สะเต๊ะกับสะเต็มที่สิงคโปร์

สะเต๊ะกับสะเต็มที่สิงคโปร์

ถนนสะเต๊ะเป็นถนนเส้นเล็กซึ่งห่างจากอ่าวมารีน่าของสิงคโปร์ไม่มากนัก  ช่วงค่ำบนถนนเส้นนี้มีการขายสะเต๊ะกันเป็นล่ำเป็นสัน

ผมยังจำประสบการณ์การไปเยือนถนนแห่งนี้เมื่อห้าปีก่อนได้ชัดเจน  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การศึกษาแบบสะเต็ม (STEM) ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้นในประเทศไทย 

 วันนั้นเมื่อผมไปถึงแล้วนั่งลงที่โต๊ะว่างตัวเล็ก  แค่อึดใจเดียวก็มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมายื่นเมนูให้เลือก ผมตัดสินใจเลือกสะเต๊ะ “ชุดเล็ก” ระหว่างรออาหาร  ผมสังเกตเห็นว่าโต๊ะด้านข้างมีผู้หญิงจีนในเครื่องแบบสาวเชียร์เบียร์ที่สุภาพเรียบร้อยเน้นความคล่องตัว  บนโต๊ะที่เธอยืนอยู่มีเบียร์ 4 เหยือก มีแก้วเบียร์ 8 ใบ และมีแก้วพลาสติกอีกจำนวนหนึ่ง อย่างแรกที่ผมสงสัยเลยคือ ทำไมแก้วเบียร์แต่ละใบมีจำนวนก้อนน้ำแข็งไม่เท่ากัน อย่างที่สองที่ผมสงสัยคือ ทำไมเธอถึงยืนใช้สายตานับจำนวนน้ำแข็ง และข้อสงสัยสุดท้ายคือ เธอจะต้องเดินกี่รอบถึงจะยกของไปเสิร์ฟหมด

ระหว่างที่ผมคิดเธอเริ่มแสดงฝีมือแบ่งน้ำแข็งออกจากแก้วสองใบ แล้วไปใส่ใบอื่นในจำนวนเท่ากัน จนแก้วอีก 6 ใบมีน้ำแข็งเต็ม ส่วนแก้วสองใบที่เหลือมีน้ำแข็งเหลือติดก้นแก้วไม่กี่ก้อน จากนั้นก็แบ่งแก้วพลาสติกเป็นจำนวนเท่ากัน แล้ววางลงไปในแก้วเบียร์ทั้งสองแก้วนี้ ซึ่งปรากฏว่า แก้วพลาสติกทั้งหมดไหลลงไปในแก้วนั้น ถ้าไม่มีน้ำแข็งรองรับ แก้วจะไหลลงไปจนหยิบออกมาไม่ได้ แต่พอมีน้ำแข็งรองอยู่นิดหน่อย ก็หยิบออกมาได้ง่ายทำให้ถือไปได้เยอะ แถมไม่ต้องกลัวว่าแก้วพลาสติกเหล่านี้จะตกด้วยเพราะถูกล็อคไว้กับแก้วเบียร์  เมื่อแก้ปัญหาเปลาะนี้ไปได้  การลำเลียงเบียร์กับแก้วไปถึงมือลูกค้าก็เป็นเรื่องง่ายไปเลย

พอไปถึงโต๊ะ เธอจัดแจงเทน้ำแข็งบางส่วนจากแก้วที่มีน้ำแข็งเต็มไปเติมแก้วที่น้ำแข็งน้อย เธอเสิร์ฟ ให้กับลูกค้า 4 โต๊ะ  ทุกแก้ว ทุกโต๊ะได้น้ำแข็งจำนวนเท่ากันพอดิบพอดี ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ แสดงว่าคงคำนวณมาแล้วว่าต้องใส่น้ำแข็งมากี่ก้อนถึงหารด้วยจำนวนแก้วลงตัวพอดี

พอผมมองไปที่ผู้ชายที่กำลังจะย่างสะเต๊ะกำใหญ่ เขาเอามันมาคลี่เป็นพัดแล้ววางบนเตาที่มีไฟแรง พลิกไปพลิกมาเป็นระยะ  เห็นไฟแรงแบบนี้เลยผมคิดว่าไม้ข้างในคงจะไม่สุกเท่าไหร่  ส่วนไม้ข้างนอกคงไหม้พอสมควร  ที่ไหนได้ พอเขาเอาไม้ข้างนอกไปลุยไฟจนน่าจะเกือบสุกได้ที่ก็ม้วนเอาไม้ข้างในออกมาแทน แล้วเอาสะเต๊ะเหล่านี้ไปลุยไฟอีกรอบ พอทำแบบนี้ทุกไม้ก็จะสุกพอดีในเวลาไม่นาน  เป็นการบริหารจัดการความร้อน เพื่อลดเวลาในการย่างได้อย่างน่าทึ่ง

ในระหว่างที่กินอยู่เห็นผู้ชายอีกคนหนึ่งเดินขายกระดาษทิชชู่  โดยปกติคนที่เริ่มกินส่วนใหญ่จะไม่ซื้อทิชชู่  พอกินไปสักพักมือเปื้อนปากเลอะ  ก็จะขอซื้อทิชชู่เอง  ดูเหมือนเขาเข้าใจลูกค้าดี  ตอนแรกที่ลูกค้าเพิ่งเข้ามานั่ง  แล้วเขาเดินเข้าไปหาทั้งที่รู้อยู่เต็มอกแล้วว่ายังไงก็ขายไม่ได้  การเดินเข้าไปเพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้าของเขา  เดินไปโต๊ะโน้นโต๊ะนี้หลายรอบ 

บริเวณที่ผมนั่งมีโต๊ะประมาณ 30 ตัว  เกือบหนึ่งชั่วโมงที่ผมนั่งอยู่ที่นั่น  ลองนับดูคร่าวๆ  มีประมาณ 20 โต๊ะที่ซื้อทิชชู่ ทิชชู่ห่อละ 1 เหรียญ 1 ชั่วโมงก็ได้ประมาณ 20 เหรียญ  ถ้าลุงทำงาน 4 ชั่วโมง  ก็จะได้เงิน 80 เหรียญ  หักต้นทุนค่าทิชชู่ไปแล้วคืนหนึ่งคงได้ไม่น้อยกว่า 40 เหรียญ หรือตกประมาณ 1,000 บาท  ถ้าคิดว่าเขามีบ้านอยู่แล้วไม่มีภาระหนี้  รายได้ประมาณนี้สำหรับคนที่ไม่ฟุ่มเฟือยนักน่าจะพออยู่ได้

ผมไม่เห็นใครยืนเล่น จับกลุ่มคุยกัน หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ  ถ้ามีใครโทรศัพท์เข้ามาเขาจะรีบคุยแล้วก็วางหูเพื่อจะได้ทำงานต่อ  ช่วงที่ลูกค้าน้อยเขาจะเวียนไปถามลูกค้าตามโต๊ะว่าจะรับอะไรเพิ่มไหม  ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ดีกว่าไม่ทำอะไร

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนที่นี่เขาถูกฝึกให้ใช้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริง   เป็นสะเต็มภาคปฏิบัติ ไม่ใช่การท่องจำไปสอบ  เมื่อบวกกันสัญชาติญาณทางธุรกิจที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกเลยเกิดเป็นหนึ่งพลังขับเคลื่อนสำคัญให้สิงคโปร์กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้  หากวันหนึ่งเอสเอ็มอีของเราสามารถปรับตัวให้มีสัญชาติญาณทางธุรกิจได้แบบนี้  แม้จะเป็นโลกหลังโควิดโอกาสที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป