ประเทศไทย (ยืนเฉยๆ ไม่ได้แล้ว)

ประเทศไทย (ยืนเฉยๆ  ไม่ได้แล้ว)

การสร้างประเทศนั้น หาใช่การใช้อิฐใช้ปูน คนต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไร คนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประเทศเสมอ

แม้ว่าประเทศจะทรัพยากรที่น้อยมาก  แต่ถ้าประเทศมีคนที่มีคุณภาพ หรือดึงดูดคนที่มีคุณภาพจากทั่วโลกเข้ามาอยู่ได้ ก็จะทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างที่เด่นชัดเรื่องนี้ ก็คือประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรมากมาย มีเพียงคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ  เน้นขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต  และพัฒนาทักษะ  SkillsFuture  ให้กับคนในประเทศตัวเอง พร้อมๆกับพยายามสร้างแรงจูงใจ ดึงดูดคนที่มีคุณภาพ หรือกลุ่ม Talent จากทั่วโลกให้ย้ายเข้ามาอยู่และทำงานในประเทศสิงคโปร์

ส่วนประเทศไทยที่ผ่านมา เราดึงดูดคนเข้าประเทศในลักษณะนักท่องเที่ยว ซึ่งมาแบบระยะสั้น  ประเทศไทยได้พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในระดับที่สูสีกันกับปริมาณการส่งออกสินค้าสุทธิ   การท่องเที่ยวถือเป็นภาคบริการซึ่งถือเป็นร่มใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยมากกว่า 38 ล้านคน   รายได้จากการท่องเที่ยวไทยทะยานสูงขึ้นติดอันดับ 4 ของโลก  

เราได้เคยเขียนบทความ “คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return” (https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647190) ชี้ว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด    ก็มีความอันตรายและควรพึงระวังในแง่ที่ว่า การท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอนที่สูงกว่าภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอย่างยิ่งยวด    ที่ผ่านมาไทยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีจำนวนประชากรมาก การเติบโตแบบก้าวกระโดดของการท่องเที่ยวเป็นดาบสองคมก็ได้   ในยามที่นักท่องเที่ยวล้นทะลักจนเกินระดับที่ทรัพยากรธรรมชาติจะรองรับไหว  เหรียญอีกด้านที่มาควบคู่กับโอกาส นั่นก็คือ ความเสี่ยง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นความเสี่ยงที่หากละเลยจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง รวดเร็ว ชนิดที่ว่าอาจทำให้ธุรกิจล้มละลายภายในเวลาไม่กี่วันกี่เดือนก็ได้

 ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 เช่นนี้ทำให้ประเทศไทยต้องทบทวนว่า เราพึ่งพาตลาดการท่องเที่ยวแบบเดียวมากเกินไปใช่หรือไม่  เราพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเพียงไม่กี่วันมากเกินไป ที่ผ่านมาเราจะมีคนมาเที่ยวเมืองไทยหลายสิบล้านคน แต่พอมีเหตุการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้คนปริมาณมากเหล่านั้นเดินทางมาไม่ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจเราหยุดชะงักไปเลย

หากเรากลับมาพิจารณาประเทศเราดีๆ เราจะพบว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตด้วย  เรากำลังพูดถึงปัจจัยสี่ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนเรา 4 อย่าง ก็คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม เมื่อเรามองปัจจัยสี่แล้ว เราจะพบว่า ไทยเราล้วนมีจุดแข็ง จุดเด่นในปัจจัยสี่ อย่างน้อยก็ 3 ใน 4 ปัจจัยเลยทีเดียว

  • เรื่องอาหาร เรามีอาหารที่หลากหลาย อาหารไทยมีชื่อเสียงที่ดีอยู่ในระดับโลก นอกจากนี้เรายังโดดเด่นเรื่อง High Touch และมีทักษะด้านอาหารอย่างมาก
  • เรื่องที่อยู่อาศัย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม มีอากาศดี มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม ทั้งทางทะเล ป่าเขา คนก็อัธยาศัยดี คนไทยน่ารักและใจดีในสายตาชาวต่างชาติ ดังนั้น คนจึงอยากมาทำงานที่เมืองไทย เพราะเสมือนได้พาครอบครัวมาพักผ่อน
  • เรื่องยารักษาโรค ประเทศไทยเราก็มีสมุนไพร ยารักษาโรค การแพทย์ที่ดีทั้งการแพทย์หลัก จากวิกฤตการณ์โควิดที่แพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศไทยทำให้ทั่วโลกเห็นศักยภาพทางการแพทย์ การป้องกันควบคุมโรค ตลอดจนพลังที่เข้มแข็งของ อสม. การมีส่วนร่วมในภาคส่วนต่างๆ  นอกจากนี้ เรายังมีการแพทย์แผนไทย การบริหารจัดการในเรื่อง Hospitality ก็ดี มีโรงพยาบาลในระดับโลก

ประเทศไทยเราเองมีจุดเด่นซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเช่นนี้แล้ว เราจะพัฒนาอย่างไรจากขีดความสามารถนี้อย่างไร เราอาจต้องเปลี่ยนมุมมอง เช่น แทนที่จะพึ่งพากลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ลองคิดดูหากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละ 38 ล้านคน อยู่เที่ยวเฉลี่ย 9 วัน คิดเป็น 342 ล้านคน-วัน แต่หากเราดึงดูดชาวต่างชาติที่มาพำนักในไทยหรือ EXPAT ซึ่งพักอาศัยทำงานในประเทศไทยด้วยระยะยาวกว่า จากเดิมที่  CBRE ประมาณการว่ามี 160,000 คน อยู่ตลอดปี 365 วัน หรือ 58.4 ล้านคน-วัน  หากประเทศไทยตั้งเป้าให้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายนี้เป็น 1 ล้านคน ก็ทำให้เรามีส่วนเพิ่มขึ้นถึง 306 ล้านคน-วัน เลยทีเดียว ซึ่งกลุ่ม EXPAT นี้มีกำลังซื้อสูงกว่า  

ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปนั้นมีค่าใช้จ่ายปกติเฉลี่ยแค่ห้าพันกว่าบาทต่อวัน  แน่นอนว่าถ้าเป็นกลุ่มคนที่พักอาศัยและทำงานระยะยาวย่อมมีการใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูงกว่า และมีแนวโน้มจะพาครอบครัวมาพักอาศัยด้วย ซึ่งหมายถึงการใช้บริการโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล สถานที่ท่องเที่ยว การบริโภคจับจ่ายใช้สอยย่อมสูงกว่า

เราต้องเปลี่ยนจากการดึงดูดคนเชิงปริมาณ มาเป็นดึงดูดคนคุณภาพเข้ามาอยู่อาศัยในลักษณะระยะยาวมากขึ้น เราต้องเปลี่ยนจากการดึงดูดคนที่เข้ามาไทยแค่เพียงใช้จ่ายและบริโภคแล้วจากไป แต่เปลี่ยนเป็นดึงดูดคนคุณภาพที่เข้ามาอยู่มาช่วยร่วมพัฒนาประเทศเรา  เราต้องเปลี่ยนจากการพัฒนาที่รวดเร็วแต่ฉาบฉวย  เปลี่ยนมาเน้นการพัฒนาที่อาจจะช้าหน่อยแต่ยั่งยืนมากขึ้น

COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศต้องชะลอตัว ถดถอยไปอย่างมาก ภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องหยุด   ผู้คนและสังคมไทย ใครหลายคนอาจต้องสูญเสียอะไรไปมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แม้ว่าเราจะได้สูญเสียบางอย่างไป   และเราจำเป็นต้องหยุด

เราก็ไม่ควรจะ หยุด ถอยหลังหรือถอยหนี  หากแต่เราจำเป็นต้องหยุด เพื่อไปต่อ

ประเทศไทย (ยืนเฉยๆ  ไม่ได้แล้วเราจะยืนเฉยๆ โดยหวังว่า คนอื่นจะเข้ามาหาเองไม่ได้อีกแล้ว

*บทความโดย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์และประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/