อธิบายให้หายข้องใจ

อธิบายให้หายข้องใจ

กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ กับ เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) ก่อให้เกิดการวิพากษ์ และนำไปสู่คำถามมากมายในสังคม

                   อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่หลักของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ที่จะต้องอธิบาย ให้สังคมได้รับความกระจ่างในทุกข้อซักถาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ สขค. และเป็น หนึ่งในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมากที่อนุญาตให้ ซี.พี. และ เทสโก้ สามารถควบรวมธุรกิจกันได้อย่างมีเงื่อนไข จึงขอใช้พื้นที่ของคอลัมน์นี้ ตอบคำถามที่ได้รับทราบมา

คำถามหนึ่งในบรรดาหลากหลายคำถามที่ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก คือ เหตุใด สขค. จึงไม่นำข้อเสนอของผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจ สอบถามประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในลักษณะของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) เพื่อนำผลของการรับฟังความคิดเห็นนั้นๆ มากำหนดเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตสำหรับการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ เฉกเช่นการปฏิบัติของหลายประเทศที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล?

คำตอบคือ การกระทำตามกระบวนการดังกล่าว อาจขัดต่อพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ 2560 ทั้งนี้เป็นเพราะ มาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ. ศ. 2560 บัญญัติไว้มีใจความโดยรวมว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจอาจยื่นคำร้องขอต่อ กขค. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเป็นการล่วงหน้า ในเรื่องต่อไปนี้ หนึ่ง การกระทำของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 50 ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อ พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ. ศ. 2560

และสอง การประกอบธุรกิจที่มีลักษณะตามมาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องของ การร่วมมือกันทางธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจที่แข่งขันกันในตลาดเดียวกัน มาตรา 55 ซึ่งเป็นเรื่องของการร่วมมือกันทางธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจที่แข่งขันในตลาดที่แตกต่างกัน มาตรา 57 ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีอำนาจเหนือตลาด แต่มีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และขัดต่อ พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ 2560 และมาตรา 58 ซึ่งเป็นเรื่องของการร่วมมือกันทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ และผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ อย่างไม่มีเหตุผลอันควร โดยก่อให้เกิดพฤติกรรมการผูกขาดหรือจำกัดการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งการร่วมกันทางธุรกิจดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม

ยิ่งกว่านั้น กขค. ยังสามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติก็ได้ โดยคำวินิจฉัยของ กขค. จะมีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องขอและตามขอบเขต รวมถึงระยะเวลาที่ กขค. กำหนด หากต่อมาภายหลังข้อเท็จจริงปรากฏต่อ กขค. ว่าข้อมูลที่ได้รับจากผู้ร้องขอเพื่อใช้ในการพิจารณาการวินิจฉัยของ กขค. ไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ยื่นคำร้องขอไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กขค. กำหนด กขค. มีอำนาจเพิกถอนคำวินิจฉัยได้

            จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ. ศ. 2560 มิได้เปิดช่องทางสำหรับการขอคำวินิจฉัยล่วงหน้าในเรื่องของการขออนุญาตหรือแจ้งผลการควบรวมธุรกิจ ดังนั้นการนำข้อมูลหรือข้อเสนอของผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจระหว่าง ซี.พี. และ เทสโก้ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นไปหารือกับผู้ขออนุญาตควบรวมธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการอนุญาตให้เกิดการควบรวมธุรกิจ ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ  อาจขัดต่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศเหล่านั้น เปิดโอกาสให้สามารถกระทำกระบวนการดังกล่าวข้างต้นได้ แต่ไม่ใช่สำหรับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ของประเทศไทย!