เทียบอำนาจของ ส.ว. 'อังกฤษ - สหรัฐ - ไทย'
สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางทางการเมืองไทยทั้งนอก-ในสภา ที่มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ
การประชุมรัฐสภาและการลงมติของ ส.ว. ทำให้เกิดคำถามของที่มาและอำนาจของวุฒิสภาไทยอีกครั้ง
แน่นอนว่าแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันทางการเมืองและสังคม แต่การเปรียบเทียบข้อดีและเสียของประเทศที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ที่ยึดถือว่าอำนาจสูงสุดนั้นมาจากประชาชนอย่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) นั้น น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับไทยได้ไม่มากก็น้อย
ที่มาของส.ว.ไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกับอังกฤษมากที่สุด คือ มาจากการแต่งตั้ง ส.ว.ของอังกฤษที่อยู่ในสภาขุนนาง (House of Lords) นั้นมีมานาน และเป็นเครื่องแสดงถึงประเพณีและชนชั้นตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้น ส.ว.จึงประกอบไปด้วยพระ ขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาล
แต่เดิม ส.ว.ของอังกฤษมีอำนาจมาก แล้วจึงมีการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น อำนาจของส.ว.จึงได้ถูกจำกัดลดลง เหลือเพียงการทักท้วงหรือทำให้กฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนนั้นช้าลงเพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดหรือเป็นการกระตุกเตือนรัฐบาลให้ยับยั้งชั่งใจอีกครั้งในการออกกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรเสีย ส.ว.ก็ไม่มีอำนาจคว่ำกฎหมายที่เสนอโดยรัฐได้
ที่มาของส.ว.ของสหรัฐที่อยู่ในสภาสูง (Senate) นั้นมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของประชาชน ในการพิจารณายับยั้งกฎหมาย หรือการรับรองบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ที่ถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี ดังนั้นหน้าที่ของส.ว. จึงเป็นการถ่วงดุลรัฐบาลและสภาผู้แทน
อำนาจของส.ว.สหรัฐจึงมีมาก เพราะระบบถูกออกแบบมาให้เป็นกลไกในการถ่วงดุลอำนาจรัฐ ที่บริหารงานโดยประธานาธิบดี และถ่วงดุลสภาผู้แทนผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอำนาจที่มากล้นของส.ว.สหรัฐนี้จะมีการปรับสมดุลใหม่เสมอ เพราะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นส.ว.สหรัฐจึงถือเป็นนักการเมืองเต็มตัวโดยส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกของสองพรรคการเมืองใหญ่ของประเทศ ทำให้มีการถ่วงดุลกันพอสมควร
ส.ว.ของไทย มีความเหมือนและต่างกับส.ว.ของสหรัฐและอังกฤษ กล่าวคือ ที่มาของส.ว.ไทยนั้นมาจากการแต่งตั้งเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่อำนาจนั้นกลับมากล้นเช่นเดียวกับส.ว.ของสหรัฐ ซึ่งโครงสร้างอำนาจและที่มานั้นก็คือประเด็นหลักที่สังคมกำลังคิดถึงความเหมาะสมและพิจารณาถึงสมดุลนี้
แต่ละประเทศมีการพัฒนาทางการเมืองที่แตกต่างก็จริง แต่ สิ่งที่ทำให้ระบบการเมืองได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ถูกปกครองผ่านกฎหมายที่ผ่านโดยสภาคือความชอบธรรม และการปกครองโดยอาศัยหลักนิติรัฐ ความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาพเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า อำนาจบทบาทของส.ว.ของอังกฤษจึงได้ถูกจำกัดลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เพราะมิได้มาจากการเลือกตั้งดังนั้นจึงมิใช่ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
สิ่งที่คนไทยควรจะเรียนรู้คือ การดึงข้อดีของที่มาและขอบเขตอำนาจของส.ว.จากทั้งสองประเทศต้นแบบประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้นี้ และเอามาปรับใช้กับบ้านเราให้เหมาะสม เปิดกว้างให้เกิดการถกเถียง รับฟังความเห็นต่าง เพราะไม่มีระบอบการเมืองการปกครองไหนที่ดีที่สุดและตายตัวเสมอไป ทุกอย่างสมควรปรับให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
เนื้อแท้ของหน้าที่ของรัฐสภาคือ สถานที่ที่ผู้แทนของประชาชนจะเข้าไปพูดจาปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาประเทศ หรือแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ให้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน
หากสภาไม่ทำหน้าที่หรือด้อยความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศแล้ว ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศผู้มีความรักในประเทศ เจ้าของอำนาจที่แท้จริงก็มักจะออกมาแสดงสิทธิแสดงความรักในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเช่นกรณีศึกษาในต่างประเทศ