ผู้นำเก่ง ดูจากอะไร? (ตอน คนไทยเก่ง แต่.. )

ผู้นำเก่ง ดูจากอะไร?  (ตอน คนไทยเก่ง แต่..  )

ขอร่วมแชร์ความฝันของบริษัทว่า เราอยากเป็นมากกว่าบริษัทฝึกอบรม เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพาผู้นำองค์กรไทยไปสู่เวทีสากล

เมื่อวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ตอน 8 โมงเช้า ดิฉันมีนัดทานอาหารเช้ากับผู้บริหารรุ่นใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านถามถึงสถานการณ์บริษัทในช่วงโควิด และทิศทางของบริษัทหลังจากนี้

 

ดิฉันเลยถือโอกาสแชร์ความฝันของบริษัทว่า เราอยากเป็นมากกว่าบริษัทฝึกอบรม เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพาผู้นำองค์กรไทยไปสู่เวทีสากล

 

หลังจากที่เล่าความฝันให้ท่านฟังซะยาวเหยียด ท่านยิ้มมุมปากและตอบมายาวไม่แพ้เรื่องเล่าของดิฉัน

 

“เป็นความฝันที่ดีมากนะ แต่…..”

 

“วันนี้มีคนไทยคนไหนบ้างที่พาองค์กรให้สำเร็จระดับโลก?

 

“เอาอย่างคุณเอนะ คนนี้ถ้ารู้จักจริง ๆ เขาไม่ได้เก่ง แต่มีคนสนับสนุนดี?

 

“คุณบี คนนี้ไปสืบประวัติ จะมีคำถามเยอะ?

 

“คุณซี ที่สำเร็จทุกวันนี้เพราะตระกูลมีทรัพย์สินเยอะ?

 

“คุณดี สำเร็จนะแต่ชีวิตเขาก็ไม่ได้มีความสุข ลูกหลานก็ไม่อยากทำธุรกิจต่อ?

 

“คุณอี แม้วันนี้ดูสำเร็จแต่ของแบบนี้ต้องดูกันยาว ๆ ว่ามันจะยั่งยืนไหม?

 

“ผมเชื่อนะว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่

 

“ถ้าให้คนไทยมาสอนกันเอง มันไม่อิน เวลาเรียนกับฝรั่ง มันดูน่าเชื่อถือกว่า”

 

ท่านผู้อ่านคะ อะไรคือเหตุผลที่คนไทยไม่เชื่อมั่นในคนไทยด้วยกันเอง???

 

บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ทำการสำรวจสุขภาพการนำองค์กรของผู้นำองค์กรไทย (LeadershipACT) จากผู้ตอบแบบประเมิน 9,120 คน ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบคุณลักษณะที่ได้คะแนนน้อยที่สุดของคนไทยคือ นักผนึกพลัง (Synergistic Winer) นั่นคือเรายังมีช่องว่างในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง หลอมรวมทีม กระจายงานและกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้กับทีม รวมทั้งสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีกับบุคลากรภายในและผู้มีส่วนได้เสียภายนอกเพื่อผลลัพธ์ร่วมกัน

 

แม้วันนี้องค์กรไทยหลายองค์กรจะเป็นที่รวมของคนเก่ง แต่การพาองค์กรไทยไปแข่งขันในเวทีโลกนั้น เราไม่ได้ต้องการมีเพียงคนที่เก่งที่สุดในโลก แต่เราต้องการมีทีมที่เก่งที่สุดในโลก

ใครจะเป็นคนที่สร้างทีมที่เก่งที่สุดในโลก ถ้าไม่ใช่ผู้นำทีมที่เริ่มจากทัศนคติ ความภูมิใจและความเชื่อในศักยภาพของทีมไทยของเราก่อน จริงใจที่จะหลอมรวมความเก่งของคนเก่งให้กลายเป็นทีมที่แกร่ง

เพราะการดำเนินธุรกิจในวันนี้ วันที่โอกาสมาสู่ภูมิภาคเอเชีย 1 + 1 จึงไม่ใช่เท่ากับ 2 หรือ 3 แต่ 1 + 1 เท่ากับ 11 หรือ 111