ปี 64 'พลังงานเข้มแข็ง' ฟื้นศก.รับมือโควิดรอบใหม่
ปี 2564 กระทรวงพลังงาน เตรียมแผนกระตุ้นการลงทุนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รวมเป็นเม็ดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ทั้งการลงทุนและช่วยดูแลเศรษฐกิจฐานราก
เปิดศักราชใหม่ปี 2564 ประเทศไทยก็เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างขึ้นมีผู้ติดเชื้อกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ และดูเหมือนว่ายอดผู้ติดเชื้อในสัปดาห์แรกของปีจะยังไม่มีวี่แววชะลอลง
ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชน เริ่มออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการรับมือด่วน ทั้งมาตรการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แม้ว่ารัฐบาลจะขอเวลาประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนตัดสินใจออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม
หากย้อนดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรกในปี 2563 นั้น กระทรวงพลังงาน ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ออกมาตรการเยียวยาได้ทันต่อสถานการณ์ โดยลดภาระรายจ่ายให้กับประชาชน รวมเม็ดเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจ 34,636 ล้านบาท,ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 3,500 ล้านบาท,ช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV รถสาธารณะ 810 ล้านบาท,แจกแอลกอฮอล์ 2 ล้านลิตรใน รพ.สต.ทั่วประเทศ 90 ล้านบาท และลดภารเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1,200 ล้านบาทต่อเดือน
และในปี 2564 กระทรวงพลังงาน ยังเตรียมแผนกระตุ้นการลงทุนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รวมเป็นเม็ดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก คือ 1. การสร้าง “พลังงานเข้มแข็ง” จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแผนพลังงานแห่งชาติ สร้างความชัดเจนกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ผลักดันลดสำรองไฟฟ้า ส่งเสริมแข่งขันเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า(EV)
รวมถึง เตรียมพร้อมเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (OCA) และกำหนดการส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 ในพื้นที่ EEC ที่เป็นการลงทุนรูปแบบใหม่สอดคล้องกับอนาคตของ EEC หลังจากรัฐบาลได้อัดเม็ดเงินราว 5.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนพื้นฐานทางพลังงานและประเทศให้เข้มแข็ง พร้อมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นยอดขายดีเซล(B10)ต่อเนื่อง กำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินหลักในปี2564 และร่วมขับเคลื่อนโครงการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผ่านการจัดสรรเงินของกองทุนอนุรักษ์ฯ ประมาณ 2,400 ล้านบาท
3.ส่งเสริมลงทุนพลังงานสะอาด เร่งรัดโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ กระตุ้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ เป็นต้น
อีกทั้ง การรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทรวงพลังงาน ยังเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีอำนาจเสนอแผนเยียวยาประชาชนหากต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศเหมือนช่วงเดือนเม.ย.2563 และสามารถนำมาตรการมาอนุมัติใช้ได้ทันที
เห็นได้ว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่การแก้ไขผลกระทบโควิด-19 ที่ลุกลามในหลายภาคส่วน ยังต้องอาศัยความร่วมมือทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ไม่เช่นนั้น แผนลงทุนด้านพลังงานในปี 2564 รวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท อาจไม่บรรลุเป้าหมาย หากยังสกัดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ไม่ได้โดยเร็ว