เร่งเคลียร์ปัญหา 'ไฟฟ้าสำรอง' ล้นระบบ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยต้องใช้เวลาพลิกฟื้นไม่ต่ำกว่า2ปี
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงดังกล่าวเป็นปัจจัยซ้ำเติม “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ของประเทศที่เดิมอยู่ในระดับสูงกว่า 30% ล่าสุดขึ้นไปแตะระดับเกือบ 50% จากที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 15-17% ของกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกหากภาครัฐไม่มีการดำเนินการใดๆ
เนื่องจากในปี 2565 เป็นต้นไป จะยังมีโรงไฟฟ้าใหม่ของเอกชนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว จะจ่ายไฟเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้เป็นอีกโจทย์สำคัญของประเทศไทย และกระทรงพลังงานที่ต้องเร่งหาทางออก เพราะถ้าไม่แก้ไข คนไทยกว่า 70 ล้านคนจะต้องร่วมแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้น!ในอนาคต
ไม่นานมานี้ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) จึงได้ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงพลังงงานเจรจาโรงไฟฟ้าของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูลให้ชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (COD) พร้อมปรับแผน PDP สอดคล้องให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นแบบ Firm นอกเหนือจากที่ได้มีการลงนามไปแล้ว เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าสำรองล้นระบบ
โจทย์นี้ ทำให้เห็นภาพทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศ ที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งรีบต้องรับซื้อไฟฟ้าใหม่เข้าระบบในระยะสั้น ฉะนั้นคงไม่แปลกที่ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” จะนำร่องรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแค่ 150 เมกะวัตต์ แม้จะเตรียมประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2564 แต่ก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้อยากได้ไฟฟ้าเพิ่มเท่าไหร่นัก
เพราะตั้งเงื่อนไข “ประมูลแข่งขัน” หวังกดราคารับซื้อไฟฟ้า แม้จะพยายามสื่อความว่า ไม่ต้องการให้นโยบายนี้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยากที่วิสาหกิจชุมชนต่างๆที่หวังจะเข้าร่วมโครงการจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่เคยวาดฝันกันไว้ในสมัยที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
อีกทั้ง โรงไฟฟ้าชุมชนมีเงื่อนไขใหม่ยังกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน หรือ 3 ปี นับจากวันลงนาม PPA หมายความว่า กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนนี้จะเข้าระบบก็คงเป็นปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า รัฐไม่ได้เร่งรีบซื้อไฟฟ้า
ที่สำคัญกระทรวงพลังงาน ยังประกาศชัดเจนว่า หากโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์แรกไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะไม่มีโครงการระยะที่ 2 เกิดขึ้นอีก ทั้งที่ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดโควตารับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนถึง 1,933 เมกะวัตต์ก็ตาม
ภารกิจสำคัญของ กระทรวงพลังงาน ระยะสั้นนี้ ก็คงต้องรีบหาทางออกแก้ไขปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นระบบ กดต้นทุนค่าไฟ โดยการไปเคลียร์โรงไฟฟ้าเก่าประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบเร็วขึ้น พร้อมปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐาน ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าใหม่เข้าระบบเพิ่มเติม ก็คงเป็นเพียงโครงการเล็กๆ ตามนโยบายเท่านั้น