบของการดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป จะเน้นการดำเนินยุทธศาสตร์ระยะยาวที่เป็นระบบมากขึ้น เน้นการแสวงพันธมิตรเพื่อปิดล้อมจีนและจะกลับมาให้ความสำคัญกับบทบาทของสหรัฐ ในองค์การและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ต่างจากการออกหมัดชกเดี่ยวของทรัมป์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา