เร่ง 3 ประเด็นแก้วิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่
สวัสดีปีใหม่คุณผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ เปิดศักราชใหม่ 2564 เชื่อว่าทุกคนยังคงตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ผู้ประกอบการหลายคนกลับมากังวลกันใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เริ่มมี “รอยยิ้ม” กันบ้างแล้ว เพราะเศรษฐกิจเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่เห็นผลอย่างชัดเจน ช่วยกระจายรายได้ไปถึงร้านค้ารายย่อยได้จริง ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนได้จริง
เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ อย่าเพิ่งท้อกันครับ เวลานี้รัฐบาลพยายามหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่แล้ว และทางสำนักงบประมาณเอง ก็ออกมายืนยันด้วยว่า รัฐบาลมีเงินเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลระทบ
ผมอยากสะท้อนมุมมองภาคเอกชน หลังจากได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการหลายๆ กลุ่ม ยอมรับว่า กังวลการกลับมาระบาดระลอกนี้ที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เกรงว่าอาจมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจนไปต่อไม่ได้และต้องปิดกิจการ ทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจภาคเอสเอ็มอี เพราะก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการหลายคนก็พยายามประคับประคองตัวเองกันอย่างเต็มที่แล้ว
สิ่งที่ต้องการเสนอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนมี 3 ประเด็น คือ
1.มาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ ขอให้เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่งจาก 3,500 บาท เป็น 5,000 บาท และขยายโครงการไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน รวมทั้งเปิดเฟส 3 เพิ่มเติม เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด ขณะเดียวกันอยากให้ดึงกำลังซื้อคนมีเงินให้ออกมาใช้จ่ายเพิ่มเติม ให้เพิ่มวงเงินโครงการช็อปดีมีคืน จากเดิมที่ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท ขยายเป็น 50,000 บาท
2.มาตรการลดค่าใช้จ่าย อาทิ ลดค่าไฟฟ้าลง 5% ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และครัวเรือน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลดภาระค่าครองชีพประชาชน ขณะที่ธุรกิจไหนหรือจังหวัดใดถูกสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว เช่น สปา ฟิตเนส ควรยกเลิกการจ่ายประกันสังคมชั่วคราวไปก่อน ทั้งในส่วนของลูกจ้างและผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่างๆ
3.มาตรการเสริมสภาพคล่อง ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์พาณิชย์ หาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ หรือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันเอสเอ็มอีเป็น 50%
สำหรับมาตรการทุกอย่างที่ออกมา ขอให้มีประสิทธิภาพและถึงมือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับประโยชน์โดยตรง ไม่อยากให้เป็นมาตรการเหมาเข่งหว่านไปทั่ว เพื่อให้การใช้เม็ดเงินงบประมาณคุ้มค่ามากที่สุด ได้ประโยชน์สูงสุด เชื่อว่าหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 1.5–3.5% ลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้ในกรณีไม่มีการแพร่ระบาดระลอก 2 คาดการณ์จะขยายตัว 2-4% ขณะที่ภาคส่งออกจะขยายตัว 3-5%
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ อยากให้ภาครัฐเน้นย้ำการสื่อสารข้อมูลกับประชาชนให้ชัดเจนว่าการแพร่ระบาดโควิด -19 เกิดจากคนสู่คนเท่านั้น ไม่ใช่จากอาหารสู่คน หรือสินค้าสู่คน รวมทั้งต้องแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกนำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย เร่งนำตัวผู้กระทำความผิดขบวนการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศมาจัดการโดยเร็ว เร่งจัดการบ่อนผิดกฎหมาย การเร่งรัดวัคซีนเข้ามาให้ได้ตามที่รัฐประกาศไว้ มีปริมาณเพียงพอและกระจายออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งเพิ่งหมดกำลังใจกันนะครับ เชื่อว่าวิกฤติต่างๆ ที่เกิดครั้งนี้จะเป็นบทเรียนใหญ่ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันทำทุกอย่างให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะกลับมาเป็นโอกาสที่ดี สร้างความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างแน่นอน หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่ เฟซบุ๊กของผมตามลิงก์นี้ครับ www.facebook.com/ftichairman