อีกหนึ่งปีที่หายไป
ปี 2563 เป็นอีกปีหนึ่งที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตกต่ำลงเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างหนัก
ตามการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และแม้ว่าการตกลงของดัชนีหุ้นไทยนั้นก็ไม่ถึงกับรุนแรงมากเพราะตกลงมาเพียง 8.3% จากสิ้นปี 2562 แต่ในฐานะนักลงทุนระยะยาวผมก็รู้สึกว่าตลาดหุ้นไทยนั้น “ใกล้สิ้นหวัง” เพราะนี่นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ดัชนีตลาดค่อนข้างย่ำแย่ ปี 2561 ติดลบไป 10.8% ปีที่แล้วบวกเพียง 1% และปีนี้ที่ติดลบไปอีก 8.3% จะบอกว่าไม่แย่ก็ไม่ได้ เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ก็ประสบกับปัญหาโควิด-19 เหมือนกันและโดนหนักกว่า กลับค่อนข้างดี หลายแห่งบวกเป็นตัวเลข 2 หลัก ตลาดหุ้นไทยนั้นอยู่ในกลุ่มที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุดในโลก สำหรับนักลงทุนระยะยาวแบบผมแล้ว นี่เป็นอีกปีหนึ่งที่ “หายไป” หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยย่ำแย่มาหลาย ๆ ปีมาก
มองย้อนหลังกลับไปตั้งแต่สิ้นปี 2008 หรือปี 2551 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์มและดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 450 จุดนั้น ตลาดหุ้นไทยก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม พอถึงสิ้นปี 2555 ดัชนีปรับขึ้นเป็น 1,392 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว คิดเป็นผลตอบแทนไม่รวมปันผลถึงปีละ 32.6% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นและกลายเป็นช่วงเวลา “4 ปีทอง” ของตลาดหุ้นไทย แต่หลังจากนั้น ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด เคยปรับตัวขึ้นไปถึง 1,800 กว่าจุด เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาแต่แล้วก็ปรับตัวกลับลงมาใหม่ โดยรวมแล้ว ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา คือนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2556 ถึงมกราคม 2564 ดัชนีตลาดหุ้นยังคงอยู่ที่ “เท่าเดิม” ประมาณ 1,450 จุด กลายเป็น “8 ปี ของตลาดหุ้นที่หายไป” โดยที่นักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก “ไม่รู้ตัว” อาจจะเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นนักเล่นหุ้นระยะสั้นที่เล่นแล้วก็รู้สึกว่าสนุกน่าตื่นเต้น มีกำไร-ขาดทุนสลับกันไป และมีหุ้นที่ผันผวนรุนแรงให้เล่นได้ทุกวันจนไม่ตระหนักว่าราคาหุ้นไม่ได้ไปไหนเลยมา 8 ปีแล้ว
ผมลองมองย้อนหลังดูความเป็นไปของพอร์ตของตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันก็พบความจริงที่อาจจะเปลี่ยนมุมมองของผมต่อตลาดหุ้นไทยและ/หรือสิ่งที่ผมได้ทำและจะทำต่อไป ในช่วง 4 ปีทองของตลาดหุ้นไทยนั้น พอร์ตผมเองโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก คือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9 เท่า ในเวลา 4 ปี หรือคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 73.5% โดยที่มีการซื้อขายหุ้นน้อยมากรวมถึงการที่ไม่ได้ใช้การกู้หนี้หรือตราสารเพื่อเพิ่มอัตราทดกำไรอะไรเลย แต่หลังจากนั้น คือตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปีนั้น ผลตอบแทนต่อปีแต่ละปีก็ลดลงมาก มีเพียง 2 ปีที่ยังทำกำไรได้สูงถึงประมาณ 20-30% ในขณะที่ในอดีตตั้งแต่เริ่มลงทุนอย่างจริงจังในปี 2540 เป็นต้นมานั้น การทำกำไรปีละ 20-30% ต่อปีขึ้นไปเป็นเรื่อง “ปกติ”
ว่าที่จริง ในช่วง 8 ปีหลังตั้งแต่สิ้นปี 2555 จนถึงสิ้นปี 2563 ผลตอบแทนแบบทบต้นของพอร์ตผมเท่ากับแค่ปีละประมาณ 6% เท่านั้น ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังดีกว่าผลตอบแทนของตลาดที่ดัชนีไม่เพิ่มขึ้นเลยแต่ก็เป็นผลตอบแทนที่ย่ำแย่เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในอดีตมาก นอกจากนั้น ก็ยังย่ำแย่ถ้าเปรียบเทียบกับการลงทุนในดัชนีของตลาดหุ้นของประเทศอื่น ๆ อาทิเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนทบต้นประมาณปีละ 11.3% หรือตลาดหุ้นเวียตนามที่ให้ผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 13.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น ผลตอบแทนโดยรวมของผมกลับติดลบในระดับพอ ๆ กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ดูเหมือนว่า วิธีการลงทุนที่ผมกำลังทำอยู่นี้ ซึ่งเคยใช้ได้ผลดีกับตลาดหุ้นไทยในอดีตตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2555 เป็นเวลา 15-16 ปี นั้น อาจจะเริ่มใช้ไม่ได้อีกต่อไปในตลาดหุ้นไทยที่กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนานอย่างในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ และผมเองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปถ้าสภาวการณ์ต่าง ๆ ของประเทศและตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปนับจากวันนี้
สถานการณ์แบบนี้ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ของวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยทำผลงานได้ยอดเยี่ยมสุดยอดในช่วง 30 ปีแรก แต่หลังจากนั้นก็แพ้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 30 ปีหลัง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความมั่งคั่งของเขาถดถอยลงโดยเปรียบเทียบเนื่องจากช่วงที่เขาทำได้แย่กว่าตลาดนั้น เป็นช่วงเวลาที่ผลตอบแทนของตลาดสหรัฐค่อนข้างดีซึ่งทำให้ผลตอบแทนของวอเร็น บัฟเฟตต์ ก็ยังพอใช้ได้ไปเรื่อย ๆ ในช่วงเวลา 30 ปีหลัง ผลก็ค็ค็้้้็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ก็ยังมั่งคั่งขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่แทบจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการลงทุนที่เคยใช้มา 60 ปี
ปี 2563 นั้น สำหรับผมแล้วก็ไม่ใช่แค่เรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดูเหมือนว่าจะ “หายไป” แต่สิ่งอื่น ๆ รวมถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าต่าง ๆ อีกหลายอย่างในสังคมไทยก็ดูเหมือนว่าจะ “หายไป” ด้วย เริ่มตั้งแต่ “ความสุข” ส่วนตัวที่ผมเองแทบจะไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปสถานที่ไกล ๆ รวมถึงต่างประเทศที่ผมจะต้องไปทุกปีตั้งแต่มีครอบครัวและลูกโตพอที่จะเดินได้เองแล้ว การท่องเที่ยวทางไกลที่หายไปเพราะโรคโควิด-19 นั้น ผมคิดว่าทำลาย “ความสุข” สำหรับคนสูงอายุอย่างผมไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาน่าจะไม่เกิน 2 ปีนับจากวันนี้ผมก็คงจะสามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้เมื่อโควิด-19 สงบลง
ในภาพใหญ่ที่เป็นเรื่องของส่วนรวมนั้น เริ่มจากเศรษฐกิจก็ค่อนข้างชัดเจนว่าปี 2563 คือปีที่การเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยลงไปมาก การ “หาย” ไปนั้นไม่ใช่แค่ปีเดียว แต่จะเป็นอย่างน้อยสองหรืออาจจะ 3 ปี ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาที่เดิม ในเรื่องของสังคมเองนั้น ปี 2563 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีสำหรับสังคมไทยเลย เพราะนี่คือปีที่มีความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติโดยเฉพาะ “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย ทุกวันผมได้เห็น “ความขัดแย้ง” ที่แสดงออกผ่านสื่อต่าง ๆ โดยที่ดูเหมือนว่ายังไม่อาจจะประนีประนอมกันได้ และเราก็ไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่ความรุนแรงแบบไหน และสุดท้ายก็คือเรื่องของการเมือง ที่ดูเหมือนว่าจะ “หายไป” หรือไม่ได้มีพัฒนาการที่จะทำให้คนทุกกลุ่มยอมรับใน “กติกา” หรือรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหลายฉบับที่ใช้อยู่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ปีนี้หยุดอยู่กับที่ ปีหน้ายังไม่รู้จะก้าวหน้าไปได้ไหม
สิ่งที่น่าวิตกก็คือ ปี 2563 ที่ “หายไป” นี้ จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไปอีกหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน ในด้านของตลาดหุ้นเองนั้น ถ้าเกิดขึ้นอีกใน 2 ปีข้างหน้าก็จะกลายเป็น “ทศวรรษที่หายไป” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็อาจจะต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่าจะต้อง “ย้ายฐาน” การลงทุนของเราไปที่ไหนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีหรือเหมาะสม หรือไม่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแนวทางการลงทุนไปเลยซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ยากกว่าสำหรับคนที่ทั้งชีวิตการลงทุนก็เน้นแต่แบบ VI เป็นหลัก
ในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเองนั้น ที่จริงแล้วก็อาจจะสำคัญยิ่งกว่าตลาดหุ้นและการลงทุนเนื่องจากมันเป็นพื้นฐานหรือโครงสร้างหลักที่จะทำให้ประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของคนดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ถ้าพื้นฐานเหล่านั้นไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น การลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นก็ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวไม่ต้องพูดถึงความสุขของคนที่จะอยู่กันอย่างสงบและภราดรภาพ ในความรู้สึกของผมก็คือ สภาวะของสังคมและการเมืองนั้นเปรียบเสมือนน้ำในบ่อใหญ่ ส่วนคนก็คงคล้าย ๆ กับปลาที่ใช้ชีวิตหากินอยู่ในบ่อนั้น อาหารที่อยู่ในบ่ออาจจะไม่ได้อุดมสมบูรณ์มากนัก แต่ถ้าน้ำสะอาดและปราศจากมลพิษ อย่างน้อยปลาก็ยังอยู่ได้ตามอัตภาพ แต่ถ้าน้ำเสียหรือเต็มไปด้วยมลภาวะ ปลาทุกตัวก็ลำบากไม่ว่าจะมีอาหารเหลือเฟือแค่ไหน ดังนั้น สำหรับผมแล้ว หน้าที่ของทุกคนโดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสภาพน้ำก็คือ ทำให้สภาพน้ำดีขึ้น อย่าปล่อยให้เกิด “ปีที่หายไป” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเทศไทยในวันนี้มีเวลาเหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ ถ้ายังไม่ทำอะไร ในวันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็น “Failed State” หรือ “รัฐล้มเหลว” อย่างที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจและพื้นฐานต่าง ๆ ทางสังคมและการเมือง “ล่มสลาย” คนหมดสิ้นความหวังและประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้