ชัยชนะของไบเดน: จุดเปลี่ยนสีเขียว?
สวัสดีครับ แม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะผ่านไปแล้วเกือบสองอาทิตย์
และผลการเลือกตั้งเบื้องต้นจะชี้ว่า นายโจ ไบเดนสามารถคว้าชัยชนะจากการมีเสียงข้างมากในรัฐชี้ชะตาที่เป็นสวิงสเตทต่างๆ จนกระทั่งเขาได้เตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่กว่าจะถึงวันทำพิธีสาบานตนที่กำหนดในวันที่ 20 มกราคม 2564 ยังมีความไม่แน่นอนจากความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หลังเขาประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการศาลโดยอ้างการทุจริตเลือกตั้งในรัฐสวิงเสตทเหล่านั้น จนทำให้สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในภาวะอึมครึมของความไม่แน่นอน โดยนักวิเคราะห์หลายค่ายชี้ว่าเรื่องนี้อาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในนโยบายที่นายโจ ไบเดนได้ชูเป็นประเด็นหลักคือ นโยบายโครงการสีเขียว (Green Recovery) ที่รองรับด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ แต่ได้สร้างความตื่นเต้นยินดีให้กับหลายภาคส่วน ไม่เพียงเฉพาะคนอเมริกันผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนในผลสำรวจจากหน่วยเลือกตั้ง (Exit Poll) จากหลายค่ายรวมทั้ง Morning consult, Fox News, และ Associated Press ว่าคนอเมริกันเห็นความสำคัญของการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มาก โดยผู้ที่เลือกนายโจ ไบเดนให้เหตุผลว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่พวกเขาเห็นว่า “สำคัญมาก” และแม้แต่ในหน่วยงานทางการอย่าง Federal Reserve ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาได้ระบุยอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารรายงานความมั่นคงทางการเงิน (Financial Stability Report) ที่ออกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า สภาวะความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็น “หนึ่งในความเสี่ยงต่อระบบการเงิน” ของประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ Federal Reserve ภายใต้รัฐบาลของนายโดนัล ทรัมป์ ได้รับคำวิจารณ์ว่าไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แบบจริงจังมาก่อน
นอกจากนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่ารัฐบาลในยุคใหม่ มีแนวโน้มจะได้รับนิยมมากขึ้นหากสามารถดำเนินนโยบายที่สำคัญ รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจผ่านมุมมองของการหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ทั้งโลกกำลังจับตาว่าหากนายโจ ไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ เขาจะสามารถดำเนินการผลักดันตามแผนนโยบายโครงการสีเขียวตามที่ได้ประกาศไว้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อต้องผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภาซึ่งพรรครีพับรีกันเป็นผู้ครองเสียงข้างมาก
มีนักวิเคราะห์จำนวนมากได้ประเมินผลกระทบเชิงบวกจากนโยบายสีเขียวที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (Science-based Policymaking) ของนายโจ ไบเดนไว้อย่างน่าสนใจ
นโยบายโครงการสีเขียว มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของเขาจะเน้นลงทุนพลังงานสะอาดหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เปลี่ยนแปลงการคมนาคม พร้อมตั้งเป้าหมายเปลี่ยนสหรัฐอเมริกาให้เป็นประเทศที่มีแต่พลังงานสะอาด 100% และเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 นอกจากนี้ เขาจะทุ่มงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน โรงงานไฟฟ้า โดยยึดหลักการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขายังสัญญาว่าจะกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทันที หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นายโจ ไบเดนยังวางแผนที่จะจัดตั้งแผนกสิ่งแวดล้อมขึ้นในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะสนับสนุนด้านการดำเนินคดี และบังคับใช้กฎหมายกับผู้สร้างมลพิษ จะมีการสร้างงานและอาชีพเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษด้วยงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job) ซึ่งสื่อต่างประเทศอย่าง The Guardian ได้เผยแพร่การประเมินโดยนักวิเคราะห์ว่าหากนายไบเดนสามารถผลักดันนโยบายข้างต้นได้สำเร็จทั้งหมด จะสามารถลดคาร์บอนได้ 75 กิกะตันใน 30 ปี หรือเทียบเท่าการลดลงของอุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ย 0.1 องศาเซลเซียส
ในส่วนของประเทศไทย ผลจากนโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางลบอยู่บ้างต่อการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์สันดาปไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะถูกกดดันจากการกีดกันการค้าต่อไป นอกจากนี้ต้นทุนพลังงานน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบายที่ไม่สนับสนุนการค้นหา ขุดเจาะ และผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี หากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก เริ่มดำเนินการผลักดันนโยบายสีเขียวอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นการเบนเข็มแบบกลับหลังหันจากทิศทางนโยบายภายใต้รัฐบาลของนายโดนัล ทรัมป์แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องที่มีความหมายไปทั่วโลก และเป็นแรงส่งต่อให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ได้รณรงค์ในการช่วยลดคาร์บอนก่อนหน้านี้ อาทิ ประเทศในสหภาพยุโรป เอเชีย รวมทั้งจีน ส่งผลให้ประเทศที่มุ่งสู่แนวทางสีเขียวมีสัดส่วนที่มากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก จึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืนครั้งใหญ่ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง