โลกหลังโรคร้ายโควิด-19
เทคโนโลยีร่วมสมัยมักเอื้อให้ทำอะไรๆ ได้เร็วขึ้นรวมทั้งการเขียนหนังสือ ณ วันนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19
ซึ่งเริ่มเมื่อต้นปีจะจบลงอย่างไรและเมื่อไร แต่เริ่มมีหนังสือที่เสนอว่าชาวโลกควรทำอะไรอย่างไรพิมพ์ออกมาแล้วเมื่อต้นเดือนนี้ ผู้มีความรอบรู้หลายด้าน ฟารีด ซาคาเรีย ได้พิมพ์หนังสือขนาด 320 หน้าออกมาชื่อ Ten Lessons for a Post-Pandemic World และนำข้อคิดในหนังสือเล่มนี้ไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ รวมทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร
เขาเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า การระบาดของเชื้อโรคร้ายครั้งนี้เป็นการแก้แค้นของธรรมชาติซึ่งถูกมนุษย์ทำลายอย่างต่อเนื่อง กระบวนการทำลายทำไปในนามของการพัฒนาซึ่งเกิดขึ้นในอัตราเร่งเมื่อจำนวนคนบนโลกเพิ่มขึ้นและแต่ละคนมีชีวิตยืนยาวขึ้น พร้อมกับใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของตนมากขึ้น เขาอ้างถึงข้อมูลที่บ่งว่า 75% ของพื้นดินได้ถูกมนุษย์เราทำให้เสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญ ทุกๆ นาที ผิวโลกจึงกลายเป็นทะเลทรายไปกว่า 150 ไร่ ทางด้านน้ำ ราว 66% ของระบบนิเวศทางทะเลตกอยู่ในภาวะเสื่อมลงเช่นกัน ส่วนด้านอากาศ ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นมากส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งยืดเยื้ออย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดไฟป่าร้ายแรงอย่างแพร่หลาย
โดยทั่วไป ฝรั่งทางโลกตะวันตกจะไม่มองปรากฏการณ์เช่นในปัจจุบันว่าเป็นการแก้แค้นของธรรมชาติซึ่งแยกคร่าวๆ เป็นธาตุ 4 การที่ นายซาคาเรีย ยกแนวคิดนั้นขึ้นมาเป็นฐานของการวิเคราะห์ คงเพราะเขามีภูมิหลังจากโลกตะวันออก กล่าวคือ พ่อแม่เป็นชาวอินเดีย เขาเติบโตในเมืองมุมไบก่อนที่จะไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐและปักหลักอยู่ที่นั่นหลังเรียนจบ บนฐานของการคิดแบบชาวโลกตะวันออก ย้อนไป 12 ปี พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร กับผม ได้รวมรวมเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์เราทำลายโลกอย่างไรและนำมาเสนอไว้ในหนังสือชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)
หลังเวลาผ่านไป 12 ปี ชาวโลกมีความตระหนักมากขึ้นว่า กิจกรรมของเรามักทำลายธาตุทั้ง 4 ที่เป็นฐานของชีวิต แต่มนุษย์โดยทั่วไปยังแทบไม่ได้ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้การทำลายนั้นยุติ จำนวนประชากรโลกยังเพิ่มขึ้น อายุยังยืนยาวขึ้นและการใช้ทรัพยากรของแต่ละคนยังเพิ่มขึ้น ร้ายยิ่งกว่านั้น ชนชั้นผู้นำจำนวนหนึ่งยังไม่เชื่อด้วยซ้ำว่า การกระทำของเราทำให้ธรรมชาติเสียหายร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงพยายามยกเลิกมาตรการต่างๆ ทางด้านลดการทำลายระบบนิเวศ
นายซาคาเรีย เสนอว่า เราต้องคิดกันใหม่ว่าจะอยู่กันอย่างไรหลังจากการระบาดของโรคร้ายครั้งนี้ผ่านไปแล้ว แต่ข้อเสนอของเขาไม่มีอะไรที่มองได้ว่าเป็นการคิดใหม่อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะมันวางอยู่หลัก 2 ประการ นั่นคือ ประเมินความเสี่ยงให้ดีและเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงจำพวกการระบาดของไวรัสดังในปัจจุบัน ผมไม่แปลกใจเพราะตามแวดวงต่างๆ ในสังคมตะวันตก ผู้รอบรู้ทั้งหลายยังไม่เปลี่ยนความคิดพื้นฐานเรื่องการใช้ทรัพยากร ซึ่งมิได้วางอยู่บนฐานของความจำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิต หากวางอยู่บนฐานของความต้องการที่ไม่มีจุดจำกัด หรือตัณหา
คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2554 อ้างถึง เจฟฟรี แซคส์ ว่าเป็นนักวิชาการอเมริกันชั้นแนวหน้าคนเดียวที่มองเห็นจุดบอดของแนวคิดพื้นฐานเรื่องการใช้ทรัพยากรแบบไม่มีที่สิ้นสุด เขาเสนอทางออกไว้ในหนังสือเรื่อง The Price of Civilization ซึ่งพิมพ์เมื่อต้นปี 2554 เขาอิงทางสายกลางเช่นเดียวแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
เท่าที่ผมทราบ ข้อเสนอของเขาไม่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง หรือมีใครนำไปต่อยอด ส่วนแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับมากกว่า ฝรั่งคนหนึ่งถึงกับตั้งชื่อหนังสือของตนว่า Sufficiency Economy ทั้งที่เนื้อหาแทบไม่มีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (ผมอธิบายว่าเพราะอะไรไว้ในหนังสือเรื่อง “ฝากภูมิปัญญาชาติไทยไว้กับครู” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com เช่นกัน) ชาวโลกจะเสนออะไรต่อจากนี้ไปเราคงคาดเดาได้ยาก สำหรับผมคำตอบมีอยู่แล้วในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง