ประชาธิปไตยในกรีกยุคคลาสสิก
กรีก-นครเอเธนส์ 2500 ปีที่แล้ว เป็นประชาธิปไตยและเจริญรุ่งเรืองมากกว่านครรัฐใดๆ จึงน่าศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร
ในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง กรีกประกอบด้วยที่ราบลุ่มแคบๆ มีเขาล้อมรอบเป็นหย่อมๆ และเกาะเล็กเกาะน้อยมากมาย ทำให้เกิดนครรัฐอิสระหลายร้อยแห่ง นครรัฐซึ่งอยู่ตามระหว่างเขาและเกาะรักษาอิสรภาพไว้ได้ดีกว่านครรัฐบนผืนดินใหญ่ที่ติดต่อกันง่าย ซึ่งมักเสียอิสรภาพไปโดยรัฐที่แข็งแรงมากกว่า ภูมิประเทศของพวกกรีกที่ติดทะเลที่สงบ เดินเรือสะดวก ช่วยให้พวกเขาค้าขายทางเรือติดต่อกับนครรัฐอื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางความคิด ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ
พวกหัวหน้าชาติกุล (ตระกูลใหญ่) ในแต่ละชุมชนแต่เดิมนั้นเป็นใหญ่ด้วยการเลือกตั้ง แต่ต่อมาเมื่อพวกเขาร่ำรวยขึ้น และออกไปทำกิจการค้ายังเกาะหรือฝั่งทะเลต่างๆ มีคนอยู่ภายใต้การปกครองทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงกลายเป็นชนชั้นปกครองแบบราชา บางเมืองก็ปกครองโดยพวกตระกูลที่ร่ำรวย เกิดระบบการปกครองของกลุ่มคนรวยจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าคณาธิปไตย (Oligarchy) เข้าแทนการปกครองโดยหัวหน้าชาติกุล หรือพวกราชาคนเดียว
เมื่อเกิดการค้าขายและการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดเศรษฐีหน้าใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นอภิชนมาแต่เดิม รวมทั้งพลเมืองทั่วไปที่เป็นกำลังสำคัญในการทำสงครามซึ่งเกิดบ่อย พลเมืองชาวกรีกที่อิสระ (ไม่ใช่เชลยศึกหรือทาส) ที่มีโอกาสถืออาวุธต่อสู้ศัตรูสามารถรวมกันเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของตนได้มากขึ้น ทำให้เกิดการปกครองระบบที่สามขึ้นในนครเอเธนส์ในคริสต์ศตวรรษ เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย (Democracy แปลว่าการปกครองโดยประชาชน) นครรัฐเอเธนส์พัฒนาประชาธิปไตยเด่นที่สุด แต่มีระบอบประชาธิปไตยในนครรัฐกรีกอื่นๆ ด้วยในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
ระบอบประชาธิปไตยในเอเธนส์นี้จำกัดเฉพาะพลเมืองเอเธนส์ชายวัยผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่รวมผู้หญิง ทาส คนต่างถิ่นที่มาทำมาหากินอยู่ พวกคนรวยคงมีอำนาจแอบแฝงอยู่ ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงทางการเมืองในระยะแรกถูกกำหนดต้องเป็นผู้มีที่ดินเท่านั้น ต่อมาพลเมืองคงจะเรียกร้องหนักขึ้น เรื่องต้องมีที่ดินเลยถูกตัดออกไป
เพริเคลส (Pericles) ผู้ได้รับเลือกให้เป็นผู้ปกครองนครรัฐเอเธนส์อยู่หลายวาระ ได้กำหนดลงไปอีกว่าชาวเมืองที่มีสิทธิออกเสียงต้องสืบสายชาวเมืองมาทั้งบิดาและมารดาด้วย เพื่อจำกัดคนที่มีสิทธิทางการเมืองไม่ให้กว้างเกินไป ถ้าจะนับจำนวนประชากรทาส คนต่างเมือง ผู้หญิง ที่ไม่มีสิทธิทางการเมืองรวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าพลเมืองที่มีสิทธิออกเสียงในการปกครองประชาธิปไตยแบบเอเธนส์หลายเท่า
แม้กระนั้นก็ตาม นี่คือระบอบประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชนแห่งแรก เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนเข้าร่วมด้วยโดยตรง ที่ทำให้นครเอเธนส์มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วรรณกรรม และละคร ปรัชญา วิทยาการแขนงต่างๆ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เด่นชัดที่สุดในโลกยุคสมัยเดียวกัน (ศตวรรษที่ 5-4 ก่อน ค.ศ.) ที่มีอิทธิพลต่ออารยธรรมตะวันตกและต่อมาคือโลกทั้งหมดจนถึงยุคปัจจุบัน
นครรัฐอิสระของกรีกหลายแห่งก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือคณาธิปไตย (โดยคณะบุคคลชั้นสูง) ในระดับและรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ที่มีหลักฐานและพัฒนาเป็นระบบชัดเจนมากที่สุดก็คือนครรัฐเอเธนส์ (ชื่อทางการคือ นครรัฐอัตติกา แต่เนื่องจากเอเธนส์เป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุด บางครั้งจึงเรียกแบบหลวมๆ ว่านครรัฐเอเธนส์)
การที่พวกกรีกตั้งชุมชนแบบนครรัฐอิสระเล็กๆ ที่สนใจพัฒนาเรื่องระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยมากกว่าดินแดนอื่นในยุคสมัยเดียวกัน (ที่ส่วนใหญ่เป็นเมือง เป็นอาณาจักรแบบราชาธิปไตย) ส่วนหนึ่งมาจากสภาพภูมิศาสตร์การเมืองที่เป็นภูเขา และบางส่วนเป็นเกาะแก่ง มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย พลเมืองต้องทำหัตถกรรมและแลกเปลี่ยนค้าขายด้วย การเดินทางแลกเปลี่ยนค้าขายกับนครรัฐ/อาณาจักรใกล้เคียงทางเรือได้สะดวก ทำให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดอ่านกับคนอื่นๆ ด้วย อารยธรรมกรีกได้มาจากการเรียนรู้จากอียิปต์ เปอร์เซีย และอื่นๆ ด้วย
การที่คนกรีกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรขนาดเล็ก ช่างฝีมือ และพ่อค้า ทำให้นครรัฐต้องพึ่งกำลังของพวกเขาในยามสงคราม ทั้งทางบกและทางทะเล (ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างนครรัฐต่างๆ) ทำให้พลเมืองกรีกโดยเฉพาะเอเธนส์มีอำนาจต่อรองสูง รัฐหรือสังคมต้องพยายามประสานผลประโยชน์ให้คนทุกชนชั้น ทุกกลุ่ม อยู่ร่วมกันได้อย่างเที่ยงธรรมพอสมควร จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเป็นสงครามกลางเมือง และนครรัฐจะได้มีความสามัคคีเข้มแข็ง เพื่อป้องกันตนเองจากนครรัฐอื่นได้
จึงมีความพยายามจะพัฒนาการเมืองให้พลเมืองมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะที่นครเอเธนส์ที่เป็นเมืองใหญ่ เปิดเสรีทางการค้าและการให้คนต่างเมืองอพยพเข้ามาอยู่ และมีเศรษฐกิจรุ่งเรืองมากกว่านครรัฐกรีกอื่นๆ
เอเธนส์ (และนครรัฐกรีกอื่นๆ) ผ่านระบบการปกครองมาหลายแบบ และพบว่าระบบราชาธิปไตย (สืบทอดอำนาจให้ลูกได้) ระบบทรราช (เผด็จการโดยคนที่มีอำนาจสูงสุดที่อยู่ได้แค่ชั่วอายุตน) คณาธิปไตย โดยกลุ่มคนชั้นสูง ล้วนมีปัญหาข้อจำกัด ไม่อาจพัฒนาสังคมได้ดีเท่าที่ควร พวกเขาจึงสร้างระบอบประชาธิปไตย (Democracy) หมายถึงการปกครองโดยพลเมืองส่วนมาก ตั้งแต่การปฏิรูปด้านกฎหมายโดยโซลอนในปี 594 ก่อน ค.ศ. และต่อมามีการปฏิรูปโดยเพริเคลสในปี 508 ก่อน ค.ศ. หลังจากนั้นก็มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบประชาธิปไตยมาเรื่อยๆ บางยุคในเอเธนส์เกิดสงครามและการยึดอำนาจโดยคนชั้นสูง แต่อยู่ได้ไม่นาน พลเมืองก็ลุกฮือเอาระบอบประชาธิปไตยกลับมา
ระบอบประชาธิปไตยในเอเธนส์อยู่ได้ราวเกือบ 2 ศตวรรษ (200 ปี) และเป็นยุคที่เอเธนส์เจริญรุ่งเรืองมากที่สุด สามารถเอาชนะกองทัพรุกรานจักรวรรดิเปอร์เซียที่มีกำลังทหารมากกว่าหลายเท่าได้ถึง 2 ครั้ง เพราะพลเมืองเอเธนส์ในระบอบประชาธิปไตยมีความฉลาด มีจิตสำนึก ตื่นตัวทางการเมือง เข้าร่วมรบแบบป้องกันตนเองด้วยความสามัคคีกัน เพื่อพิทักษ์สังคมที่เขามีส่วนร่วมบริหาร กำหนดชะตากรรม
แต่ภายหลังเมื่อเอเธนส์มีอำนาจ ความมั่งคั่งและไปเอาเปรียบนครรัฐอื่นแบบจักรวรรดินิยมมากขึ้น ก็ถูกนครรัฐอื่นโดยสปาร์ตาและพันธมิตรร่วมมือกันทำสงครามเอาชนะเอเธนส์ได้ เอเธนส์จึงเสื่อมลง รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยด้วย ภายหลังที่อาณาจักรโรมันขึ้นมามีอำนาจแทนที่กรีก ช่วงแรกๆ พวกโรมันก็ยังรับเอาความเจริญด้านต่างๆ รวมทั้งประชาธิปไตยของกรีกไปใช้ในระดับหนึ่ง การปฏิวัติประชาธิปไตยในสหรัฐและฝรั่งเศสยุค 300 ปีที่แล้ว ก็เรียนรู้บางอย่างจากพวกกรีกยุคคลาสสิกด้วยเช่นกัน
(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล ประชาธิปไตยทางตรงในกรีกยุคคลาสสิคและบทละครเรื่องโพรมีธิอัส-ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล กำลังจัดพิมพ์โดยมูลนิธิ "เพื่อนหนังสือ” (เฟซชื่อนี้) ไลน์ 09-4203-7475)