'สถาบันกษัตริย์'ที่ประชาชนสัมผัสได้
ประเทศไทยเรา มีรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน มีขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี บ่งชี้ถึงการสืบสันตติวงศ์ไว้เพื่อจะได้ไม่มีข้อถกเถียงในแผ่นดิน
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมภายในประเทศ ทั้งแรงบีบคั้นต่างๆ จากภายนอกที่เวลานี้ผู้นำประเทศมหาอำนาจคาดกันว่า กว่าจะตัดสินได้ว่าใครควรเป็นประมุขของประเทศต้องให้ศาลตัดสิน ไม่ต่างกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2000 แต่สำหรับประเทศไทยของเรา มีรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน มีขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่บ่งชี้ถึงการสืบสันตติวงศ์ไว้เพื่อจะได้ไม่มีข้อถกเถียงหรือก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในแผ่นดิน
ถือเป็นความปราดเปรื่องหลักแหลมของบรรพชนไทยที่มีคุณูปการต่อปวงอาณาประชาราษฎร์ การกล่าวเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการเกินจริงแม้แต่น้อย ความพยายามใดๆ ที่พยายามจะปรับเปลี่ยนแก้ไขด้วยการเริ่มต้นหยิบยกประเด็นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาเป็นข้ออ้าง แต่พาดพิงและเหวี่ยงแหกินความไปถึงการผนวกเข้าไปแตะต้องล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มบุคคล อาศัยความทันสมัยของเทคโนโลยีในทางการสื่อสารคมนาคม รวมทั้ง “ฮอร์โมน” และ “ความไม่รอบรู้” ของคนในวัยอยากรู้อยากเห็นเป็นแกนร่วมหรือบางทีอาจเรียกว่า เป็นเสมือน “โล่กำบังความเหิมเกริม” ของกลุ่มบุคคลเหล่านั้น โดยมี “ปัญญาชน” บางกลุ่มผู้ร่วมขบวนการแม้ปากของบางคนจะร้องตะโกนประสานเสียงให้ปฎิรูปสถาบัน แต่ตนเองมีสถานะทางราชการซึ่งต้องได้รับการ “โปรดเกล้า” ที่ทำให้ได้รับทั้งเงินเดือนค่าตอบแทนและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงอยูติดตัว หลายคนจึงมองคนเหล่านี้เสมือนบุคคลที่ขาดคุณธรรมข้อสำคัญคือ “ความกตัญญูรู้คุณ” ไปโดยปริยาย
ในขณะที่กลุ่มคนบางกลุ่มที่ “ฮอร์โมน” พุ่งพล่านตามเพศและวัย อีกทั้งความคึกคะนอง กับ “ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์” จึงถูกชักจูงใจด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลทะลักท่วมท้น หลงตนในความฉลาดสร้างสรรเกินพอดีกระทั่งวันนี้หาประเด็นเรียกร้องทางการเมืองเดิมๆ ไม่ได้ผล หันไปประท้วงการปิดเว้ปไวต์ลามกด้วยอ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
ทำให้เห็นได้ว่า สิ่งใดก่อกำเนิดที่ขาดรากฐานอันมั่นคง ในระยะยาวหากไม่มีจุดยึดโยง ที่มาที่ไปอันเป็นที่ยอมรับ ความนิยมและพลังจะหายไปด้วยความรวดเร็ว เพราะการหยิบยกประเด็นที่นำมาเคลื่อนไหวรวมทั้งวิธีการนอกจากย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่เรียกร้องกับการกระทำที่ปรากฎ ยังมีปัญหาที่ผู้อ้างตนเป็นแกนนำยังตอบข้อสงสัยหลายเรื่องเหมือนต้องคอย “ผู้เขียนบท” และ “ผู้กำกับการแสดง” อยู่ไม่ห่าง
ฝรั่งตาน้ำข้าว ที่แม้จะมีสถาบันกษัตริย์เฉกเช่นพวกเราชาวไทย แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรในความดูแลในแนวทางของเขากับของเรานั้นแตกต่างกันมาก คงไม่มีใครจะคิดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องมีภารกิจหรือวัตรปฎิบัติที่ในหลายประเทศ เน้นเพียงเรื่องของการดำเนินไปตามโบราณราชประเพณี แต่สำหรับประเทศไทยนอกจากเรื่องของ ขนบวัฒนธรรมประเพณีแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นพลังแห่งความร่วมมือรวมใจของคนในชาติทุกหมู่เหล่า ทั้งยังทำนุบำรุงสุขเหล่าอาณาราษฎร ดังเช่นได้เห็นวัตรปฎิบัตร ของบุรพกษัตริยาธิราชทุกพระองค์ที่ทรงพระอิสริยายศเป็น “จอมทัพไทย” นั่นคือ ในอดีตกาล เมื่อมีศึกสงครามพระองค์จะทรงเป็นหลักชัยให้กับกองทัพในการต้านทานรบพุ่งกับอริราชศัตรูด้วยพระองค์เอง
ภาพซึ่งปรากฏตามแนวทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ บนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 และการเสด็จพระราชดำเนินมีปฎิสันถารกับประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างใกล้ชิดบริเวณรายรอบพระบรมมหาราชวังในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร หรือ องค์พระแก้วมรกต เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นประจักษ์ชัดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นแบบอย่างแห่งการเป็นองค์พระประมุขยิ่งกว่าผู้นำหรือประมุขของราชอาณาจักรใดในโลก
ถ้าพวกเราคิดกันไม่ซับซ้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “หัวหน้าครอบครัว” ที่พระองค์นอกจากดูแลครอบครัวของพระองค์เองแล้ว ยังมีอาณาราษฎรที่พึ่งพระบารมีของพระองค์เป็นขวัญกำลังใจอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งที่บางฝ่ายกำลังเรียกร้องเวลานี้ “ไม่ใช่การปฎิรูป” แต่เปรียบได้กับ “การบังคับ ขู่เข็ญ ยื่อแย่ง ต้องการอำนาจที่พระองค์มีอยู๋ตามขนบประเพณีไปเป็นของพวกตน” ในขณะที่บ้านเมืองมีขื่อแป ขนาดใครบังอาจบุกรุก ฉกฉวยทรัพย์สินเงินทองของพวกท่านทั้งหลาย เรายังไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ แต่สิ่งที่พระองค์และ เจ้าฟ้าสิริวัณวรีนารีรัตน์ฯ ได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ และมีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “เรารักพวกเขาเหมือนกัน” นั้น คือ ประจักษ์พยานสำคัญว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นประชาชนทุกหมู่เหล่าสัมผัสและเข้าถึงได้โดยแท้