ปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นปีชวดหรือ year of the rat ตามปีนักษัตรแล้วยังมีฝรั่งบางท่านบอกว่าเป็นปีหมา หรือ year of the dog
อันเป็นผลที่เมื่อถูกกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ แล้วท้ายสุดก็มีหมาเป็นเพื่อนและใช้ชีวิตด้วยกันตลอด บางท่านก็อาจจะบอกว่าเป็นปีแห่งการปรุงอาหาร เพราะ WFH ทำให้มีเวลาทำอาหารกินเอง จนหลายคนเป็นเชฟมือหนึ่งกันไป บ้างก็ว่าเป็นปีแห่งการเพาะปลูก ได้เรียนรู้ต้นไม้ชนิดต่างๆ ใบด่างหรือใบไม่ด่าง และการจัดสวนอย่างสวยงาม หรือแม้กระทั่งปีแห่งการใส่หน้ากาก ที่เราต้องใส่หน้ากากนานาชนิด ทั้งลวดลายสวยงามและหลากหลายฟังก์ชั่น เช่นมีการที่ใส่หน้ากากติดไมโครโฟน ไม่ใช่เพื่อแค่ขยายเสียง (เสียงใต้หน้ากากจะฟังได้ไม่ชัด) แต่ไมโครโฟนจะส่งสัญญาณผ่าน Bluetooth ไปยังมือถือเพื่อแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งผ่าน google translate ก็เรียกได้ว่าเป็นหน้ากากแปลภาษาก็ได้ ซึ่งก็มีสตาร์ทอัพชื่อ Donut Robotics จากญี่ปุ่นพัฒนาอยู่
จะเห็นว่า โควิด-19 ไม่ได้ทำให้วิวัฒนาการทางด้านนวัตกรรมด้อยลงไปเลย เพียงแต่ในแต่ละภาคส่วนอาจจะมีความก้าวหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งหนึ่งในกลไกตลาดทุนที่เกิดใหม่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ได้ทำให้เป็นตัวเร่งได้ คือ SPACsหรือ Special Purpose Acquisition Company ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปีที่ผ่านมา หลักการนี้มีเฉพาะที่ตลาดหุ้นสหรัฐที่ให้บริษัทมีแผนที่จะดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในนวัตกรรมใหม่สามารถระดมทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องมีธุรกิจจริงๆ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับการตีเช็คเปล่า ความเสี่ยงสูงมาก ในระยะแรกไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2017-2018 มีการระดมทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ปีที่ผ่านมา 2020 มีการระดมทุนกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์ผ่านการขาย IPO ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นถึง 8 เท่า คิดเป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่จะทำให้ความฝันต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และในปีที่ผ่านมากว่าครึ่งของทุนที่ระดมเป็นการต่อยอดความฝันด้านรถยนต์ไฟฟ้า เซนเซอร์ (Lidar) เพื่อช่วยด้านรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง (autonomous driving) และแบตเตอรี่หรือการกักเก็บพลังงาน เช่นหุ้น QuantumSpace ผู้ผลิต solid state battery ที่ แยกตัวจาก Stanford University ที่ราคาขึ้นจาก 10 ดอลลาร์ตอน IPO ไปสูงสุดที่ 131 ดอลลาร์นับว่าน่าทึ่งมาก ซึ่งก็เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญเมื่อปีที่แล้ว เพื่อผลักดันนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น
เมื่อได้คุยถึงเทรนด์ด้านการเงินในปีที่ผ่านมา ก็อยากคุยต่อถึงเรื่องของเทคโนโลยีที่น่าจะจับตามองในปีที่จะถึงนี้สัก 2-3 เทคโนโลยี (ขออนุญาตทำตัวเป็นนักพยากรณ์หน่อยนะครับ) ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการกักเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ ที่ทั้งในส่วนของความจุที่เพิ่มขึ้น ระยะเวลาใช้งานที่นานขึ้น และการชาร์จที่เร็วขึ้น ซึ่งความต้องการเหล่านี้มีลักษณะย้อนแย้งกัน เมื่อแบตเตอรี่จุมากขึ้น ก็จะหนักขึ้นและใช้เวลาชาร์จที่นานขึ้น ถ้าต้องชาร์จเร็ว จะทำให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น และใช้งานได้สั้นลง เป็นต้น ยังไม่พูดถึงเทคโนโลยีเรื่องการชาร์จ ที่เครื่องชาร์จใหม่ๆ เองก็มีน้ำหนักเยอะและสายที่ยาวและหนัก เทคโนโลยีชาร์จแบตเตอรี่ไร้สาย หรือ cut the cord จึงเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง การส่งผ่านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะที่เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ทั้งตัวจ่ายและตัวรับ น่าสนใจทีเดียว ต้องไม่ลืมว่าไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นเป็นกระแสตรง และไฟฟ้าในแบตเตอรี่ก็เป็นกระแสตรง แต่วันนี้เราแปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากโซลาร์ผ่านอินเวอร์เตอร์เพื่อเป็นกระแสสลับ แล้วจ่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้า เมื่อจะชาร์จแบตเตอรี่ ก็ต้องแปลงผ่านคอนเวอร์เตอร์เป็นกระแสตรงเพื่อเข้าแบตเตอรี่อีกทีหนึ่ง ความสูญเสียของพลังงานระหว่างการแปลงไปแปลงมา เมื่อเทียบกันแล้ว ก็น่าจะพอที่จะทดแทนกับการชาร์จแบบไร้สายที่มีการสูญเสียพลังงานเมื่อเทียบกับการชาร์จแบบมีสาย
อีกเทรนด์หนึ่งคือ การกักเก็บคาร์บอนและการซื้อขายคาร์บอน ท่านผู้อ่านคงเคยได้อ่านเรื่อง carbon capture and storage มาพอสมควร แต่ที่จะเล่าก็คือการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน ที่โดยปกติ โดยเฉพาะหลุมขนาดใหญ่ที่เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของแต่ละหลุมแล้ว การนำน้ำมันออกมาจะยากมาก วิธีหนึ่งที่จะให้สามารถปั๊มน้ำมันขึ้นมาได้มากขึ้นหรือนานขึ้นคือที่เรียกว่า enhanced oil recovery โดยผู้ผลิตจะปั๊มน้ำกลับเข้าไปในหลุมเพื่อไล่ให้ก๊าซและน้ำมัน (ไฮโดรคาร์บอน) ที่ยังค้างอยู่ก้นหลุมออกมาให้ได้ ซึ่งก็เป็นที่ปฏิบัติกันมานับสิบปี แต่ตอนนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ในออสเตรเลีย อเมริกาและนอร์เวย์เริ่มมีความคิดว่าแทนที่จะนำน้ำไปดันไฮโดรคาร์บอนที่ค้างหลุมอยู่นั้น ทำไมไม่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์แทน ซึ่งนอกจากจะได้น้ำมันมาเพิ่มแล้ว ยังเอาคาร์บอนกลับไปฝังกลบใต้น้ำอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้เป็นผู้ผลิตที่ carbon negative เพราะโดยปกติสัดส่วนที่ใส่น้ำ (หรือไฮโดรคาร์บอน) กลับเข้าไปนั้นมากกว่าน้ำมันที่ได้ออกมาหลายเท่าตัว และเมื่อมีตลาดซื้อขายคาร์บอน ก็สามารถนำ carbon credit มาขายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย
ส่วนอีกเทรนด์ที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ ตามที่ Jonathan Gruber และ Simon Johnson สองนักเศรษฐศาสตร์จาก MIT ได้ว่าไว้คือ Synthetic Biology ที่จะเปลี่ยนวิธีการคิดและการทำงาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี เกษตรกรรม จนถึง การแพทย์ การบำบัดโรค และอายุวัฒนะของพวกเรา ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับ AI ดังที่ Deep Mind ของ Google ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถคาดการณ์การคงรูปของโปรตีนที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตได้นั้น ซึ่งโดยปกติแล้ว การคาดการณ์ต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในรูปแบบต่าง 10^300 วิธี หรือ 1 แล้วมี 0 สามร้อยตัว ไม่รู้เหมือนกันว่าเรียกว่าอะไร แต่เป็นอะไรที่ซับซ้อนและยุ่งยากมาก การทดลองล่าสุดพบว่า การคาดการณ์และการจำลองทำได้ใกล้เคียงมาก คงต้องเรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่ยิงให้ทะลุท้องฟ้าไปยังพระจันทร์เลยทีเดียว หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Moonshot นั่นเองครับ