แฟชั่น เสื้อผ้า กับสิ่งแวดล้อม
ในระยะที่ผ่านมาคนไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการรักษาดูแลสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
อย่างไรก็ดีประเด็นหนึ่งที่เราอาจจะมองข้ามและละเลย แต่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยคือ เรื่องพฤติกรรมในการซื้อและใช้เสื้อผ้าของแต่ละคน เรื่องของเสื้อผ้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองข้ามหรือไม่ได้ตระหนักถึงมาก่อน ทราบหรือไม่ว่าประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณของเสียในโลกนี้มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและเสื้อผ้า
นอกจากปริมาณของเสีย (Waste) ที่เกิดจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งแล้ว การผลิตเสื้อผ้าก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตั้งแต่เรื่องของปริมาณน้ำที่ต้องใช้และน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมถึงผลกระทบจากสีย้อมผ้าที่ส่งผลต่อมลพิษทางน้ำ นอกจากนี้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ทั้งไนลอนหรือโพลิเอสเตอร์ ก็ส่งผลต่อการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วย
จริงๆ แล้วของเสียจากกระบวนการผลิตสิ่งทอและจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกใบนี้ เพียงแต่ในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจแฟชั่นและเสื้อผ้ามีการเติบโตมากขึ้นอย่างมากมาย ขณะเดียวกันพฤติกรรมในการซื้อและใช้ เสื้อผ้าของคนก็เปลี่ยนไป การถือกำเนิดของธุรกิจที่เรียกว่าเป็น Fast Fashion ทำให้มีเสื้อผ้าที่สวยงาม ทันสมัยออกมาอย่างรวดเร็วและในปริมาณที่มาก ในอดีตนั้นธุรกิจแฟชั่นและเสื้อผ้าจะอิงกับฤดูกาลต่างๆ เพียงไม่กี่ฤดู (เช่นเสื้อผ้าหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว) แต่การเติบโตของแบรนด์ Fast Fashion ต่างๆ ทำให้ในปีๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยน Collection ของเสื้อผ้าได้ถึง 10 ฤดูกาลกันเลยทีเดียว ยังไม่นับการซื้อเสื้อผ้าตามบรรดา Influencers ในโลกสังคมออนไลน์อีกด้วย
นอกจากแบรนด์หลักๆ แล้ว การขายและซื้อเสื้อผ้าผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (อย่างเช่น Instagram) ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นำไปสู่การผลิตและบริโภคเสื้อผ้าและแฟชั่นที่มากมายเกินกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
พฤติกรรมในการซื้อ การสวมใส่ และ การทิ้งเสื้อผ้าของคนได้เปลี่ยนไปจากอดีต ตัวเลขจาก WEF แสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะ 15 ปีที่ผ่านมาระยะเวลาที่เสื้อผ้าอยู่กับเรา (ตั้งแต่ซื้อมาจนกระทั่งทิ้ง) ลดลง 40% แสดงให้เห็นว่าการหมุนเวียนของเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้านั้นเร็วขึ้น นั้นคือเข้ามาและทิ้งไปเร็วกว่าในอดีต นอกจากนั้นยังมีตัวเลขอีกว่าผู้บริโภคโดยเฉลี่ยแล้วจะทิ้งเสื้อผ้าที่ซื้อมาภายในปีแรกถึง 60% (ซื้อเสื้อมา 10 ตัว และทิ้งไปถึง 6 ตัวภายในปีแรก) ทั้งนี้เนื่องจากการซื้อเสื้อผ้าใหม่เป็นไปด้วยความง่ายข้ึนและมีดีไซน์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง (ทั้งแบรนด์ Fast Fashion และผ่านสื่อสังคมออนไลน์)
เสื้อผ้าที่ทิ้งไปทั้งหมด 73% จะถูกเผาหรือฝัง ขณะที่มีเพียง 12% ที่มีการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Recycle) เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ และน้อยกว่า 1% ที่มีการนำกลับมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่อีกครั้ง คาดกันว่าในปีนี้ จะมีปริมาณเสื้อผ้าถึง 18.6 ล้านตันที่สุดท้ายจะต้องถูกฝังกลบไว้
ปัจจุบันปัญหาต่างๆ ข้างต้นเป็นที่รับรู้และตระหนักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น บางประเทศเริ่มมีดำริที่จะเก็บภาษีแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ เพื่อนำเงินดังกล่าวมาดูแลของเสียที่เกิดขึ้นจากเสื้อผ้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ Fast Fashion ก็พยายามออกกิจกรรม เพื่อลดการทิ้งเสื้อผ้าและกระตุ้นให้นำเสื้อผ้าที่จะทิ้งกลับมา Recycle ใหม่ และเริ่มมีธุรกิจใหม่ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นและพยายามจะ Disrupt ธุรกิจแฟชั่นและเสื้อผ้า ทั้งการเช่าชุดและเสื้อผ้าอย่าง Rent the Runway หรือ การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการขายและแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้อย่างเช่น RealReal หรือ Depop
อีกทั้งยังมีบางแบรนด์ที่เริ่มจับกระแส Slow Fashion แทน นั้นคือเป็นแบรนด์ที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบางแบรนด์ที่นำเอาแนวคิด Circular Economy มาใช้ คือนำเสื้อผ้าเก่ามาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าใหม่ๆ
สุดท้ายแล้วยังไงก็ต้องกลับมาสู่ผู้บริโภคเองที่จะตระหนักถึงผลกระทบของเสื้อผ้าต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกนี้ และจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อ ใช้ และทิ้งเสื้อผ้าเสียใหม่