SET VS VN Index

SET VS VN Index

ในฐานะที่เป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยและเวียตนาม ผมเองได้ติดตามดูผลงานของตลาดทั้งสองแห่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

             ดัชนีตลาดหุ้น  และตัวหุ้นที่จดทะเบียนในตลาด  และก็แน่นอนว่า  ก็เปรียบเทียบผลงานพอร์ตหุ้นทั้งสองของผมว่าพอร์ตไหนมีผลตอบแทนดีกว่ากันและมองด้วยว่าอนาคตพอร์ตไหนน่าจะมีโอกาสเติบโตมากกว่าด้วย  ในการเปรียบเทียบนั้น  ผมจะดูดัชนีหุ้นของทั้งสองแห่งเป็นหลัก

            ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินของเวียตนามเพิ่งจะเปิดเมื่อปี 2000 ปี  และเนื่องจากเป็นตลาดเปิดใหม่  การ “เก็งกำไร” จึงน่าจะรุนแรงมาก  ดัชนีตลาดวิ่งจาก 100 จุด ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,140 จุดหรือ 11 เท่าภายใน 7 ปีและนั่นเกิดขึ้นตอนต้นปี 2007  ซึ่งก็ถือเป็น “ฟองสบู่ลูกแรก”  ของเวียตนาม  ในช่วงเวลาเดียวกัน  ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเอง  ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุด  จากประมาณ 200 จุด  ซึ่งเป็นดัชนีต่ำสุดหลังวิกฤติปี 2540 หรือปี 1997 กลายเป็นประมาณ 910 จุดในช่วงปลายปี 2007 เหมือนกัน

            จากปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ดัชนีตลาดหุ้นทั้งไทยและเวียตนามปรับตัวขึ้นเป็นจุดสูงสุดหลังวิกฤติปี 1997  ดัชนีตลาดหุ้นทั้งสองแห่งก็ประสบกับวิกฤติปี 2008 หรือวิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในอีกประมาณ 10 ปีต่อมาหลังวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”  ดัชนีของตลาดหุ้นไทยตกลงมาต่ำสุดที่ประมาณ 400 จุดในปลายปี 2008  และตลาดหุ้นเวียตนามก็ตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 250 จุดในต้นปี 2009 เช่นเดียวกัน  การตกลงมาของตลาดหุ้นไทยนั้นคิดแล้วประมาณ 50% จากช่วงก่อนเกิดวิกฤติ แต่ถ้าคิดจากจุดสูงสุดก็ประมาณ 56%  แต่ในกรณีของเวียตนามนั้น  เนื่องจากตกลงมาจากจุดสูงสุดที่เป็น  “ฟองสบู่”  ดัชนีตลาดจึงตกลงมาแรงถึงประมาณเกือบ 80%  อย่างไรก็ตาม  การฟื้นตัวของตลาดทั้งสองแห่งก็รวดเร็วมาก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าวิกฤติครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็น  “วิกฤติเทียม”  ที่เกิดจากวิกฤติของอเมริกาและส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยและเวียตนามไม่มาก  ดังนั้น ดัชนีของทั้งสองตลาดก็ปรับตัวขึ้นแบบ “V-Shape”  คือขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ไม่กี่เดือน

          ดัชนีตลาดหุ้นไทยวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2009  จนถึงต้นปี 2018 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดใหม่  หรือ All Time High ที่ประมาณ 1,840 จุด  ในเวลาใกล้เคียงกัน  คือห่างกันแค่ 1-2 เดือน  ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามก็ทำ High ใหม่ที่ประมาณ 1,180 จุด  ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนแล้ว  ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 3.6 เท่าในเวลาประมาณ 9 ปี หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณ 17.9% ต่อปี  ในขณะที่ตลาดเวียตนามให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 3.8 เท่า หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณปีละ 18.8% ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า  ผลตอบแทนระยะยาวในช่วงหลังซับไพร์มของทั้งสองตลาดนั้นดีพอ ๆ  กันและดีเลิศ- ในประวัติศาสตร์

            และเมื่อ  “ครบรอบ 10 ปี” ของวิกฤติครั้งก่อน  วิกฤติครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง  นั่นก็คือวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2020 หรือประมาณ 12 ปีนับจากซับไพร์ม  ก่อนที่จะเกิดวิกฤตินั้น  ทั้งตลาดหุ้นไทยและเวียตนามต่างก็อยู่ในช่วงเหงาหงอย  และหุ้นที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดก็ทยอยตกลงมาประมาณ 2 ปีแล้ว  ดัชนีตลาดช่วงสิ้นปี 2019  ของหุ้นไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 1,580 จุด ในขณะที่ดัชนีหุ้นเวียตนามนั้นอยู่ที่ประมาณ 965  จุด โดยที่ดัชนีหุ้นไทยนั้นลดลงจากจุดสูงสุดประมาณ 14%  ในขณะที่ดัชนีหุ้นเวียตนามลดลงประมาณ 18%   และเมื่อเกิดโควิด-19 ตอนต้นปี 2020 พอถึงเดือนมีนาคม ดัชนีตลาดหุ้นทั้งของไทยและเวียตนามก็ตกลงมาแบบ “วิกฤติ”  ดัชนีหุ้นไทยลดลงมาต่ำสุดที่ประมาณ 1,034 จุดหรือลดลงประมาณ 35% จากสิ้นปีก่อนในขณะที่ดัชนีเวียตนามลดลงมาเหลือ 663 จุดหรือลดลงประมาณ 31% ในเวลาเดียวกัน

            ก็เป็นอย่างที่รู้กัน  ดัชนีตลาดหุ้นของไทย Rebound หรือฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วคล้าย ๆ กับจะเป็น V-Shape ภายในไม่กี่เดือน  ดัชนีขึ้นไปที่ประมาณ 1,439 จุด หรือเท่ากับการติดลบจากปลายปีก่อนแค่ประมาณ 8.9% ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีนี้  เช่นเดียวกัน  ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามก็ปรับตัวขึ้นมาเป็นประมาณ 900 จุดหรือเท่ากับติดลบประมาณแค่ 6.7% จากปลายปีก่อน  การปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นครั้งนั้นทำให้นักลงทุนต่างก็มีความหวังว่าทั้งไทยและเวียตนามคงจะผ่านเรื่องของโควิด-19 ไปอย่างดีและก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดหุ้นในสหรัฐที่ดัชนีทุกตัวต่างก็ปรับตัวขึ้นกันหมดเนื่องจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นดิจิตอลและไฮเท็คที่กำลังมีรายได้เพิ่มขึ้นมากอานิสงค์จากโควิดที่ทำลายเศรษฐกิจยุคเก่าแต่เอื้อประโยชน์แก่เศรษฐกิจยุคใหม่  การปรับตัวขึ้นของหุ้นรอบสั้น ๆ  นี้  ถ้าคิดว่าคนเริ่มเข้าตลาดในช่วงต่ำสุดของวิกฤติโควิดในตลาดหุ้นไทย  พวกเขาจะได้กำไรเฉลี่ยถึงประมาณ 39% ในเวลาแค่ 2-3 เดือน  ในตลาดหุ้นเวียตนามตัวเลขก็จะเป็นประมาณ 36% ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมตัวเลขการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นของนักลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงนี้

            แต่แล้ว  ก็เช่นเดียวกับทุกครั้งในประวัติศาสตร์  หุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปแรงมากก็ปรับตัวลงอย่าง  “ไม่คาดคิด”  ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงมาต่อเนื่องนับจากเดือนมิถุนายนจนเหลือ 1,245 จุด ในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 หรือเท่ากับว่าดัชนีลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 21% และหลายคนอาจจะกำลังกลัวว่ามันอาจจะลดลงอีกเนื่องจากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจและปัญหาหลายอย่างรวมถึงการเมืองไทยกำลังถาโถมเข้ามากระทบกับตลาดหุ้น  ตรงกันข้าม  ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามนั้น  แม้ว่าช่วงแรกจะปรับตัวลงบ้างแบบเดียวกับดัชนีหุ้นไทย  แต่ในที่สุดก็ปรับตัวขึ้นกลับมาเป็น “ขาขึ้น” ที่ 908 จุดในวันเดียวกันนี้  เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของเวียตนามถูกคาดการณ์ดีว่าจะเติบโต 3-4% ในปีนี้และทุกอย่างดูสดใส

            ข้อสรุปของผมจากการมองและวิเคราะห์ดัชนีตลาดหุ้นไทยและเวียตนามมาตลอดและโดยเฉพาะหลังจากวิกฤติซับไพร์มนั้น  ผมมีความรู้สึกว่าดัชนีตลาดทั้งสองแห่งนั้นมีความคล้ายกันมากจนแทบไม่น่าเชื่อ  ระดับและผลตอบแทนของดัชนีรวมถึงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นแทบจะตรงกัน  ความแตกต่างที่พอเห็นได้บ้างก็คือ  ผลตอบแทนของเวียตนามวัดจากดัชนีนั้นที่ผ่านมาดีกว่าของไทยเล็กน้อย  แต่ในระยะไม่กี่เดือนหลังการเกิดขึ้นของโควิด-19 ดูเหมือนว่าดัชนีหุ้นของเวียตนามจะเริ่ม “ฉีก” ออกจากตลาดหุ้นไทยนั่นก็คือ  หุ้นเวียตนามสามารถทนทานต่อวิกฤติได้ในขณะที่หุ้นไทยเองนั้นอาจจะ “ไปไม่รอด” ทั้งหมดนั้น  สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะว่า  เศรษฐกิจของเวียตนามและไทยในอดีตที่ผ่านมานั้น  มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากในแง่ที่ว่าต่างก็โตขึ้นมาด้วยการลงทุนจากต่างประเทศและอาศัยการส่งออกเป็นหลัก  ผู้คน  สังคม  จำนวนประชากรและภูมิประเทศเองก็คล้าย ๆ  กัน  เพียงแต่ว่าไทยเริ่มต้นก่อน  ดังนั้น ดัชนีตลาดหุ้นจึงสะท้อนออกมาในรูปแบบที่สอดคล้องกันมาก

            อย่างไรก็ตาม  มาจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้  บางสิ่งบางอย่างกำลังเกิดขึ้นซึ่งทำให้สองประเทศนี้อาจจะกำลัง  “แยก”  ออกจากกัน  นั่นก็คือ  คนไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิด “ปัญหา” สารพัดจนทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถโตอย่างที่เคยเป็นมาได้  ตรงกันข้าม  เวียตนามกำลังอยู่ในช่วง “Prime”  นั่นก็คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงเรื่องอายุของประชากรกำลังเอื้ออำนวยอย่างที่สุดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งไม่มีอะไรมาขวางได้รวมถึงเรื่องของโควิด-19 

             ประมาณ 5 ปีมาแล้วที่ผมเขียนบทความชื่อ  “The Next Thailand And Beyond” ซึ่งกล่าวถึงเวียตนาม  และส่วนตัวก็เริ่มไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนาม  โดยวิธีการซื้อหุ้น  “ทั้งตลาด”  เพราะผมเชื่อว่าถ้าเวียตนามเติบโต  หุ้นของผมก็จะเติบโตไปด้วย  อย่างไรก็ตาม  ผ่านไป 4 ปีครึ่ง  ดูเหมือนว่าพอร์ตหุ้นเวียตนามผมจะ  “ไม่ไปไหน” ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับเวียตนามที่ผมคิดไว้นั้น “ไม่ผิดเลย”  เพราะประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง  ดัชนีก็ปรับเพิ่มขึ้น “พอไปได้”  สิ่งที่ผิดก็อาจจะเป็นการเลือกหุ้นลงทุนที่ผมเลือกหุ้นตัวเล็กและไม่ได้เลือกเป็นรายตัว  อย่างไรก็ตาม  ตั้งแต่เริ่มโควิด-19 จนถึงปัจจุบันนั้น  พอร์ตเวียตนามของผมกลับดีขึ้นมาก  ทุกพอร์ตมีผลตอบแทนดีและเป็นบวกเมื่อเทียบกับต้นทุน  ไม่ได้เป็นผลตอบแทนที่ดีเลิศเมื่อคิดถึงระยะเวลาที่ลงไป  แต่ก็ดีพอที่จะทำให้ “ความผิดหวัง” ของผมลดลงไปมาก  ว่าที่จริง  ลึก ๆ แล้วผมกลับเริ่มมีความหวังกับตลาดหุ้นเวียตนามอีกครั้งหนึ่ง  เพราะดู ๆ แล้ว  หุ้นเวียตนามรวมถึงหุ้นที่มีศักยภาพสูงมากในตลาดยังมีราคาที่ “ถูกมาก”  ถ้าวันไหนคนเวียตนามหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมากเหมือนอย่างในตลาดหุ้นไทย  และ/หรือวันไหนที่ตลาดหุ้นเวียตนามได้รับการยอมรับจากสถาบันการลงทุนระดับโลก  ก็มีโอกาสว่าหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปได้สูงกว่านี้อีกมาก