จอร์เจีย? หัวใจของ‘ทรัมป์vs.ไบเดน 2024’
หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดในวันปีใหม่ จู่ๆ ก็เกิดข่าวดังจากฝั่งอเมริกาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อ โจ ไบเดน
ด้วยการสั่งสมาชิกสภาคองเกรสในอาณัติตนเองให้ไม่ยอมรับการสนับสนุนคะแนนเสียง Electoral Vote ให้กับไบเดน ซึ่งก็อาจจะทำให้พิธีการสาบานตนเข้าเป็นประธานาธิบดีของไบเดนในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ต้องสะดุดลงหรือไม่
คำถาม คือเหตุใดทรัมป์จึงกลับมาฮึดอีกรอบ ณ ตอนนี้ ในมุมมองของผม หนึ่งในคำตอบ คือ ทรัมป์หวังผลทางการเมืองต่อการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่รัฐจอร์เจียในวันที่ 5 ม.ค.2021 ที่ต้องเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขของผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยที่นี่ถือเป็นสมรภูมิแห่งสุดท้ายสำหรับคะแนนเสียงในวุฒิสภา
โดย ณ ขณะนี้ คะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันยังนำพรรคเดโมแครตอยู่ที่ 50-48 ซึ่งหากพรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้ทั้ง 2 ท่านได้ ก็จะทำให้คะแนนเสียงของทั้ง 2 พรรคในวุฒิสภาเท่ากันพอดี อย่างไรก็ดี พรรคเดโมแครตจะมี คามาล่า แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐ สามารถจะลงคะแนนเสียงให้พรรคเดโมแครตสามารถมีคะแนนเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ อย่างไรก็ดี ในมุมของพรรครีพับลิกันเองก็ต้องการชนะที่จอร์เจียทั้ง 2 ท่าน เพื่อให้คะแนนของตนเองมีมากกว่าคู่แข่งแบบชัดเจน
จุดนี้ถือว่าสำคัญมากต่อการทำงานของไบเดน เนื่องจากหากเดโมแครตไม่มีคะแนนเสียงข้างมากในวุฒิสภา จะทำให้การออกกฎหมายเพื่อรองรับนโยบายใหม่ๆ อาทิ โครงการพลังงานสีเขียวและโครงสร้างพื้นฐาน ทำได้ยากลำบากมากขึ้นเป็นทวีคูณ และนั่นเป็นจุดที่ทรัมป์สามารถใช้เป็นประเด็นในการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในอีก 4 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การที่ทรัมป์ออกลูกแอคชั่นโทรศัพท์ขู่เลขาธิการรัฐจอร์เจียซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน ให้แถลงว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการนับคะนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จอร์เจียเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จนเป็นข่าวโด่งดังนั้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าพรรครีพับลิกันยังมีกระแสดีอยู่ในสายตาของผู้ที่มาเลือกตั้งครั้งนี้ในจอร์เจีย
นอกจากนี้ ทรัมป์ถือว่าช้ำใจจากการเลือกตั้งที่จอร์เจียมากที่สุด เนื่องจากครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 ที่พรรครีพับลิกันต้องมาพ่ายแพ้ต่อเดโมแครตที่รัฐนี้ ซึ่งในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐเมื่อปี 2016 ทรัมป์ก็สามารถชนะฮิลลารี คลินตันที่นี่ได้เช่นกัน ที่สำคัญ การพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทรัมป์มีคะแนนน้อยกว่าไบเดนเพียงไม่ถึง 12,000 คะแนน จากผู้มาลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด 5 ล้านคน ซึ่งทำให้ทรัมป์ทำใจได้ยากมากต่อผลการเลือกตั้งที่จอร์เจีย
คำถามคือทำไมทรัมป์ถึงพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่นี่ แม้เขาเองจะเน้นการรณรงค์หาเสียงที่จอร์เจียในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐแบบไม่น้อยกว่ารัฐสำคัญอื่นๆ
คำตอบ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในรัฐจอร์เจียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลาดงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองแอตแลนต้า ได้ส่งผลให้มีการหลั่งไหลเข้ามาของคนที่จบการศึกษาสูงๆเข้ามา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคเดโมแครตมากกว่าพรรครีพับลิกัน นอกจากนี้ การที่ สเตซี อาบราม ที่เป็นคู่ชิงสังกัดพรรคเดโมแครตในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจียเมื่อ 3 ปีก่อน ทว่าพ่ายแพ้แบบเฉียดฉิวไปนั้น ได้สร้างเครือข่ายคะแนนเสียงของคนผิวดำทั้งในชุมชนและในสังคมออนไลน์ จนสามารถสร้างฐานคะแนนเสียงที่แน่นขึ้นระดับหนึ่งให้กับพรรคเดโมแครตในจอร์เจีย จนกระทั่งทรัมป์ต้องมาพ่ายแพ้ต่อไบเดนเมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจากนี้ การที่ทรัมป์ไม่ได้ไปร่วมงานศพของจอห์น ลูอิส ซึ่งเป็นฮีโร่ของชาวผิวดำคู่กับมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ ในอดีต เมื่อต้นปีที่แล้ว ที่จอร์เจีย ก็ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อชาวผิวดำที่จอร์เจียอยู่ไม่น้อย ยิ่งทำให้ทรัมป์เสียคะแนนเสียงของชาวผิวดำลงไปอีกไม่น้อย
สำหรับ 2 คู่ชิงวุฒิสมาชิกในรอบนี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง ราฟาเอล วาร์น็อค สาธุคุณในโบสถ์แบ๊บติสที่เมืองแอตแลนต้า ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำในการเลือกตั้งในรอบแรกเหนือคู่แข่งที่ร้อยละ 32.8 กับ เคลลี ลอฟเฟอร์ อดีตผู้บริหารในวอลล์สตรีท ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ที่ได้คะแนนเหนือคู่แข่งในรอบแรกที่ร้อยละ 25.9 ส่วนอีกคู่หนึ่ง เป็นการชิงชัยระหว่าง เดวิด เพอร์ดู นักธุรกิจวัย 70 ปี ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ปะทะกับ โจน ออสซอฟ นักหนังสือพิมพ์วัย 33 ปี ที่เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต
ผลโพลล่าสุดถือว่าทั้ง 2 คู่ค่อนข้างสูสีกันอยู่ไม่น้อย คงต้องมาดูกันว่า การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่จอร์เจียซึ่งถือว่าเป็นเดิมพันครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตทางการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ จะจบลงอย่างไร? และนั่นหมายถึงศึกการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐนัดรีแมทช์ “ทรัมป์ vs. ไบเดน ปี 2024” จะบังเกิดขึ้นหรือไม่?