รับยุคแห่งความพลิกผันด้วยวิธีคิด
ในโลกแห่งความผันผวนอันมีลักษณะของการลื่นไหล ฟุ้งกระจาย ไม่แน่นอน ซับซ้อนและกำกวม บุคคลจำเป็นต้องมีวิธีคิดในบางลักษณะ
วิธีคิดในบางลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไปและอยู่อย่างมีความสุขตามสมควร mental toolkits (วิธีคิดหรือเครื่องมือช่วยทางจิตใจ) และการมี mindset (“แว่นตา” ความคิด) ที่สร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
“ที่เราถูกโกงก็เพราะชาติที่แล้วเราเคยโกงเขามา” “เราเกิดมามีปัญหาก็เพราะชาติที่แล้วมีเวรกรรมที่ติดตัวมา” “เขาทำบุญมาเพียงแค่นี้” “ทำบุญทำทานแล้วจะสบายชาติหน้า” เหล่านี้คือตัวอย่างของ toolkits จะจริงหรือไม่เราไม่มีทางรู้ แต่มันทำให้เรา “ทำใจ” ได้ ไม่รุ่มร้อนและมีความสุขตามอัตภาพ
“อะไรจะเกิดมันต้องเกิด” “whatever will be, will be” เป็นอีกสอง “เครื่องมือ" ที่ช่วยในทางจิตใจยามเมื่อประสบสิ่งไม่พึงปรารถนา หรือไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
Mindset คือกรอบความคิดหรือ “แว่นตา” ที่คน ๆ หนึ่งมองเห็นหรือเข้าใจโลก คนที่มีความคิดในทางบวกก็เรียกได้ว่ามี mindset ที่สร้างสรรค์ กล่าวคือมีการปรับความคิดและการกระทำเพื่อตอบรับในทางที่เป็นบวกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นเห็นว่าการไม่มีงานทำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและแก้ไขอะไรไม่ได้ สิ่งสำคัญคือจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น การปรับทักษะและ ปรับการดำรงชีวิต (ใครจะไปรู้อาจพบสิ่งที่ดีกว่าหรือได้งานใหม่ที่ดีกว่าเก่าก็เป็นได้) สำหรับคนที่มี mindset ไม่สร้างสรรค์ก็จะตีโพยตีพายด่าว่าคนอื่น นอนเสียใจในวาสนาของตนเอง มองเห็นความผิดอยู่ที่คนอื่นหมดโดยมิได้มองตนเอง
นอกจากจะต้องมี mental toolkits และ mindset ที่สร้างสรรค์แล้ว ยังมีข้อสามคือต้องมีการยอมรับความจริงของชีวิตบางประการจึงจะอยู่ในยุคแห่งความพลิกผันได้ ซึ่งได้เเก่ (ก) “life goes on” ชีวิตมันดำเนินต่อไปเสมอไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม วันที่ในปฏิทินก็เดินไปข้างหน้า ผู้คนทำมาหากินใช้ชีวิตกันต่อไป เด็กก็โตขึ้นมาแทนผู้ใหญ่ ทุกคนแก่ขึ้นทุกวันไม่มีข้อยกเว้น ทุกอย่างเสื่อมไปตามวันเวลาไม่ว่าร่างกาย หรืออาคารบ้านช่อง สิ่งมีชีวิตเติบโตและดับไปตามวันเวลา ดังนั้น ความพลิกผันด้านลบที่เกิดขึ้นกับเรามันเป็นเรื่องธรรมดา มิได้มีอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเรารับว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ มันก็จะเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราคิดว่ามันไม่เป็นปัญหา มันก็ไม่เป็นปัญหา ทุกอย่างอยู่ที่ใจ วิธีคิดเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงของการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน คนอื่นก็มีการพลัดพรากจากไปของคนที่เขารักเหมือนกันทั้งโลก ต้องมีความทุกข์ด้วยกันทุกคนและชีวิตเดินต่อไปหมือนกันหมด
(ข) “life is random” (ชีวิตคือการถูกสุ่มเลือก) สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตโยงใยกับสถิติทั้งสิ้น นับตั้งแต่เกิดมาก็มีสถิติมาเกี่ยวข้องแล้ว เช่น มีความเป็นไปได้ที่เด็กบางคนที่เกิดมาจะเป็นโรคหรือพิการ มีความผิดปกติของร่างกาย ฯลฯ การที่เกิดมาเป็นเด็กที่สมบูรณ์ก็คือส่วนของสถิติที่ไม่ถูกสุ่มเลือก(ผิดปกติแรกเกิด ประมาณกว่า 5.3ต่อประชากร 100,000คน) เมื่อเติบโตขึ้นมาจนเป็นผู้ใหญ่ได้ก็นับว่ารอดจากการเป็นหนึ่งในสถิติของการป่วยเป็นโรคต่าง ๆ จนเสียชีวิต และรอดชีวิตจากอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุวันละ 456 ราย ; ตาย 6 บาดเจ็บ 450) หรือเภทภัยอื่น ๆ (ผู้สูงอายุทุกคนจึงเป็นคนไม่ธรรมดาเพราะถ้าไม่แน่จริงตายไปนานแล้ว) การประสบสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาจึงเป็นผลของการเป็นส่วนประกอบของสถิติในเรื่องนั้น ๆ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีคนประสบสิ่งนั้น ๆ ตามสถิติอยู่แล้ว เช่น ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ การเข้าใจเช่นนี้จะช่วยให้ความทุกข์เจ็บปวดลดลงไปบ้าง และต่อไปต้องพยายามทำตนไม่ให้เป็นผู้ถูก “สุ่มเลือก”
(4) การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม การประสบความพลิกผันจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎสำคัญข้อนี้ ทุกคนต้องประสบสภาวการณ์เช่นนี้เหมือนกันหมด ไม่มีใตรได้รับการยกเว้น ประเด็นสำคัญก็คือก่อนที่เราจะประสบกับสิ่งที่เป็นลบนี้ เราได้เตรียมตัวไว้อย่างไรและเรามีปฏิกิริยาต่อมันอย่างไร การถอดบทเรียนของชีวิตตนเองไว้ก่อนเป็นอย่างดีจะช่วยให้เกิดผลเสียจากความพลิกผันในอนาคตน้อยลงได้
(5) คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ (human values) เป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ต่อสู้กับความพลิกผันของชีวิตได้อย่างดียิ่ง ความดี จริยธรรม กตัญญูกตเวทิตา ความถ่อมตน การให้เกียรติและเคารพคนอื่น ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง ความจริงใจ ฯลฯ เป็น human values ของทุกสังคมที่จะทำให้สมาชิกสามารถฝ่าฟันความยากลำบากไปได้ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมอย่างประสบความสำเร็จ
(6) ความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น มนุษย์ทุกคนบ่มเพาะและสะสมความสามารถในเรื่องนี้ข้ามเวลาอย่างยาวนานโดยไม่รู้ตัว human value ข้างต้นเป็นตัวสนับสนุนความสามารถดังกล่าว แต่มี 2 สิ่งที่โดดเด่นในการสร้างความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น นั่นก็คือ empathy (ความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) ซึ่งไม่ใช่sympathy ซึ่งคือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คนที่มี empathy จะเข้าใจว่าคนที่ตกงาน คนสูญเสียพ่อแม่ ลูกหรือคู่ชีวิต นั้นมีความรู้สึกอย่างไร คนหลายคนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ไม่สามารถเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นมีความรู้สึกอย่างไร
อีกสิ่งหนึ่งได้แก่ compassion (ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมีเมตตา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ human values ที่ใช้สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี คนที่รถถูกปาดหน้าอย่างน่าโมโห หากมี compassion แล้วก็จะไม่เร่งรถไปปาดหน้าสู้จนอาจเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้เพราะคิดว่าเขาน่าจะมีเหตุผลในการรีบร้อนเช่นนั้น เขาอาจกำลังจะตกเครื่องบิน หรือมีนัดสำคัญกับแพทย์ หรือรีบไปดูพ่อแม่ที่เกิดเจ็บป่วยขึ้น ฯลฯ ไม่ว่าสิ่งที่คิดจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตามที มันก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และชีวิตมีปัญหาน้อยลง
ยุคของความพลิกผันเกิดจาก (1) การปฏิวัติความรู้หลากหลายสาขาอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะในด้านคอมพิวเตอร์ และด้านโทรคมนาคม (ผสมผสานกันจนเกิดเป็น IT ขึ้น) (2) โลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเชื่อมต่อถึงกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและอิทธิพลความคิด การเป็น “หมู่บ้านโลก” (global village) การยอมรับวัตรปฏิบัติในภาคเอกชนมาใช้ในภาครัฐ (การแข่งขันในการเลือกสรรผู้ดำรงตำแหน่ง การรับจ้างเหมาต่อ การแปรรูปองค์กรของภาครัฐ ฯลฯ) (3) เทคโนโลยีป่วนโลก (technology disruptions) อันเป็นผลพวงจากการต่อยอดของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคทศวรรษก่อนหน้า ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน นโยบายของภาครัฐ การเมือง สังคม ธุรกิจ ฯลฯ อย่างมากมาย
ความพลิกผันซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นนั้น เรามีอิทธิพลต่อการเกิดของมันได้น้อยและไม่อาจทำอะไรกับมันได้มากนัก แต่ปฏิกิริยาโต้ตอบกับความพลิกผันนั้นเราสามารถทำได้อย่างเสรีและมีประสิทธิภาพด้วยวิธีคิด