‘โพรมีธิอัส’ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล

‘โพรมีธิอัส’ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล

Prometheus Bound (โพรมีธิอัส ถูกจองจำ) หนึ่งในละครโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่สุดของกรีกโบราณ สู่งานแปล 'โพรมีธิอัส ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล'

“ทรราชของเทพเจ้าทั้งหลายผู้นี้ ได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือของข้ามาก จนเขาตอบแทนข้าเต็มที่ด้วยความเลวร้าย เพราะว่าพวกเขาทรราชทั้งหมด ติดเชื้อโรคนี้ พวกเขาไม่เคยไว้วางใจเพื่อนของเขาเอง” บทละครเรื่อง Prometheus Bound (โพรมีธิอัส ถูกจองจำ) เขียนโดย Aeschylus (525-456/ก่อน ค.ศ.)

หนึ่งในละครโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคคลาสสิกของกรีกโบราณ หรือยุคที่นครเอเธนส์เจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปวิทยาการ ศิลปวรรณกรรม ทั้งในหมู่นครรัฐกรีกด้วยกันและในโลกตะวันตกเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว

ผมเลือกแปลบทละครสั้นๆ เรื่องนี้ เพราะเห็นว่า นอกจากจะมีเนื้อหา/แนวคิดร่วมสมัยกับโลกยุคปัจจุบันมากแล้ว ยังเป็นบทละครแบบร้อยกรองที่เขียนได้อย่างมีเนื้อหาสาระ มีความงดงามคมคายและสะเทือนใจสูง โดยตั้งชื่อเรื่องภาษาไทยว่า โพรมีธิอัส ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล เพราะทรราชในเรื่องนี้ คือ “มหาเทพซูส” ราชาของเทพเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแต่ผู้เดียวทั้งโลกสวรรค์ โลกมนุษย์และยมโลก

โพรมีธิอัสเป็นเทพรุ่นอาวุโส เคยช่วย “ซูส” ซึ่งเป็นเทพรุ่นหนุ่มกว่ายึดอำนาจรัฐจากเทพรุ่นพ่อได้ แต่เมื่อซูสขึ้นมาปกครองจักรวาล ซูสคิดว่าจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งพวกเทพถือว่าเป็นสัตว์ชั้นต่ำ อ่อนแอ ล้าหลัง โพรมีธิอัสไม่เห็นด้วยกับซูส เขาจึงขโมยไฟของเทพเจ้ามาให้มนุษย์ สอนศิลปวิทยาการต่างๆ และให้ความหวังแก่มนุษย์ ทำให้ซูสโกรธจัด สั่งลงโทษโพรมีธิอัสด้วยการล่ามโซ่ตอกตรึงเขาไว้ที่ภูเขาร้าง ที่ชายแดนที่ไม่มีใครย่างกรายเข้าไป โดยไม่มีกำหนด

บทละครคลาสสิกของกรีกในยุคโบราณเป็นมากกว่าบทละครเพื่อความบันเทิง คือเป็นทั้งเรื่องพิธีการกึ่งศาสนา และเป็นทั้งมหาวิทยาลัยสำหรับพลเมือง เพราะบทละครให้ความคิดอ่านและมุมมองทั้งทางจริยธรรมแก่พลเมือง ในยุคที่ชาวเอเธนส์สนใจถกเถียงกันเรื่องความคิดเรื่องเชิงปรัชญาแบบมีเหตุผล และการเมืองเป็นแบบประชาธิปไตยทางตรง (สำหรับพวกอิสระชนผู้ชาย)

เทศกาลแข่งขันการแสดงละครประจำปีในเอเธนส์ เป็นงานประเพณีที่สำคัญคล้ายงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีการเลือกตัวแทนประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นกรรมการตัดสินให้รางวัลนักเขียนที่ส่งบทละครมาแสดงแข่งขันกัน ทำให้นักเขียนบทละครเป็นกวีของประชาชน ผู้มักมีทัศนะไปทางประชาธิปไตยด้วย

คนกรีกยุคโบราณเมื่อ 2 พันกว่าปีที่แล้ว อยู่ในยุคก่อนที่มนุษย์จะสร้างศาสนาอย่างเป็นระบบ พวกเขาเชื่อในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลควบคุมปรากฏการณ์ของธรรมชาติ พลังทางสังคมและอาจแทรกแซงสังคมมนุษย์ได้ คนโบราณในเปอร์เซีย อียิปต์ อินเดีย จีน ก็มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าหลายองค์คล้ายๆ กัน แต่คนกรีกยุคนั้นสนใจเรื่องปรัชญาการหาความรู้และเหตุผลด้วย แม้คนกรีกจะหวาดเกรงและบวงสรวงเทพเจ้า แต่พวกเขาก็คิดว่ามนุษย์ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดด้วย พวกเขาไม่ได้คิดว่าเทพเจ้ายิ่งใหญ่จนวิจารณ์ไม่ได้

เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติและพฤติกรรมของเทพเจ้านั้น สะท้อนความโลภ โกรธ หลง รักใคร่ โกรธแค้น เกลียดชัง หาความสุขทางโลกีย์ ทำสงครามแย่งอำนาจกัน ฯลฯ ไม่ต่างจากพวกมนุษย์ เพียงแต่เทพเจ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่า และอยู่แบบคงกระพันคือไม่ตาย (อมรรตัย) ต่างจากมนุษย์ที่จะต้องตายในวันหนึ่ง (มรรตัย)

ละครเรื่อง โพรมีธิอัสฯ เน้นวิจารณ์มหาเทพซูส ว่าเป็นทรราชที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไม่เป็นธรรม เป็นละครสั้นแค่ภาคเดียวที่เหลือรอดมาถึงยุคของเรา ที่มีเนื้อหาสาระ มีความงามที่ดูสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง มีการแปลจากภาษากรีกเป็นภาษาต่างๆ มากมาย ได้สร้างแรงบันดาลใจต่อนักคิดนักเขียนในยุโรปรุ่นต่อมาหลายคน ทั้ง มิลตัน, เกอเต้, เชลลี่, คาร์ล มาร์กซ์ กวี นักเขียนยุคโรแมนติกและพวกสังคมนิยมหัวก้าวหน้าตีความละครเรื่องนี้ไปในทางว่านี่คือบทละครต่อต้านทรราชที่คลาสสิกและยิ่งใหญ่ที่สุด ในขณะที่นักวรรณกรรมแนวคิดแบบกลางๆ มองว่าพวกนักปรัชญา นักเขียนกรีกในยุคนั้นมองทั้งเทพเจ้าและคนแบบ 2 ด้าน คือมีทั้งด้านเลวร้ายและด้านดี 

แนวคิดสำคัญตอนหนึ่งคือ เฮอร์เมส เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร บริวารของซูสเดินทางมาพูดจาข่มขู่โพรมีธิอัสที่ถูกล่ามโซอยู่ ให้เปิดเผยเรื่องความลับที่รู้มาจากแม่ของเขา เทพีแห่งโลกที่เป็นผู้หยั่งอนาคตและรู้ว่าซูสมีชะตากรรมที่จะถูกโค่นโดยลูกชายคนหนึ่งของเขาในวันข้างหน้า โพรมีธิอัสยืนกรานไม่ยอมบอก จนกว่าซูสเปลี่ยนใจปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระก่อน

เป็นบทสนทนาที่ผู้เขียนให้โพรมีธิอัสเชือดเฉือนมหาเทพซูสและสมุนของเขาได้อย่างคมคาย ซึ่งน่าจะมีนัยหมายถึงการต่อต้านระบบทรราชในกรีกยุคนั้นด้วยเช่นกัน เพราะ “เอสคีลัส” ผู้เขียนละครเรื่องนี้เน้นบทบาทของโพรมีธิอัสให้เป็นตัวเอกให้โดดเด่นต่างจากตำนานอื่นๆ ที่มักจะเล่าเรื่องโพรมีธิอัสแบบไม่ได้ให้ความสำคัญเขามากนัก หรือบางตำนานมองว่า โพรมีธิอัสทำผิดกฎของทวยเทพด้วย

การเมืองในกรีกยุคนั้นก็มีความผันผวน บางช่วงเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่พลเมืองชายทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมประชุม บางช่วงเป็นคณาธิปไตย (ปกครองโดยกลุ่มชนชั้นสูง) และบางช่วงมีทรราชเป็นผู้ปกครองสูงสุดแต่ผู้เดียว แต่ในยุค 5 ศตวรรษก่อนคริสตศักราช กรีก โดยเฉพาะนครเอเธนส์มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ได้ชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแห่งแรกของโลก

นี่คือบทละครที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นสากล ที่ทำให้เรายังคงมองเห็นเผด็จการทางการเมืองของสังคมหลายแห่งในโลกปัจจุบันได้อย่างยอดเยี่ยมมาก แม้เอสคีลัสผู้เขียนจะเป็นเพียงมนุษย์เดินดินผู้เสียชีวิตไปตั้งแต่ราว 2,500 ปีที่แล้ว แต่งานบทละครของเขาคือ งานชั้นเทพที่ยังคงมีชีวิตอยู่อย่างเป็นอมตะ (ไม่มีวันตาย) เหมือนกับพวกเทพเจ้าในตำนาน

นอกจากตัวบทละครแล้ว ผมยังเขียนเรื่องระบอบประชาธิปไตยทางตรงในกรีกด้วย หนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยทางตรงในกรีกยุคคลาสสิกและโพรมีธิอัส ผู้ต่อต้านทรราชแห่งจักรวาล กำลังจัดพิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม ผู้สนใจจะสั่งซื้อแบบจองล่วงหน้าก่อนวันที่ 31 ธ.ค.นี้จะได้ราคาพิเศษที่ โทร/ไลน์ 094 203 7475 เฟซบุ๊ก:มูลนิธิ “เพื่อนหนังสือ”