ไพ่ใบสุดท้าย
ผมเล่นไพ่ไม่เป็น แต่ที่ขึ้นหัวเรื่องว่า ไพ่ใบสุดท้าย เพื่อกระตุ้นให้เข้าใจได้ว่า ในสภาวะการณ์คับขันหรือมีเดิมพันสูง มักจะได้ยินวลีที่ว่านี้
เพราะการทิ้ง "ไพ่ใบสุดท้าย" เปรียบเปรยได้กับการ “วัดดวง” หรือต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน ทางเลือกคงเหลือน้อยมาก โดยเฉพาะฝ่ายที่อาจดูเพลี่ยงพล้ำ
ไม่ต่างกับสถานการณ์ในขณะนี้ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยื่นข้อเรียกร้องประสบความสำเร็จไปแล้วในเรื่องการขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้ได้จริงหรือไม่ เส่ยงประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินหากผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่สาม แต่ดูเหมือนทางแกนนำผู้ชุมนุมจะไม่เลิกรา และพัฒนาจากความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่เรื่องที่เป็นการท้าทาย สถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เป็นหลักใหญ่ การเคลื่อนไหวชุมนุมในแต่ละครั้ง พยายามจุดประเด็นและ “เรียกแขก” ด้วยกลวิธีทางการสื่อสารทางการเมืองที่เน้นความตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าความเป็นไปได้จริงในทางปฎิบัติ
การรับมือของฝ่ายรัฐบาลที่แล้วๆ มา กระทำไปด้วยความละมุนละม่อม กระทั่งในที่สุด นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจออกแถลงการณ์ถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด คือ ต่อไปนี้จะเอา “นิติศาสตร์” นำหน้า “ หลักการทางปกครอง” ที่ผ่อนปรนและอลุ้มอล่วยมาระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งฝ่ายซึ่งอยู่ตรงข้ามกับผู้ชุมนุมอาจมีความไม่สบายใจ เมื่อทราบข่าวถึงประกาศแถลงการณ์นี้แล้วดูเหมือนจะมีเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญดังกึกก้องพอประมาณ
ที่ผ่านมารัฐบาลเองถือว่ามิได้ละเลย เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติได้ทำหน้าที่ไปตามมาตรฐานของตัวบทกฎหมาย และพฤติกรรมของการชุมนุมยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีการแตกหักกัน อะไรที่พอโอภาปราศรัย ขอความร่วมมือให้บ้างไม่ให้บ้างก็ใช้การรวบรวมพยานหลักฐานไว้สอยกันในภายหลังมากกว่าจะใช้วิธีการควบคุมฝูงชนโดยเคร่งครัด
ผมเชื่อลึกๆ ว่า กระบวนการจัดการม๊อบหรือการระดมสรรพกำลังในการชุมนุมที่ปรากฎขึ้นนี้ เรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” ไม่ต้องมาถกเถียงหรือเหนียมอายกันแล้ว ด้วยการชุมนุมหลายครั้ง ได้ทราบมาในหลายข่องทางว่า อาหารการกินอุดมสมบูรณ์มาก และเมื่อครั้งม๊อบเคลื่อนไปที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถึงกับเริ่มมีการออก “ธนบัตรรูปการ์ตูน” ไว้สำหรับไปแลกรับอาหารที่กลุ่มผู้ชุมนุมมักเรียกบรรดาร้านค้ารถเข็นอาหารเหล่านี้ว่า “ซีไอเอ” ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ที่มาของซีไอเอ น่าจะมากจากมีผู้ให้การสนับสนุน มิฉนั้นแล้ว ร้านรวงทั้งหลายคงไม่ไปถึงจุดนัดหมายก่อนผู้ชุมนุมในแทบทุกครั้ง แม้จะมีการประกาศจุดนัดพบผ่านระบบสื่อสารทางอิเลคทรอนิคส์ต่างๆ หลายช่องทาง แต่จะได้ยินเสมอๆ ว่า มีบุคคลนั้นบุคคลนี้เหมาร้าน หรืออาจนำร้านมาตั้งในพื้นที่ชุมนุมเหมือนงานเลี้ยงสังสรรค์ตามโรงเรียนหรือเวลามีงานรื่นเริง
การมี “ผู้ให้การสนับสนุน” ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่เกินความคาดหมาย เพราะอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนการชุมนุม ไม่นับ รถรา ม้า ช้าง ล้วนแต่ต้องใช้ทุนรอนอยู่ไม่น้อย ที่เห็นแบ่งแยกชัดเจนไม่ต่างกับวิกฤตการเมืองในสหรัฐอเมริกา คือ สื่อมวลชนหลายค่าย มีส่วนสำคัญทำให้กระแสข่าวของผู้ชุมนุมอยู่ในความสนใจและเป็นที่ติดตามแพร่หลายยิ่งขึ้น หนังสือพิมพ์บางฉบับอาจนำเสนอเรื่องของรัฐบาลรวมทั้งข่าวพระราชกรณียกิจไว้ต้นๆ แต่ถัดจากนั้นจะเป็นข่าวของผู้ชุมนุมและโปรยหัวข้อข่าวเป็นไปในทางแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือจะบอกว่าให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมก็ไม่น่าจะผิดความจริงแต่ประการใด
นี่คือ เรื่องน่ากลัว ที่ผมเองยอมรับว่า “กลัวมาก” เพราะในช่วงที่เป็นสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) เราเคยคุยกันในคณะกรรมาธิการการเมืองว่า การเมืองของเรา ต่างฝ่ายต่างรู้เท่าทันกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาล ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นจะรุกไล่ จัดหากำลังคนหรือยุทธวิธีในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ตนเองได้มีอำนาจ ทำให้เห็นได้ว่า แม้คนที่ประกาศปาวๆ ว่า รังเกียจรัฐประหาร หรือ การได้อำนาจมาโดยมิชอบ แต่วิธีการที่บางฝ่ายกำลังเรียกร้องด้วยการใช้กำลังเข้าหักหาญเช่นนี้ดูไปไม่น่าจะต่างอะไรกับการรัฐประหารอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เวลานี้ส่วนตัวผมเห็นว่า ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมทิ้งไพ่ออกมาเกือบหมดสำรับแล้ว ทำให้มองเห็นที่มาที่ไป เบื้องหน้าเบื้องหลังเกือบล่อนจ้อน รอแต่ “ไพ่ใบสุดท้าย” ที่ถ้าเป็นนักยุทธศาสตร์จริงๆ เขาจะเก็บทีเด็ดไว้หลังสุด (save the best for last) แต่ถ้า “คนเขียนบท” “คนที่เป็นแกนนำ” และ “คนที่อยู่ข้างหลัง” ไม่มีมุขเด็ดหรือไพ่ที่กินรวบได้จริง ใครอยู่ใกล้ก็ควรอยู่ให้ห่างเข้าไว้ เพราะมหันตภัยกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้พวกเขาทุกที