Neuralink บนเส้นทางนิยายวิทยาศาสตร์

Neuralink บนเส้นทางนิยายวิทยาศาสตร์

นับเป็นการประกาศรับสมัครบุคลากรแบบก้องโลกอีกครั้งในงาน "Neuralink Product Demo" เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2020

เมื่ออีลอน มัสก์เจ้าของบริษัทนิวรอลลิงค์ (Neuralink) ออกมาเชิญชวนผู้มีความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าร่วมงานกับ Neuralink โดยเฉพาะวิศวกรในสาขา Materials, Microfabrication, Robotics, Software, Embedded Systems, Electronics และ Neuroengineer โดยกล่าวว่าการแสดงผลงานในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการหาแหล่งเงินทุนแต่อย่างใด

 

ตั้งแต่เปิดตัวเทคโนโลยีและทีมบริหารในปี 2019 Neuralink มักย้ำว่าเทคโนโลยีด้าน “Brain Machine Interface (BMI)” ซึ่งเป็นการเชื่อมสมองให้สามารถสื่อสารไปยังอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกร่างกายให้ทำงานตามความคิดไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการพัฒนาเชิงการแพทย์มานานหลายสิบปี แต่สิ่งที่ได้รับความสนใจนอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาผู้ป่วยทางระบบสมองแล้ว คงเป็นแนวคิดในเชิงนิยายวิทยาศาสตร์

 

โดยความคิดในการต่อยอดเอาเทคโนโลยีนี้ไปควบคุมอุปกรณ์รอบตัว หรือกระทั่งสื่อสารกันเองทางจิตระหว่างมนุษย์ (telepathy) รวมถึงแนวคิดไซไฟสุดล้ำที่แสนยากจะทำได้จริง ด้วยการพัฒนาให้ไปถึงขั้นที่สมองมนุษย์สามารถคำนวณและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องรวดเร็วไม่ด้อยกว่า AI (superhuman) จนเกิดสภาวะ  “Symbiosis” ที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับ AI โดยความหวังที่จะควบคุม AI ให้ได้นั่นเอง

 

ขนาดผลักดันนวัตกรรม

เซลในสมองที่มีมากถึง 86,000 ล้านเซลที่เรียกว่า นิวรอน” (Neuron) ส่งคำสั่งถึงกันโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าจำนวนน้อยมากจากนิวรอนหนึ่งไปยังนิวรอนหนึ่งตรงบริเวณจุดรับส่งสัญญาณที่เรียกว่า “Synapses” สัญญาณไฟฟ้าที่ส่งถึงกันนี้เรียกว่า “Action Potential” (หรือ Spike) เช่น นิวรอนในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจะส่ง action potential ผ่านนิวรอนจำนวนมากมายไปยังนิวรอนปลายทางที่ควบคุมกล้ามเนื้อให้ร่างกายเคลื่อนไหวเช่น บริเวณแขนหรือขา ซึ่งหากวางอิเลคโตรด (electrode) ไว้ในบริเวณรับส่งสัญญาณไฟฟ้าได้จะสามารถทำให้รับ (หรือส่ง) สัญญาณกับเซลสมองได้เช่นกัน

 

อุปกรณ์สำหรับรักษาโรคทางสมองอย่าง BMI ในปัจจุบันนับว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดเซลสมอง การติดตั้งอิเลคโตรดหรืออุปกรณ์จึงอาจทำให้เยื่อสมองฉีกขาดและเลือดออกง่าย Neuralink เริ่มต้นการพัฒนานวัตกรรม BMI โดยการประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องมือให้มีขนาดเล็กมากเพื่อไม่ทำลายเซลสมอง โดยอิเลคโตรดที่ประดิษฐ์ขึ้นถูกติดไว้กับด้าย (Thread) ที่มีขนาดเพียง 4 ถึง 6 ไมครอนซึ่งเล็กกว่าเส้นผมที่มีขนาด 100 ไมครอนถึง 20 เท่า

 

ขนาดที่เล็กเพียงระดับไมครอนสร้างความท้าทายต่อการพัฒนาวัตถุและอุปกรณ์อย่างมาก นับแต่การฝังด้ายที่มีอิเลคโตรดลงยังสมองในตำแหน่งที่สามารถรับสัญญาณ spike ได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อนิวรอน ซึ่งจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ในการฝังด้ายให้ลงในตำแหน่งอย่างแม่นยำ พร้อมกับการออกแบบและพัฒนาชิพ (Chip) ขึ้นใช้เองเพื่อขยายสัญญาณ ลดสัญญาณรบกวน และแปลงสัญญาณ spike ให้เป็นสัญญาณดิจิทัล โดยเริ่มต้นสามารถรองรับช่องสัญญาณได้ถึง 1,024 แชนแนลและมีขนาดเพียง 4x5 มิลลิเมตร โดยมีเป้าหมายให้มีแชนแนลมากกว่าค่ายอื่นถึง 100 หรือ 1,000 เท่า

 

แต่ละก้าวที่มุ่งมั่น

ในปีนี้ Neuralink ได้สาธิตการทำงานจริงของคลื่นสัญญาณสมองที่ถูกส่งจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในกะโหลกศีรษะของหมูที่เชื่อมกับเซลสมองส่วนจมูก ซึ่งเมื่อได้รับการกระทบที่จมูกก็จะส่งคลื่นสัญญาณไร้สาย (wireless) มายังอุปกรณ์รับสัญญาณภายนอก พร้อมทั้งแสดงผลการทำนาย (predict) การเคลื่อนไหวของตำแหน่งกระดูกข้อต่อของหมูในระหว่างการเดินโดยใช้อัลกอริธึมในชิพที่ให้ผลใกล้เคียงกับค่าจริงอย่างมาก ซึ่งหากถูกนำมาพัฒนาเพื่อให้ใช้ได้กับมนุษย์ อาจช่วยให้ผู้พิการที่เดินไม่ได้สามารถสั่งงานแบบไร้สายไปยังอุปกรณ์ที่ช่วยการเดินให้ทำงานตามคำสั่งของสมอง

 

นอกจากนี้ได้นำเสนอเวอร์ชั่นใหม่ของอุปกรณ์ไร้สายที่เคยถูกออกแบบให้ติดอยู่หลังหู โดยมีรูปร่างเป็นทรงกลมคล้ายเหรียญเรียกว่า "Link" (เวอร์ชั่น 0.9) ซึ่งมีช่องสัญญาณ 1,024 แชนแนล มีขนาดเพียง 23 มม. และหนาเพียง 8 มม. สามารถติดตั้งในกะโหลกศีรษะที่มีความหนา 10 มม. พร้อมมีเซนเซอร์สำหรับวัดอุณหภูมิ ความดันและการเต้นของหัวใจ จึงอาจใช้แจ้งเตือนปัญหาสุขภาพได้เช่นเดียวกับอุปกรณ์สมาร์ทอื่น แบตเตอรี่ถูกชาร์จแบบอินดั๊กชั่นให้ใช้งานเกือบหนึ่งวัน โดยสัญญาณไร้สายจะถูกส่งไปยังอุปกรณ์ภายนอกหรือสมาร์ทโฟนได้ไกลถึง 5-10 เมตร พร้อมทั้งได้นำเสนอหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้ติดตั้งอิเลคโตรดและอุปกรณ์ลงในสมองที่มีความแม่นยำมากขึ้นซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของผลิตภัณฑ์

 

ทีมงาน Neuralink ต้องพัฒนางานอีกหลายด้านโดยอาศัยบุคลากรที่มีความชำนาญในหลากสาขา อาทิ การแปลงสัญญาณ Neural Code เพื่อการสื่อสารกับสมอง ความเข้าใจการทำงานของระบบประสาทและกระแสไฟฟ้าในสมอง การสรรหาวัสดุที่ปลอดภัยทนทานต่อการใช้ภายในร่างกายมนุษย์ การพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำสูง การพัฒนาชิพที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การพัฒนา AI การพัฒนาเครื่องมือเพื่อการใช้งานของผู้ป่วย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อชีวิต และการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

 

เริ่มที่แรงบันดาลใจ

เป็นปีที่สองที่ได้เห็น Neuralink เปิดเผยเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อใช้ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้าร่วมทีมในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และผลักดันนวัตกรรมในนิยายไซไฟให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งต้องอาศัยเวลา เงินทุนและความมุ่งมั่น ตลอดจนความสามารถของเหล่านักวิจัย แพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากหลากวิชาชีพ

 

แต่ละก้าวของ Neuralink ที่อาจล้มและรุกจนกว่าจะพบความสำเร็จ จึงเป็นเรื่องราวที่ควรติดตาม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับองค์กรในการลงทุนกับวิสัยทัศน์ที่ในวันนี้อาจไม่เห็นจุดคุ้มทุน แต่ในระหว่างทางได้สร้างนักบริหารและนักประดิษฐ์คุณภาพที่ประเทศต้องการ และนิยายไซไฟเรื่องนี้อาจกำลังดึงดูดให้เกิดวิศวกร และนักวิจัยชั้นนำของประเทศเช่นกัน