SSF และ RMF ตัวช่วยในการวางแผนภาษี
ผ่านไปแล้วสำหรับการยื่นภาษีประจำปี 2562 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
แต่ละท่านเป็นอย่างไรกันบ้างครับ ได้ภาษีคืนกันมาเท่าไรกันบ้าง หรือต้องชำระเพิ่มกันอีกเยอะไหมครับ? และหลังจากการยื่นแบบภาษีไปแล้ว ผมเชื่อว่า หลายๆท่านอาจเริ่มมองหาตัวช่วยในการที่จะวางแผนภาษีของปีนี้
วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าถึงหนึ่งตัวช่วยดีดีที่จะช่วยวางแผนภาษีได้ คือ SSF และ RMF ว่าทั้งสองตัวนี้เป็นอย่างไร และมีหลักเกณฑ์อย่างไรครับ
“SSF กับ RMF คืออะไร? SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund) และ RMF กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) นั้นคือกองทุนรวมชนิดที่มีเงื่อนไขพิเศษที่ สามารถนำยอดเงินที่ซื้อไป เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ เช่น หากเรามีรายได้ประจำปีหลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000,000 บาท ยอด 1,000,000 บาทนี้จะถูกนำไปคำนวณภาษี ทำให้มีภาษีที่ต้องชำระอยู่ที่ 115,000 แต่ถ้าหากเรา มียอดซื้อ SSF หรือ RMF รวมกันอยู่ที่ 100,000 บาท จากยอด 1,000,000 บาทจะถูกหักออก เท่ากับยอดซื้อ SSF และ RMF ที่ 1,000,000 บาท คงเหลือ ยอดนำไปคำนวณภาษีที่ 900,000 บาท ทำให้เสียภาษีแค่ 95,000 บาท หรือ ก็คือประหยัดภาษีน้อยลงไป 20,000 โดยแลกกับการซื้อ SSF/RMF ด้วยเงิน 100,000 บาทนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ SSF และ RMF ต่างก็มีเงื่อนไขการซื้อขายและระยะเวลาการถือครองที่แตกต่างกันดังนั้น การเลือกว่าจะซื้อ SSF และ RMF ต้องพิจารณาให้ดี โดยที่ ในส่วนของระยะเวลาการถือครองนั้น SSF ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี ส่วน RMF นั้น ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และสามารถขายได้ เมื่อผู้ซื้อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และในส่วนของยอดที่ซื้อได้ต่อปีนั้น SSF สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้น และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ส่วน RMF นั้น สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้น และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ยอดซื้อ SSF เมื่อรวมกับ RMF และรวมกับ ยอดลงทุนกลุ่มเกษียณต่างๆ(เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ, กบข.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
แล้วเราควรซื้อ SSF หรือ RMF ดี? และควรซื้อที่เท่าไร? ในขั้นแรกนั้น ผมขอให้ลองคำนวณภาษีดูเสียก่อนครับว่า หากไม่ได้ซื้อกองทุน SSF/RMF เลยนั้น เราจะมีภาษีที่ต้องเสียอยู่ที่เท่าไร หลังจากที่ทราบว่าต้องเสียภาษีอยู่ที่เท่าไรแล้ว ให้ลอง ใส่ตัวเลขยอดรวม SSF/RMF เข้าไปเสียก่อนว่า ถ้าหากเราซื้อ SSF/RMF ไปที่เท่านี้แล้วนั้น เราจะเสียภาษีน้อยลงมาอยู่ที่เท่าไร และเราพึงพอใจหรือไม่กับยอดเงินลงทุนที่เราได้จ่ายออกไป เมื่อเทียบกับภาษีที่ได้คืนมา และจากการลงทุนใน SSF/RMF ด้วยเงินเท่านี้ จะกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินเราหรือไม่
หลังจากที่ทราบยอดรวม SSF/RMF ที่ต้องการจะซื้อในขั้นตอนก่อนหน้านี้แล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปก็คือการเอายอดนี้มาแบ่งสัดส่วนว่าเราจะลงทุนใน SSF และ RMF อย่างละเท่าไร โดยการใช้ 30% คูณกับรายได้รวมของเราเพื่อได้ตัวเลขว่า เราจะสามารถซื้อ SSF และ RMF ได้อย่างละไม่เกินกี่บาท
ถัดมาให้ใช้อายุเราเป็นเกณฑ์แรกในการเลือกว่าจะลงทุนใน RMF หรือ SSF โดยที่หาก เรามีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป การเลือกลงทุนใน RMF จะน่าสนใจกว่า เพราะจะทำให้เราไม่ต้องถือกองทุน RMF นานถึง 10 ปีเท่ากับ SSF
ทั้ง SSF และ RMF นั้นต่างมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเช่น ตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศ หุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศเป็นต้น ซึ่งต่างจากปีก่อนๆที่เราลงทุนใน LTF ที่จะมีแค่การลงทุนในหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น การเลือกกองทุน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา โดยผู้ลงทุนควรเลือกนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และ ทำความเข้าใจว่ากองทุนที่ตนเองเลือกนั้น มีนโยบายการลงทุนในอะไร
และสุดท้ายเมื่อเราทราบแล้วว่าจะซื้อกองทุนอะไร เป็นจำนวนเงินเท่าไรแล้วนั้น การจับจังหวะเพื่อการลงทุนในช่วงที่ราคาถูก เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก หรือการจะรอไปซื้อปลายปีเลยทีเดียวก็เสี่ยงกับการที่จะได้ต้นทุนในราคาแพง ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) ซึ่งก็คือการซื้อแบบถัวเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนลงไปได้ครับ โดยทั้งนี้ยังเหลือเวลาให้เราได้ซื้อกันอีก 4 เดือนก่อนจะจบปีภาษี ใครที่ยังไม่เริ่ม หรือไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ลองปรึกษานักวางแผนการเงินใกล้ตัวท่านได้เลยครับ เพราะเริ่มต้นเร็วมีชัยไปกว่าครึ่งครับ”