ถึงเวลาหรือยัง...แจกเงินให้ ‘ประชาชนทุกคน'
การแจกเงินรายเดือนให้กับประชาชนทุกคน หรือ “Universal Basic Income” เรียกสั้นๆ ว่า UBI เป็นคอนเซปต์ ที่ไม่ได้แปลกใหม่สำหรับโลก
การแจกเงินรายเดือนให้กับประชาชนทุกคน หรือ “Universal Basic Income” เรียกสั้นๆ ว่า UBI เป็นคอนเซปต์ ที่ไม่ได้แปลกใหม่สำหรับโลก แต่มีการพูดถึงกันมาอย่างมากในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ว่าเราควรที่จะแจกเงินให้กับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่
ประวัติของการแจกรายได้ฟรีๆ ให้กับประชาชนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีนักปราชญ์อย่าง โธมัส เพนย์ ผู้ที่เขียนหนังสือ “The Age of Reason” จนไปถึงจักรพรรดิอย่างนโปเลียนเคยมีความคิดเกี่ยวกับการทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงอยู่เหมือนกัน
ในประวัติศาสตร์ไทยก็มีเขียนไว้เหมือนกันในหนังสือของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ท่านได้มีบทบาทเป็นรัฐมนตรีในรัฐสภา หนังสือที่ท่านได้เขียนไว้คือหนังสือที่มีชื่อว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือที่เขาเรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” ในเล่มนี้ในหมวดที่ 1 เงินเดือนและเบี้ยราษฎร อาจารย์ปรีดีได้เขียนไว้ว่าให้บรรดาบุคคลที่มีสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ในประเทศสยามถ้วนทุกคนได้รับเงินจากรัฐบาลหรือสหกรณ์ ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปีบริบูรณ์จนไปถึงอายุมากกว่า 45 ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้แต่อย่างใด เพราะในขณะนั้นคอนเซปต์เรื่องนี้ยังถือว่าใหม่มากๆ
การแจกเงินรายเดือนให้กับประชาชน คือการแจกเงินโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะมีงานทำหรือไม่มีงานทำ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ มาผูกมัด และแจกให้ทุกๆ เดือนเป็นเงินสด ช่วงที่ผ่านมาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มีการจ่ายเงินฉุกเฉินให้แก่ประชาชนที่ประสบกับการเลิกจ้างในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทั้งในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ รวมไปถึงประเทศไทย ที่มีโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ให้เงินจำนวน 5,000 บาทให้แก่คนรากหญ้า เป็นเวลา 3 เดือน นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีหลายๆ ประเทศ ต่างแจกเงินให้ประชาชนมากมายขนาดนี้
คอนเซปต์นี้ก็เลยกลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีกันแน่ ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้มีคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่างมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก และอีลอน มัสค์ ก็ออกมาให้การสนับสนุนว่าควรเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยให้มันแคบลง สามารถที่จะมีรายได้มอบให้คนที่ถูกออกจากงานเพราะการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ สามารถช่วยให้คนมีรายได้เพิ่มเติมเพื่อไปก่อตั้งธุรกิจ หรือ แม้กระทั่งมีเงินเพิ่มเพื่อไปไล่ล่าสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันที่จะทำ
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยเสมอไป นักวิจารณ์บางคนมองว่าการแจกจ่ายเงินให้กับประชาชนทุกคนนั้นจะกลายเป็นตัวการสำคัญให้คนขี้เกียจมากขึ้น เนื่องจากว่าพวกเขารู้อยู่แล้วว่าเดือนต่อๆ ไป ก็จะมีรายได้เข้ามาโดยที่ไม่ต้องทำงาน หรือที่เราเรียกกันว่า Passive Income บางคนก็มองว่าการที่เราแจกจ่ายเงินให้ประชาชนทุกคน คนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ก็ไม่ควรได้เงินตรงนี้ เพราะพวกเขารวยอยู่แล้ว และจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงเท่าเดิม
แต่ประเด็นสำคัญที่สุดเลยคือว่า แล้วรัฐจะเอาเงินตรงนี้มาจ่ายจากไหน? เช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลควรให้เงินประชาชนแต่ละคนอย่างน้อย 650 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนรากหญ้า ซึ่งถ้าจำนวนเงินเยอะขนาดนี้ ประเทศอย่างสหรัฐต้องจ่ายเงินสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อครอบคลุมประชาชนทุกคนในสหรัฐ ส่วนในบ้านเราถ้าเราต้องจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำของแต่ละคนเดือนละ 5,000 บาท รัฐบาลต้องจ่ายเงินสูงถึง 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ที่ผ่านมาในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รัฐบาลได้จ่ายเงินไปให้ทั้งหมด 15.3 ล้านคน นับเป็นประมาณ 25% ของคนทั้งประเทศก็ 76,500 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินที่สูงมากกับการจ่ายเงินให้ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอย
มีนักวิชาการหลายๆ ท่านเห็นด้วยกับไอเดียนี้เป็นอย่างมาก ทั้งนักเขียนอย่าง ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 เขาได้ยกตัวอย่างถึงนักบุญชาวยิวในอิสราเอลบ้านเกิดของเขาที่ทางรัฐบาลของอิสราเอลได้จ่ายเงินบางส่วนเพื่อการเป็นอยู่ของพวกเขา ซึ่งผลสำรวจพบว่านักบุญเหล่านี้มีความสุขและมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าทุกชนชั้นในอิสราเอล
นักวิชาการอีกคนกลับไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้คือจอร์แดน ปีเตอร์สัน ผู้ที่เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต เขาออกความเห็นว่าการมีเงินน้อยไม่ใช่เรื่องที่ควรแก้ แต่เรื่องที่ควรแก้คือการมีการศึกษาที่ให้กับประชาชนทุกคนได้เข้าถึง เพื่อที่คนเหล่านั้นจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อตนเอง เพราะเขามองว่าคนจนที่ได้เงินเหล่านี้ไปไม่ได้เอาเงินไปใช้ในสิ่งที่เราอยากให้พวกเขาไปใช้ เช่น การศึกษาหรือยารักษาโรค เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
เมื่อตอนปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศฟินแลนด์ได้ทำวิจัยโดยแจกเงินให้กับคนตกงาน 2,000 คน เดือนละ 560 ยูโรต่อเดือน เป็นเวลา 2 ปี เช่นเดียวกันกับที่อิตาลีที่เมืองลิวอร์โน และในเมืองเล็กๆ ในรัฐออนตาริโอในแคนาดา และที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐ ก็ได้จัดตั้งโครงการที่มีชื่อว่า “Basic Income Lab” เพื่อดูว่าการให้เงินแบบไหนเหมาะสมที่สุด ใครเป็นคนสมควรได้รับเงินและเงินก้อนนี้สามารถเอาไปจับจ่ายใช้สอยอย่างไรได้บ้างจึงจะพอเหมาะสม
ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะเห็นบางประเทศได้ออกนโยบาย UBI เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นกว่านี้ครับ