สามข่าวดีที่ให้ความหวังกับเศรษฐกิจ
วันนี้จึงอยากเขียนถึงข่าวเศรษฐกิจสามข่าว ที่ถือเป็นข่าวดีที่ให้ความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและโอกาสของประเทศในระยะต่อไป
ประเทศเราขณะนี้ข่าวการแก้รัฐธรรมนูญต้องถือว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนติดตาม เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ ด้านต่างประเทศก็คงไม่พ้นข่าวผู้นำคนใหม่ของสหรัฐและความท้าทายที่รัฐบาลนายโจ ไบเดนจะต้องเผชิญในการบริหารประเทศ ซึ่งสำคัญสุดคือการหยุดการระบาดของโควิด-19 การฟื้นเศรษฐกิจ และเยียวยาความแตกแยกของคนในสังคม ในบ้านเราเรื่องเศรษฐกิจก็มีข่าวดีหลายเรื่องที่อาจไม่ครึกโครมแต่เนื้อหาสำคัญมากทั้งต่อการฟื้นตัวและอนาคตของประเทศ
วันนี้จึงอยากเขียนถึงข่าวเศรษฐกิจสามข่าว ที่ผมถือว่าเป็นข่าวดีที่ให้ความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและโอกาสของประเทศในระยะต่อไป
ข่าวแรกคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมา -6.4% ต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่ติดลบร้อยละ 12.1 ทำให้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและการฟื้นตัวกำลังเกิดขึ้น แม้จะช้า ไม่เท่ากันในทุกสาขาเศรษฐกิจ และมีความเปราะบางอยู่มากแต่เศรษฐกิจก็กำลังฟื้นตัว จากตัวเลขชัดเจนว่าตัวแปรหลักๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การส่งออก การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนยังหดตัวแต่ในอัตราที่ลดลงเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นลักษณะปกติของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว
ในภาคการผลิต การฟื้นตัวก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือการผลิตไม่ว่าจะในสาขาอุตสาหกรรมขนส่ง ที่พักและบริการด้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง หดตัวลดลงเทียบกับไตรมาส 2 ขณะที่สาขาก่อสร้างและภาคการเงิน การผลิตขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี
จากที่ยังไม่มีแรงกระตุ้นจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะนี้จึงถูกขับเคลื่อนโดยกำลังของการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก สนับสนุนโดยการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นการฟื้นตัวจากปัจจัยภายในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตและใช้จ่ายได้เหมือนปกติ ได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีรายได้มีเงินออม และจากนโยบายการเงินการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัว
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจาก พ.ร.ก.กู้เงินยังไม่เกิดขึ้นจริงจังหรือยังไม่ออกมามาก ชี้ว่าเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวนำหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไปแล้ว และมาตรการภาครัฐอาจกำลังเป็นผู้ตามมากกว่าเป็นผู้นำในการฟื้นเศรษฐกิจ
ประเด็นหนึ่งที่ผมค่อนข้างสบายใจในฐานะที่เคยอยู่ในกระบวนการทำนโยบายเศรษฐกิจมาก่อนคือ ความเข้าใจของหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 3 หน่วยงานคือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสิ่งที่ทางการควรต้องทำในแง่นโยบายค่อนข้างตรงกัน ซึ่งสำคัญมาก นั่นคือเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ไม่เท่ากันในทุกสาขา เพราะผลกระทบต่อแต่ละสาขาเศรษฐกิจไม่เท่ากัน เช่นแย่สุดคือธุรกิจโรงแรม ขนส่งโดยสาร ร้านอาหาร ยานยนต์
ดังนั้น มาตรการของรัฐที่จะฟื้นเศรษฐกิจจากนี้ไปจะต้องเจาะจงและเจาะลึกมากขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยธุรกิจที่ถูกกระทบมากเหล่านี้ได้โดยตรง โดยรูปแบบการช่วยเหลือใหม่ๆ ที่ตรงจุด เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความสมดุล ซึ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นจึงสำคัญที่ผู้ทำนโยบายจากฝ่ายการเมืองต้องฟังความเห็นของหน่วยงานหลักเหล่านี้มากๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและลดความเสี่ยงของการผลักดันมาตรการที่ไม่เหมาะสมที่จะสร้างความเสี่ยงให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น
ข่าวที่สองที่ถือว่าเป็นข่าวดีก็คือ เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ จากการแถลงข่าวของ ธปท.อาทิตย์ที่แล้ว คงจำได้ ย้อนหลังไป 6 เดือนมีความเป็นห่วงกันมากว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงคราวนี้จะทำให้ธุรกิจเสียหายมากเกิดปัญหาหนี้เสีย กระทบฐานะและเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงความสามารถของธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ เป็นความห่วงใยที่แชร์กันหลายฝ่ายและมีเหตุมีผล
ถึงเดือนนี้ ข้อมูล ธปท.ชี้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องในระดับสูง และสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ก็ได้ชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ แม้สินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น สินเชื่อในระบบเศรษฐกิจก็ขยายตัว และธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองมากขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง ทั้งหมดเป็นแนวโน้มที่น่าพอใจดูจากตัวเลขที่ออกมา โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.ตัวเลข NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.14 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 19.8 และอัตราเงินสำรองต่อ NPL อยู่ที่ 149.7%
เฉพาะประเด็นหนี้เสียที่หลายคนเคยห่วงว่ามาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีได้รับการพักหนี้เป็นเวลา 6 เดือนจะทำให้ตัวเลข NPL พุ่งกระฉูดจากการผิดนัดชำระหนี้ที่จะมีมากขึ้นเมื่อการพักหนี้ครบกำหนดในวันที่ 22 ต.ค. สิ่งที่เกิดขึ้นคือจากจำนวนลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ทั้งหมด 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 1.35 ล้านล้านบาท ประมาณ 4 แสนล้านบาทเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะได้รับการพักหนี้ต่ออีก 3-6 เดือน
ขณะที่ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ที่รวมกันมียอดหนี้ประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ลูกหนี้ส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะชำระหนี้ได้ตามปกติหลังการพักหนี้จบลง ที่เหลือคือส่วนที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องให้ความช่วยเหลือต่อไปด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต โดยช่วยเหลือแบบเฉพาะจุด เป็นกรณีๆ ไปโดยธนาคารพาณิชย์จะมีความคล่องตัวในการดูแลลูกค้าของตนตามสภาพของปัญหาให้กลับมาทำธุรกิจได้
นอกจากนี้ก็มีการออกแนวปฏิบัติโดย ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ในการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และการลำดับการตัดชำระหนี้ โดยตัดงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน เหล่านี้ก็เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่จะลดภาระของลูกหนี้ในการชำระหนี้และดูแลให้เกิดความเป็นธรรม (Fairness) ในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจว่าไม่ได้ถูกละเลยในวิกฤติคราวนี้ และมีแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือให้สามารถปรับตัวและประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ข่าวสุดท้ายคือ การลงนามของ 15 ประเทศในเอเชียในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่จะเป็นวงข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือครอบคลุมประชากรกว่า 2.2 ล้านคน ผลผลิตเท่ากับ 30% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้าเท่ากับ 28% ของการค้าโลก ซึ่ง 15 ประเทศนี้ก็คือกลุ่มอาเซียนบวก 3 คือ อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบวกอีก 2 ประเทศคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ความตกลง RCEP คงไม่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะนี้ เพราะจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปีกว่าความตกลงจะเริ่มมีผล แต่ 2 ปีจะเป็นเวลาที่เศรษฐกิจโลกอาจกลับไปเป็นปกติได้หลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้กลุ่ม RCEP อาจเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเติบโตมากที่สุดในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยในฐานะประเทศสมาชิกก็จะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะในภาวะที่การค้าโลกและระบบพหุภาคีมีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศหลัก
การรวมตัวของประเทศต่างๆ ในระดับภูมิภาค จะสามารถทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปในระดับสากลได้ ทำให้โมเมนตัมของการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียที่พึ่งการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากจะมีอยู่ต่อไป
สำหรับไทยเอง การรวมกลุ่ม RCEP จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ จากตลาดที่จะใหญ่ขึ้นทั้งในแง่ผู้บริโภค แหล่งวัตถุดิบ แรงงาน และประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุนด้านเทคโนโลยี และทั้งหมดจะเป็นเงื่อนไขให้บริษัทไทยและนโยบายของประเทศต้องปรับตัวมากเพื่อให้แข่งขันได้ ซึ่งจะดีต่อภาคธุรกิจในระยะยาว
ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดีที่เราจะมีอีกกลไกหนึ่งเป็นกลไกสากลเข้ามาบีบภาคธุรกิจบ้านเราให้ต้องปรับตัว และบีบให้นโยบายของประเทศต้องอยู่ในร่องในรอย เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสและแข่งขันได้
นี่คือสามข่าวดีในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมาที่อยากเน้นให้ทราบ แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีมากนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องไม่ประมาท