เส้นทางสู่ “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล”
กลุ่มอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดสำหรับนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูล
เมื่อหลายปีก่อนในนิตยสาร Harvard Business Review มีบทความ ระบุว่า อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือ ตำแหน่งงานที่มีเสน่ห์ที่สุดในศตวรรษที่ 21 (Data Scientist: The Sexiest Job of the 21st Century) และข้อมูลความต้องการตำแหน่งงานจากแหล่งต่างๆ ชี้ว่า งานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นที่ต้องการอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกและมีอัตราเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่กลับหาบุคลากรที่มีทักษะทางนี้ได้ยาก
ข้อมูล กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่ามากปัจจุบัน องค์กรต่างๆ จึงต้องการหาบุคลากรมาทำงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น จะเห็นได้ว่าตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลสำคัญมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากงานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ยังมีตำแหน่งงานนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) ที่ทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมและระบบไอทีในการจัดการข้อมูลด้วย
ล่าสุด บริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย ทำรายงานคู่มือฐานเงินเดือนปี 2564 รวบรวมอัตราเงินเดือนพนักงานออฟฟิศจากฐานข้อมูลการจ้างงานผ่านบริษัทปีที่ผ่านมา และพบว่ากลุ่มอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดสำหรับนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูล มีอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 - 50,000 บาท จึงไม่แปลกใจที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากสนใจอาชีพนี้ และสถาบันการศึกษาหลายแห่งเปิดสอนสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลระดับปริญญาตรีกันมากขึ้น
งานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นเรื่องใหม่ หลายคนหรือหลายองค์กรอาจสับสนกับบทบาทหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะงานด้านจัดการข้อมูลมีหลายเรื่อง ตั้งแต่บริหารจัดการข้อมูล นำข้อมูลมาแสดงผล วิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงพยากรณ์ข้อมูล งานบางด้านใช้ทักษะด้านไอทีตั้งแต่ จัดการระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ งานบางด้านต้องมีทักษะเขียนโปรแกรม งานบางด้านต้องมีทักษะสร้าง Dashboard แสดงผลข้อมูลออกมาให้สวยงาม เข้าใจง่าย งานบางด้านต้องมีความรู้ทางด้านสถิติและคณิตศาสตร์อย่างดี และงานบางด้านต้องมีความรู้เชิงธุรกิจ ดังนั้นจึงมีการแบ่งอาชีพทางด้านการจัดการข้อมูลออกมาเป็นหลายอาชีพ และงานหลายด้านก็อาจไม่ต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้วยซ้ำไป
หลายคนสนใจทำงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล แต่ไปเรียนเครื่องมือด้านไอที สนใจเรื่อง Big Data และเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Hadoop หรือให้ความสนใจกับการพัฒนาโปรแกรมภาษาต่างๆ เช่น R, Python รวมถึงใช้เครื่องมือสร้าง Dashboard สุดท้ายเมื่อทำงานด้านนี้ อาจไปทำงานเกี่ยวกับข้อมูลด้านอื่นมากกว่า เช่น เป็นวิศวกรข้อมูลทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมจัดการข้อมูล หรือเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลแสดง Dashboard เป็นต้น
ทักษะการเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ดีเป็นเรื่องยาก และต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน โดยเฉพาะต้องเก่งคณิตศาสตร์และสถิติ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องเข้าใจสถิติลึกซึ้ง สำคัญกว่าใช้เครื่องมือหรือการพัฒนาโปรแกรม ต้องศึกษาวิชาคณิตศาสตร์หลายวิชา เพราะทฤษฎีทำวิทยาศาสตร์ข้อมูลมีพื้นฐานจากวิชาคณิตศาสตร์
สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่ใช่เริ่มต้นแค่ใช้เครื่องมือหรือพัฒนาโปรแกรม ในอาชีพนี้อาจไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากนักไอทีด้วย โดยอาจแฝงอยู่ในทุกสาขาวิชาชีพที่สนใจคณิตศาสตร์ และสถิติ คนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ดี ต้องรู้จักตั้งคำถามในทุกเรื่อง ต้องสนใจเล่นกับข้อมูล ซึ่งคำถามอาจมีตั้งแต่ “เราจะพยากรณ์ได้หรือไม่ว่าจำนวนยอดคนติดโควิดในไทยรอบใหม่มีสูงสุดเท่าไร” ไปจนถึง “ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดฤดูกาลที่ผ่านมายิงเฉลี่ยนัดละกี่ประตู”
ผมจำได้ว่าสมัยผมเด็กๆ อยู่ชั้นประถมต้นผมชอบเล่นกับข้อมูล บางวันไปนั่งจดทะเบียนรถและนับจำนวนรถที่หน้าบ้าน ชอบดูสถิติและตารางผลกีฬาและนำมาเปรียบเทียบ และเมื่อเรียนสูงขึ้นก็ชอบวิชาสถิติ ทักษะเหล่านี้จำเป็นสำหรับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะหากเราไม่รู้จักการตั้งคำถามไม่รู้จักสังเกตข้อมูลต่างๆ ก็ยากที่จะทราบได้ว่าเราจะนำข้อมูลมาใช้เรื่องใด
อีกทักษะที่จำเป็นของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือ ความเข้าใจธุรกิจด้านนั้นๆ เช่น ทำทางด้านเงิน ต้องมีความรู้พื้นฐานเศรษฐศาสตร์ ด้านการแพทย์ควรมีความรู้สาธารณสุข จะเห็นว่าการมีความรู้เหล่านั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมาหลายปี หรือต้องจบการศึกษาด้านอื่นมาด้วย
ดังนั้นแม้อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเป็นอาชีพน่าสนใจ แต่เส้นทางสู่อาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีทักษะหลายด้าน และต้องอาศัยประสบการณ์ทำงานพอสมควร ทุกคนพัฒนาตัวเองสู่สายงานอาชีพนี้ได้ หากได้เรียนรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพิ่มเติม
ใช่ครับทุกคนสามารถพัฒนาทักษะตัวเองให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้ แต่ต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดี และรู้จักที่จะตั้งคำถามจากตัวเลขที่พบเห็น