พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยมายด์เซ็ท “Be Proactive”

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยมายด์เซ็ท “Be Proactive”

“The problem is not the problem. The problem is your attitude about the problem”-Captain Jack Sparrow (Pirates of the Caribbean)  

ถ้าใครเป็นแฟนภาพยนตร์ Box Office  เรื่องนี้ อาจจะจำคำกล่าวข้างต้นของกัปตันแจ๊คที่บอกเราว่า “ปัญหาของปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหา” แต่เป็นวิธีคิดหรือทัศนคติของคุณที่มีต่อปัญหานั้น ๆ ต่างหาก

นั่นหมายความว่าบนปัญหาเดียวกัน หากเรามีวิธีคิด หรือมุมมองที่ต่างกันออกไป ผลลัพธ์ หรือผลกระทบย่อมแตกต่างกัน

มองกลับมาในช่วงเวลานี้ ที่ทุกคนตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตเหมือนกัน ทุกคนรู้สึกถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถม พรั่งพรูเข้ามาในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวร้าย เรื่องที่ไม่คาดคิด การเปลี่ยนแปลงนโยบายในบริษัทที่เราทำอยู่  ธุรกิจวันนี้ ลูกค้าซื้อของยาก บัดเจ็ทไม่มี โดยตัดงบ ฯลฯ หลายอย่างกระทบกับชีวิตเรา แต่ละวันนี้เราเจอแต่สิ่งที่มันไม่ใช่ สิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็น แล้วเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าทำไมโลกใบนี้ไม่ยุติธรรมกับเรา หลายครั้งเราอาจตั้งคำถามว่า Why me? สมมุติว่าบริษัทต้องปรับลดคน หรือเงินเดือนลง 25%  เราอาจรู้สึกว่าทำไมต้องเป็นฉัน  ทำไมคนอื่นถึงไม่โดนเหมือนฉัน หรือโดนน้อยกว่าฉัน ทำไมฉันต้องเป็นผู้รับผลลัพธ์อันนี้ ทั้งที่ไม่ใช้ความผิดฉันเลย ฯลฯ

 นั่นคือเรากำลังเริ่มโทษคนอื่น เมื่อเราถูกกระทำ เราจะรู้สึกว่าคนอื่นกระทำกับเรา แล้วเราก็ชี้นิ้วไปที่คนอื่น

เมื่อเราเริ่มโทษคนอื่น แล้วมานั่งหาเหตุผลกับตัวเองต่าง ๆ นานา เวลาที่เราเป็นแบบนี้  สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังดูดพลังลบเข้าตัวเอง เรากำลังทำให้ตัวเองรู้สึกหมดพลัง ไม่มีคุณค่า เรานึกสงสารตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเราต้องการความช่วยเหลือ 

ขณะที่มนุษย์อีกหลายคนที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน จะไม่ยอมเอาตัวเองให้ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ และสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยทัศนคติ หรือกรอบการมองโลกของเขาที่มองว่าตัวเองมีพลังที่จะกระทำบางสิ่ง และสามารถควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้ 

หรือหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีน ผู้อพยพหนีความลำบากยากแค้นจากผืนแผ่นดินใหญ่ รอนแรมล่องเรือใบ เสี่ยงคลื่นลมมรสุม ใช้เวลาหลาย ๆ เดือน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนผืนแผ่นดินทองผืนนี้ ก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมปล่อยตัวให้ตกไปตามชะตากรรม หอบเสื่อ ผืนหมอนใบ ขยัน มุมานะ อดทน ก่อร่างสร้างตัวจนธุรกิจเติบใหญ่ส่งทอดมาถึงลูกหลานในทุกวันนี้ และเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตก้าวหน้าตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างในปัจจุบันนี้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นแบบ Proactive มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่วัฒนธรรมนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากบุคลากรและผู้นำองค์กรขาดคุณสมบัติของการเป็นคน Proactive

ดังนั้น Proactive จึงเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่สุดที่องค์กรส่วนใหญ่มองหาจากตัวพนักงาน โดยเฉพาะตั้งแต่ตอนรับพนักงานใหม่เข้ามา หากเป็นคนที่  Proactive  ก็จะมีความคิดริเริ่ม กล้าคิด และนำเสนออะไรใหม่ ๆ แทนที่จะต้องคอยเข็น หรือบอกให้ทำอะไรอยู่ตลอด องค์กรก็จะก้าวหน้า และมีการพัฒนา การทำงานต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นรวดเร็ว ฉับไว เพราะมีทีมงานที่คอยคิดปรับปรุง และก้าวรุกไปในเรื่องต่าง ๆ แทนที่จะรอปัญหา หรือโจทย์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงตามไปแก้ไข

เพื่อเป็นตัวอย่าง หรือไอเดียให้ผู้อ่าน “กรุงเทพธุรกิจ ได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ดิฉันขอเสนอ 4 เทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคน Proactive ดังนี้

1.เลือกและรับผิดชอบต่อการเลือกเสมอ 

มนุษย์เราไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นได้ทุกครั้ง  แต่เรามี อิสรภาพที่จะ “เลือกว่าเราจะ ตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรได้เสมอ    และด้วยเหตุนี้เองเราจึงควรมีความรับผิดชอบต่อการทางเลือกและการกระทำของเรา    ความรับผิดชอบในการกระทำที่เกิดขึ้นจากการเลือกของเราเองนี้คือคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของคน Proactive

 2.ใช้ภาษาของคนโปรแอคทีฟ

ระมัดระวังการใช้ภาษา เพราะภาษาที่เราใช้เป็นตัวสะท้อนกรอบความคิดของเราว่าเราเป็นคน Proactive  แค่ไหน   การใช้ภาษาของคน Proactive เช่น ฉันทำได้” “ฉันต้องการช่วยทำงานที่ท้าทายโครงการนี้” “ฉันเลือกที่จะร่วมมือกับคุณ จะทำให้เรามีพลังงานบวกที่สะท้อนกลับไปถึงตัวเราและบุคคลคนรอบข้าง

3.โฟกัสสิ่งที่ควบคุมได้เลิกกังวลกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

คนรีแอคทีฟ (Reactive) จะโฟกัสในสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ และพยายามมองหาข้อแก้ตัว ขณะที่คน Proactive จะโฟกัสพลังงานที่เขามีไปในสิ่งที่เขาสามารถกำหนด หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้  เทคนิคคือเราอาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆก่อนที่เราสามารถควบคุมได้ แล้วพลังบวกจากการกระทำของเราจะส่งผลให้มีแรงสนับสนุนมากขึ้นจากคนรอบข้าง

4.หยุดมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ

คน Proactive มักจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)   พวกเขาจะไม่ตกเป็นเหยื่อของอดีต สภาพแวดล้อม หรือวัฒนธรรมรอบ ๆตัว  พวกเขามีพลังอำนาจในการหยุดยั้งประสบการณ์เชิงลบด้วยตัวเอง และสามารถส่งต่อประสบการณ์ดี ๆ ไปยังผู้อื่น 

วิกฤตในครั้งนี้ หรือไม่ว่าจะครั้งไหน ๆ ทุกคนต่างได้รับผลกระทบเหมือน ๆ กัน คนที่จะแปลงวิกฤติเป็นโอกาสได้คงมีปัจจัยหลายอย่าง แต่คุณสมบัติหนึ่งที่ต้องมีเป็นจุดเริ่มต้นเลยคือการมีความคิดแบบ Proactive

...ลองถามตัวเองดูว่าในวิกฤตนี้ คุณเลือกที่จะนั่งเป็นผู้โดยสาร หรือจะเลือกอยู่ข้างหลังพวงมาลัย?

---------------------------- 

พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group [email protected]

: “Trusted Partner to Accelerate Transformation and Performance Improvement”

ผู้ที่สนใจเรียนรู้เคล็ดลับของการพัฒนาตัวเองและทีมงานให้ Proactive ด้วยหลักการของ The 7 Habits of Highly Effective People สามารถคลิกที่ http://bit.ly/2dyQalM