มองภาพทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยปี 64
ในปี 2563 ที่เพิ่งผ่านไป ถือว่าเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ซึ่งเกิดจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการถดถอยเป็นอย่างมาก ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โดยในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดจาก 1.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 0.5% ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายหลักคือ ลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่ง ณ เวลาที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสแรก นโยบายทางการเงินสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว และช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการในเวลาต่อมา
ผลกระทบหนึ่งที่สำคัญของการปรับดอกเบี้ยนโยบาย คือการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับตัวลงให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากบุคคลธรรมดาได้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 0.25% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ก็มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ในปีนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจลงกว่า 0.5-0.8%
ภายหลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วนในช่วงครึ่งปีแรก จะสังเกตได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คงที่อยู่ในระดับเดิมในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยภายหลังการเปิดเมือง ที่ช่วยลดความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบื้ยนโยบายต่อเนื่องลงไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับนโยบายการให้ความช่วยเหลือที่เจาะจงไปยังแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้ละเอียดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2564 จึงมีแนวโน้มสูงที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงต้องการการสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใดภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่สูง เนื่องจากปัจจัยการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19
ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลือผ่านนโยบายทางการเงินเพื่อเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย แนวทางที่น่าสนใจคือการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้มีการนำมาใช้ไปแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันอัตราการนำส่งเงินอยู่ที่ระดับ 0.23% ซึ่งหากการลดเงินนำส่งกองทุนฯ อีกครั้งลงมาอยู่ที่ระดับ 0% ก็จะสามารถกระตุ้นการส่งผ่านของนโยบายทางการเงิน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดอัตราดอกเบื้ยเงินกู้ได้เพิ่มเติมอีก
สาเหตุที่ควรต้องมีการดำเนินนโยบายเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะมีผลต่อต้นทุนการระดมเงินฝาก ดังนั้น หากมีการปรับลดของดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบุคคลธรรมดา ปัจจุบันอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี หากปรับให้ลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำใกล้เคียง 0% ดังเช่นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในต่างประเทศ ย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบเป็นวงกว้างต่อประชาชนอย่างแน่นอน
หวังว่าในปี 2564 นี้ สภาพเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากทั้งปัจจัยภายในจากการบริโภคภาคเอกชนและปัจจัยภายนอกจากภาคการส่งออก พร้อมทั้งสามารถควบคุมและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศได้เป็นอย่างดี และสามารถเติบโตได้ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นนี้ต่อเนื่องไปได้ทั้งปีครับ