การฟื้นตัวของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทย

การฟื้นตัวของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทย

งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 มีกำไรรวมสุทธิ 1.47 แสนล้านบาท ลดลง 31% จากปีที่แล้ว

แต่ฟื้นตัว 25% จากไตรมาส 2 โดยกลุ่มธุรกิจที่มีกำไรสุทธิรวมเติบโตจากปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ กลุ่มธุรกิจเกษตร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ ถึงแม้ว่ากำไรของบริษัทส่วนใหญ่ลดลง แต่เป็นการลดลงที่น้อยกว่าคาด ในไตรมาส 3 นี้มีจำนวนบริษัทที่ประกาศผลกำไรดีกว่าคาดถึง 52% ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มหยุดปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของปีนี้และปีหน้าลง และมีโอกาสสูงที่จะกลับมาปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะถูกปรับกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากการตั้งสำรองที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลายลง กลุ่มพลังงาน จากราคาน้ำมันดิบที่คาดการณ์เพิ่มขึ้นหากมีการเดินทางระหว่างประเทศ และกลุ่มพาณิชย์ จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยปัจจุบันการเติบโตของกำไรสุทธิในปีหน้าถูกคาดการณ์ไว้ที่ 40.9%


นอกจากนี้ ตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 3 ที่หดตัว -6.4% YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก จากการลงทุนของภาครัฐ การส่งออก และการบริโภคในประเทศที่ดีกว่าคาด ทำให้ตลาดมีการปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ขึ้นเป็น -6% และปีหน้าเป็น +3.5% ถึง +4.5% ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของกำไรจดทะเบียน


อีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญของไทย คือการที่ประเทศไทยลงนาม “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP)” ในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมาร่วมกับ 14 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 29.5% ของโลก โดยข้อตกลงครอบคลุมการเปิดเสรีทางด้านการค้า การบริการ การลงทุน และความร่วมมือต่างๆ ข้อตกลงนี้ ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าอิเล็คทรอนิคส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์น่าจะได้รับประโยชน์จากปริมาณการค้าที่มากขึ้น ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนในไทยหลายบริษัทที่อยู่ในหมวดธุรกิจเหล่านี้ หากบริษัทเหล่านี้มีกำไรมากขึ้น จะผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการบริการและการลงทุนระหว่างประเทศที่จะทำได้เสรีมากขึ้น และจะทำให้จีดีพีในภูมิภาคเอเชียเติบโตสูงขึ้นในระยะยาว


ในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท Pfizer ประกาศเป็นบริษัทแรกว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นด้วยกรรมวิธี mRNA มีประสิทธิภาพถึง 90% หนึ่งสัปดาห์ต่อมา บริษัท Moderna ประกาศว่าวัคซีนประสิทธิภาพถึง 94.5% ในกลุ่มตัวอย่าง 3 หมื่นราย และในอนาคต บริษัทพัฒนาวัคซีนต่าง ๆ น่าจะทยอยประกาศความคืบหน้ากันออกมาเรื่อยๆ และคาดว่าวัคซีนน่าจะทยอยฉีดได้ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้า และประเทศไทยจะได้รับประโยชน์สูง เนื่องจากเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงเกือบ 30% ของจีดีพี และมีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนต่อปี หากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง หุ้นที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ กลุ่มโรงแรม สายการบิน สนามบิน และบริการ


ด้วยปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยบวก ทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่โหมด Risk On อย่างเต็มตัว และเริ่มมีการเห็นการเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้งของนักลงทุนต่างชาติหลังจากที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเดือนแรกที่เริ่มเห็นยอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงปลายปีเป็นช่วงที่จะเริ่มเห็นเม็ดเงินของกองทุนการออมประหยัดภาษีทยอยเข้ามา กอปรกับการที่สัดส่วนการถือเงินสดของนักลงทุนสถาบันอยู่ในระดับสูง ทำให้น่าจะเห็นแรงซื้อเข้ามามากในตลาดหุ้นในระยะนี้ไปจนถึงสิ้นปี


จากการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นมากว่า 200 จุดภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ เป็นการปรับตัวขึ้นที่ค่อนข้างเร็ว และกระจายอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน และโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและปรับตัวลงมากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส แนวโน้มการลงทุนในระยะถัดไป คาดตลาดจะกลับมามองการฟื้นตัวของกำไรของบริษัทมากขึ้น ดังนนั้น นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุนในหุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ในราคาที่เหมาะสมที่ไม่ได้รวมความคาดหวังไว้สูงเกินไปครับ