เปิดประตูประเทศ : จ่าย 30 วัน เพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอี
สวัสดีคุณผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ เริ่มต้นเดือน ต.ค.นี้ เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่โค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ของปี 2563 แล้ว
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่กับพวกเราต่อไป แปลว่าเรายังคงต้องเฝ้าระวังเหมือนเดิม และต้องปรับตัวเพื่ออยู่ให้ได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ไม่เช่นนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งรุนแรง
ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักในประเทศไทยในระยะยาวแบบไม่จำกัดจำนวน โดยต้องเป็นนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือสเปเชียลทัวริสต์วีซ่า (เอสทีวี) ซึ่งจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศตามเงื่อนไขเท่านั้น นับเป็นเรื่องที่ดี และถือเป็นหนึ่งในข้อเสนอของภาคเอกชน เนื่องจากเป็นตัวสะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง
ที่ผ่านมาเห็นตัวอย่างจากการที่ประเทศไทยรับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศ ตัวเลขล่าสุดใกล้เคียง 100,000 คนแล้ว และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข มีการกักตัวอย่างเข้มข้นเสมือนเป็นการทดลองเปิดประเทศแบบจำกัดจำนวนแล้ว ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรที่เกินกว่าระบบสาธารณสุขไทยจะรับได้ และขณะนี้ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแสดงความประสงค์จะเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าต่างชาติมั่นใจระบบการแพทย์ของไทย
แนวทางนี้ถือเป็นการยกระดับการเดินหน้าฟื้นฟูประเทศ ควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างหนัก จะหวังแต่กำลังซื้อในประเทศคงไม่เพียงพอ จึงต้องดึงตัวช่วยสำคัญอย่างภาคการท่องเที่ยวเข้ามาร่วมเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันเดินหน้าอย่างรอบคอบ และมีมาตรการที่เข้มข้น การ์ดไม่ตกอย่างต่อเนื่อง จะเป็นอีกแนวทางสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ กระจายไปถึงระดับท้องถิ่นได้
อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ขณะนี้ภาคเอกชนรายใหญ่ของไทย เช่น เครือซีพี รวมถึงสยามแมคโคร, เซเว่นอีเลฟเว่น, เครือสหพัฒน์, กลุ่ม บมจ.ปตท., บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย,บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) และบริษัทอื่นๆ ที่จะตามมา
พร้อมดำเนินการจ่ายเงินให้ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือเครดิตเทอม ภายในระยะเวลา 30 วัน จากเดิมสามารถจ่ายได้ภายใน 60-120 วัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.2563 ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างมาก ทั้งยังเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงกับที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ให้ลูกหนี้จ่ายคู่ค้าภายในระยะเวลา 30-45 วัน
ประเด็นนี้ภาคเอกชนได้เริ่มแล้ว และที่สำคัญอยากให้ภาครัฐทุกหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใน 30 วันด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันภาครัฐบางหน่วยงานจ่ายเงินล่าช้านานเกิน 6 เดือนก็มี ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และภาครัฐไม่ควรแค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ควรมีบทลงโทษที่ชัดเจน หากหน่วยงานไหนไม่ดำเนินการตาม เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่สามารถอ้างได้ เพราะรัฐมีงบประมาณอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ประเด็นการยืดมาตรการพักชำระหนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาให้กับภาคธุรกิจต่ออีก 2 ปี จากที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค.นี้ โดยขอให้พักชำระเงินต้นไปจนถึงเดือน ธ.ค.2565 สำหรับการชำระดอกเบี้ยให้จ่ายเพียงบางส่วน โดยในช่วง 6 เดือนแรก (พ.ย.2563-เม.ย.2564) ให้จ่าย 10% ของรายเดือนที่เกิดขึ้น โดยเป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ ไม่ใช่ดอกเบี้ยประเภทผิดชำระหนี้ ส่วนที่เหลือ 90% ขอค้างไว้ก่อน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้โดยไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายหายไป ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจไทยยังต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว
เชื่อว่าหากทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนจับมือผนึกกำลังร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงใจ จริงจัง เข้มข้น ด้วยความรอบคอบ การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเร็วอย่างแน่นอน หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊คของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.facebook.com/ftichairman