โรคใหม่ในสังคมเดิม : ผลกระทบโควิด-19 ในมิติสังคม

โรคใหม่ในสังคมเดิม : ผลกระทบโควิด-19 ในมิติสังคม

ผลกระทบจากโควิด-19 ของแต่ละประเทศและแต่ละภาคส่วนไม่เหมือนกัน  ในด้านเศรษฐกิจการฟื้นตัวของต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่แตกต่างกันไป

บางประเทศที่มีเศรษฐกิจภายในแข็งแกร่ง เติบโตจากภายในอย่างเช่น ประเทศจีนก็มีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเร็ว ในขณะที่บางประเทศยังมีตัวเลขที่ติดลบซึ่งประเทศไทยก็นับเป็นหนึ่งในนั้น

         การตกงาน ขาดรายได้ จากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว โรงงานต่างๆ และธุรกิจ เอสเอ็มอีในหลายๆ แห่งจำเป็นต้องปิดตัวลง มีการลดจำนวนพนักงานหรือลดค่าจ้างพนักงานลง   

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว โควิด-19ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในทางสังคมอีกไม่น้อย โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของไทยที่ผ่านมา เมื่อเผชิญกับโรคใหม่ ที่เป็นความท้าทายระดับโลกนี้ ก็ทำให้เราเห็นจุดเปราะบาง และความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่ชัดเจน

กลุ่มเด็กได้รับผลกระทบในมิติทางด้านการเรียนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เห็นความพร้อมที่แตกต่างกัน กลุ่มเด็กฐานะยากจน เด็กชายขอบจะไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ พ่อแม่ครอบครัวไม่มีเวลาพอจะช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้  นอกจากนี้ ปกติเด็กนักเรียนกลุ่มที่มีฐานะยากจนยังต้องพึ่งพานม อาหารกลางวันจากโรงเรียน เมื่อโรงเรียนปิดจากที่เคยได้รับนม อาหารกลางวันก็จะไม่ได้รับ

การตกงาน ขาดรายได้ ความยากลำบากในการหาซื้ออาหาร ยังส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้นในหลายครอบครัว ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็นผลที่ตามมา โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในครอบครัวมากว่าปีที่ผ่านมา  นอกจากนั้นผลจากการตกงาน ขาดรายได้ของคน และไม่มีแหล่งพึ่งพิงได้ ยังเป็นปัจจัยทำให้คนส่วนหนึ่งตัดสินใจก่อเหตุอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อผู้ต้องขังถูกผลักออกมาทั้งที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง ยังไม่ได้รับการฝึกอาชีพ เมื่อออกมาแล้วส่วนใหญ่ก็มักจะกระทำความผิดซ้ำอีกและต้องกลับมาสู่วงจรเดิมซ้ำ ๆ 

โควิด-19 ยังทำให้เราเห็นถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของชุมชนต่างๆ ที่ยังมีอยู่ในระดับที่ต่างกัน  มีการสื่อสารจากภาครัฐเข้าไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด  คนในเมืองกับชนบทอาจไม่มีเท่ากัน ตลอดจนข้อจำกัดในการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ยังไม่สามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารสถานการณ์ภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 ของสังคมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย

        จากประเด็นผลกระทบที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ประเด็นมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเป็นผลกระทบสืบเนื่องต่อๆ กัน  เป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคมไทย โดยจุดสำคัญของผลกระทบที่เกิดนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย  นอกจากนี้ประเด็นปัญหาต่าง ๆ นั้น ในบางประเด็นไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้นหากแต่เป็นประเด็นปัญหาเดิมที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว  สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้น ว่ายังมีความแตกต่างของโอกาสในชีวิตของคนที่เริ่มต้นต่างกัน  และความพร้อมความสามารถในการรับมือวิกฤตก็ต่างกันด้วยเช่นกัน

การดำเนินการและนโยบายในอนาคตในมิติสังคมจึงมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น อาทิ

  • การศึกษาเรียนรู้คุณภาพและ Social Safety Net : โอกาสในชีวิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย  โอกาสที่เท่าเทียมเป็นก้าวแรกที่สำคัญนับแต่แรกเกิด สังคมไม่ควรส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่น การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียมจึงเป็นรากฐานสำคัญไปจนถึงการทำงาน การมีทักษะ อาชีพที่ดี   นอกจากนี้การออกแบบระบบตาข่ายทางสังคม หรือ Social Safety Net การจัดสวัสดิการสังคม ระบบประกันสังคมเป็นเรื่องที่ต้องขบคิด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหา ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าที่เป็นอยู่ และให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นภายใต้ความท้าทายด้านการคลังและวิกฤตใหม่ที่อาจเกิดขึ้น
  • Social Movement : นโยบายและกลไกการทำงานด้านสังคมแบบใหม่เป็นเรื่องสำคัญ  การให้ความช่วยเหลือแบบช่วยสงเคราะห์นั้นยังจำเป็นสำหรับบางกลุ่ม แต่การช่วยแบบหนึ่งต่อหนึ่งไม่สามารถไล่ทันกับปัญหาได้ การป้องกัน การทำงานเชิงรุก และการขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) รวมถึงความเป็น Active Citizen ของคนในสังคม    ตลอดจนนวัตกรรมทางความคิด นวัตกรรมทางสังคมเป็นพลังที่สำคัญ
  • ส่งเสริมกลไกการบริหารในระดับพื้นที่และปฏิรูประบบราชการ: กลไกการบริหารงานในส่วนพื้นที่ ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถบางอย่างของส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่ว่าสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ดี การปฏิรูประบบราชการที่ยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง การปฏิรูประบบการบริหารงานภาครัฐในอนาคตนั้น ต้องมีการบูรณาการ นำหลักการแนวคิดต่าง ๆ มาใช้ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล  การใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนงาน การทำ Regulatory Guillotine ปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โควิด-19 เป็นโรคใหม่ ในสังคมเดิม  เมื่อเราเริ่มรับมือกับโรคใหม่นี้ได้แล้ว ก็น่าจะถือโอกาสสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมไทย  เพื่อชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีหลังโควิด-19 อย่าให้เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ปัญหายังซ้ำรอยอยู่ที่เดิมอีกเลย

*บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation: TFF)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/