“โซเชียลมีเดีย” กับการครอบงำ ทางการเมืองของรัฐต่างชาติ
ในขณะที่อีกเพียง 40 กว่าวันก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ความเป็นกังวลต่อการสร้างกระแสของรัฐบาลต่างชาติ
ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งในสหรัฐ ผ่านทางโซเชียลมีเดียชื่อดัง กลับมาอยู่ในโฟกัสอีกครั้งหนึ่ง
เริ่มต้นจากข้อกล่าวหาที่ได้นำมาสู่การสืบสวนและผลสรุปอย่างเป็นทางการของเอฟบีไอ และหน่วยงานอื่นๆของสหรัฐว่า รัฐบาลรัสเซียภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ได้ใช้โซเชียลมีเดีย ปั่นกระแสทางการเมืองเพื่อทำลายแคมเปญของฮิลลารีคลินตัน และช่วยสนับสนุนให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
แม้ในปัจจุบันการสืบสวนดังกล่าวจะยังคงสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อความมั่นคงในตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทรัมป์หรือทีมงาน รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของประธานาธิบดีปูตินหรือไม่
โดยบทเรียนที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ การที่โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำทางการเมืองของรัฐบาลต่างชาติจนถึงขั้นมีผลต่อการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก
และในชาติที่เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียด้วย ไม่เพียงเท่านั้นชาวอเมริกันซึ่งเป็นหนึ่งในประชากรที่มีการศึกษาสูงที่สุดในโลกก็ยังตกเป็นเหยื่อของการปั่นกระแสทางการเมื่องผ่านโซเชียลมีเดีย
กระทั่งฮิลลารีคลินตันได้ออกมายอมรับว่า การแทรกแซงทางการเมืองของรัฐต่างชาติผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของเธอ
นั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ4ปีที่แล้วแต่ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงรัสเซียอีกต่อไปที่จะสามารถแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะเอฟบีไอ ออกมาแสดงความกังวลถึงผู้เล่นรายใหม่ที่เริ่มปรากฎหลักฐานว่าอาจกำลังพยายามครอบงำทางการเมืองของสหรัฐผ่านโซเชียลมีเดียนั่นคือ ประเทศจีนซึ่งอาจมีคนละเป้าหมายกับรัสเซีย
โดยจีน ไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะคาดว่าจะสร้างผลเสียอย่างต่อเนื่องให้กับประเทศจีน และจีนยังคงสร้างกระแสให้ชาวอเมริกันนิยมชมชอบประเทศจีนและการปกครองอย่างคอมมิวนิสต์มากขึ้นอีกด้วย
ในขณะที่กลุ่มหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐได้เปิดเผยว่า รัสเซียยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี2020ซึ่งจะมีขึ้นใน 40 กว่าวันข้างหน้านี้
อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียชื่อดังของสหรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีนโยบายตอบโต้กับการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐต่างชาติ เช่น เฟซบุ๊คได้ตรวจจับความพยายามดังกล่าว โดยได้ลบเนื้อหาอย่างต่อเนื่องตามที่เฟซบุ๊คได้ชี้แจงในเว็บไซต์ของตน และตามข้อมูลของเฟซบุ๊คสหรัฐก็ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกแทรกแซง แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายเช่นกัน โดยความพยายามแทรกแซงถูกริเริ่มมาจากหลายประเทศ ซึ่งเป็นไปตามความขัดแย้งทางการเมือง หรือความแตกต่างทางแนวคิดระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆทั่วทุกมุมโลก
ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร แต่สิ่งที่สะท้อนต่อประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน คือแม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกที่เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดีย ก็ยังคงเผชิญหน้ากับภัยแห่งความมั่นคงที่เกิดจากการครอบงำทางการเมืองของรัฐบาลต่างชาติซึ่งยังไม่มีวิธีบริหารจัดการให้หมดสิ้นไปและในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการบริหารจัดการโซเชียลมีเดียที่คำนึงถึงความถูกต้องในทุกมิติ