ศึกอีคอมเมิร์ซจีน Tmall vs JD. com
เวลานี้กำลังเป็นยุคที่ใครก็ขายของออนไลน์ได้
Tmall vs JD. Com สองผู้เล่นยักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ในจีน เพิ่งเปิดศึกกันมาอย่างน่าสนใจ ทั้งสองฝ่ายมีแบ็กอัพรายใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง Alibaba และ Tencent หนุนหลัง ผู้สนใจบุกตลาดจีนออนไลน์ โดยเฉพาะแบรนด์ต่างๆ ควรรู้จักกับเว็บอีคอมเมิร์ซ B2C ทั้งสองนี้ไว้ว่า แตกต่างอย่างไร มีจุดเด่นอย่างไรบ้าง
อีคอมเมิร์ซ B2C : ก่อนอื่นมารู้จักกับคำว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ B2C (Business-to-Consumer) เนื่องจากนี่เป็นหนึ่งในรูปแบบการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตที่จัดได้ว่าผสมผสานข้อเด่นระหว่างการตลาดออนไลน์ และออฟไลน์มาผสานเข้าด้วยกัน คอนเซปต์ คือ การสื่อสารระหว่าง ผู้ผลิต หรือเจ้าของธุรกิจ กับผู้บริโภคตามชื่อเรียกนั่นเอง
สำหรับการขายสินค้า จะมุ่งขายสินค้าให้ผู้บริโภคทั่วไป ผู้ขาย คือ เจ้าของแบรนด์หรือบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคล เป็นกิจการที่มียี่ห้อสินค้าเป็นของตัวเอง ไม่ได้เป็นผู้ค้าอิสระ และต่างไปจากรูปแบบ C2C (Consumer-to-Consumer) ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคหรือใครก็สามารถขายสินค้าได้
ข้อดีที่สำคัญของ B2C คือ มีแบรนด์สินค้า จึงเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าได้มากกว่า ที่สำคัญ คือ สร้าง Value เพิ่มคุณค่าให้สินค้าได้ ซึ่งแน่นอนว่าเวลานี้ ช่องทางดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมมากในจีน
สินค้าแบบไหนที่นิยม : โดยมากแล้ว กลุ่มสินค้าในข่ายของเว็บ B2C มักเกี่ยวกับ เสื้อผ้า แฟชั่น ไลพ์สไตล์ กีฬา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง สกินแคร์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี เป็นต้น
มูลค่าในตลาดกำลังเพิ่มขึ้น : รายงานจาก CIW ในช่วงก่อนหน้าโควิด-19 ระบุว่า มูลค่ารวมของอีคอมเมิร์ซ B2C ในจีนเวลานี้ กำลังมีมูลค่าขึ้นไปแตะถึงหลัก 2.26 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจีนในภาพรวมช่วงสินปี 2019 ก็อยู่ที่ราว 25%
สำหรับภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซและชอปปิงผ่านออนไลน์ในจีนทั้งหมด คาดว่าจะขึ้นไปแตะมูลค่าการตลาดสูงถึง 9.8 ล้านล้านดอลลาร์ คาดเพิ่มเม็ดเงินในตลาดได้อีกประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2019 ที่ผ่านมา
ใครคือเจ้าตลาด : ปัจจุบัน เว็บไซต์ Tmall เครืออาลีบาบา ถือเป็นผู้นำตลาด ตามด้วย JD.com ในอันดับรองลงมา ส่วนอันดับอื่น ๆ เช่น Suning Vipshop และ Gome แต่แค่เฉพาะ Tmall และ JD.com ก็ครองส่วนแบ่งตลาดแล้วมากกว่า 81.9%
ในปี 2019 ที่ผ่านมา B2C ยังเป็นการแข่งขันระหว่างสองเจ้าใหญ่นี้เท่านั้น และเชื่อว่ายังเป็นเช่นนี้อีกในปีถัดไป เนื่องจากแบ็กอัพใหญ่ทั้งสองแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Tmall คือยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา ขณะที่ JD.com ของ Jingdong ยังมีหุ้นส่วนหลักคือ Tencent คอยหนุนหลังด้วย
B2C ปะทะ C2C : มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า เวลานี้กำลังเป็นยุคที่ “ใครก็สามารถขายของออนไลน์ได้” มีจำนวนมากขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งกลายเป็นว่าคู่แข่งของเหล่าแบรนด์ต่างๆ อาจไม่ใช่แบรนด์ด้วยกันเท่านั้น แต่รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ขายสินค้าในราคาถูกกว่า จนเกิดเป็นภาวะสงครามตัดราคาขึ้นในเว็บอีคอมเมิร์ซแทบทุกช่องทางในเวลานี้ จากรายงานปี 2019 ที่ผ่านมา พบว่าในจีน ส่วนแบ่ง C2C กำลังรุกเข้าพื้นที่การตลาดออนไลน์มากขึ้น และครองสัดส่วนกว่า 56% ขณะที่สัดส่วน C2C เมื่อปี 2013 มีแค่ 40%
สาเหตุที่ C2C ครองส่วนแบ่งมากขึ้น นอกจากการเข้าถึงเว็บยอดนิยมของ C2C เช่น Taobao เครืออาลีบาบา โดยเปิดให้บริการบุคคลทั่วไปให้ใช้เว็บเพื่อเป็นหน้าร้านตัวเองได้โดยไม่เสียค่าบริการ และใครก็เป็นเจ้าของร้านออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปบริษัท หรือจดทะเบียนนิติบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการให้บริการแอพลิเคชั่น C2C ที่เริ่มใช้งานแพร่หลาย เช่น Pinduoduo ซึ่งถือว่าเป็นแพลทฟอร์มที่กำลังนิยมในเวลานี้ด้วย
สินค้าไลพ์สไตล์ของแบรนด์ท้องถิ่นกำลังมาแรง : มีข้อมูลว่า กลุ่มสินค้าแนวไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เสื้อผ้า และอื่นๆ กำลังได้รับความนิยมมาก ครองส่วนแบ่งตลาดอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่เคยอยู่ราว 1 แสนล้านหยวน แต่เมื่อถึงปี 2017 กลายเป็น 9.85 แสนล้านหยวน
มีการวิเคราะห์ว่า ตลาดสินค้าประเภทนี้ก้าวกระโดดมาก หลังบริษัท Meituan เปิดแอพลิเคชั่น Ele.me และ Koubei ซึ่งกลายเป็นบริษัทหน้าใหม่สำหรับแบรนด์สินค้าท้องถิ่นเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองมากก็ คือ “ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก” ซึ่งมีการเติบโตถึง 2.3 ล้านล้านหยวน เมื่อปี 2018 และคาดว่าจะเพิ่มถึง 3 ล้านล้านหยวนในปี 2020
อีคอมเมิร์ซข้ามประเทศ : เป็นอีกรูปแบบที่ต้องจับตาเช่นกัน เมื่อสามารถทำเงินแตะหลัก 1 ล้านล้านหยวนได้ปี 2019 และหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกราว 3 แสนล้านหยวนในปี 2021 อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ตัวเลขต่างๆที่คาดการณ์ไว้อาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ที่สำคัญคือ ช่องทาง B2C จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก