Hotline: สายตรงธุรกิจ 'ม้าเร็ว' ตามติดเศรษฐกิจไทย
วิกฤติโควิด 19 ได้สร้างความปั่นป่วนต่อระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นความท้าทายอย่างยิ่งแก่ทุกภาคส่วนในการประเมินผลกระทบ
ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา (Lagging indicator) เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนภาวะที่แท้จริงได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและระยะข้างหน้าจึงมีความสำคัญ
ภายใต้แนวคิด Business Liaison Program (BLP) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำมากว่า 10 ปี เราได้ต่อสายตรงไปยังกูรูในหลายสาขาธุรกิจ สมาคม และองค์กรเอกชนอย่างน้อย 800 รายต่อปี เป็นเหมือน “ม้าเร็ว” ที่คอยส่งสัญญาณเตือนจากผู้ประกอบการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์แก่ ธปท. ในการดำเนินนโยบายในรูปแบบ รู้ก่อน รอดไว ปรับใช้ได้ทันการณ์
ในครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังต่อสายตรงไปยังภาคธุรกิจ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของหลายธุรกิจสะดุดลงและซ้ำเติมผลประกอบการที่กำลังจะฟื้นตัว หากเจาะลึกถึงกลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะเห็นว่าได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจสาขาอื่น และรวดเร็วกว่าการระบาดครั้งก่อน
ยอดจองที่พักและการจัดสัมมนาในทุกแหล่งท่องเที่ยวถูกเลื่อนหรือยกเลิกเกือบทั้งหมดในทันที ขณะที่อัตราการจองล่วงหน้าในไตรมาส 1 ปีนี้ เหลือต่ำกว่า 10% เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละจังหวัดที่เข้มงวด มีโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นทั้งในเขตพื้นที่สีแดงและเมืองรอง สำหรับโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักในภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังปิดกิจการชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดตั้งแต่ระลอกแรก เช่นเดียวกับรายได้ของธุรกิจนวดสปาที่หายไปหลังถูกสั่งปิดในหลายพื้นที่ แม้จะกลับมาเปิดได้บ้างแล้วแต่รายได้ก็ยังหายไปเกินกว่าครึ่ง
ด้านธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ทั้งสายการบินและผู้ประกอบการเดินรถอิสระอย่างผู้ขับแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง พบว่ารายได้ลดลงถึง 60-90% เมื่อผู้โดยสารเลี่ยงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ สำหรับธุรกิจร้านอาหารมียอดขายลดลง 30-50% จากความกังวลเรื่องความสะอาดของวัตถุดิบ การจำกัดเวลานั่งในร้าน รวมถึงการยกเลิกงานสังสรรค์ของหลายบริษัท รายได้ที่ลดลงมาก ทำให้หลายธุรกิจคาดว่าจะมีสภาพคล่องเหลือเพื่อประคองธุรกิจอีกเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก-กลาง และประเมินว่ากว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ ก็ต่อเมื่อนักท่องเที่ยวได้รับวัคซีนเป็นวงกว้าง จึงเลือกปิดกิจการชั่วคราวไปก่อนเพื่อลดภาระต้นทุน
กลุ่มธุรกิจการค้าได้รับผลกระทบรองลงมา โดยเห็นผลกระทบต่อยอดขายทันทีตั้งแต่ต้นปี จากการที่ประชาชนมีความกังวลมากกว่าการแพร่ระบาดครั้งก่อน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับเดิมและไม่มีการเร่งกักตุนสินค้า โดยสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดขายลดลงราว 10-30% ซึ่งเห็นได้ชัดในกลุ่ม Supplier ร้านอาหาร ร้านค้าในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยมียอดขายลดลงมากกว่าจากพฤติกรรมของลูกค้าที่ระมัดระวังการใช้จ่าย แม้จะเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของยอดขายโดยรวม เช่นเดียวกับร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่รายได้ลดลงกว่า 50% จากการลดกิจกรรมนอกบ้าน ผู้ประกอบการประเมินว่ายอดขายจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ขณะที่ร้านค้า SMEs ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเพียงพอหมุนเวียนในธุรกิจได้อีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่อาจซ้ำเติมกำลังซื้อที่เปราะบางอยู่แล้วให้ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก ซึ่งสร้างความกังวลแก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งหลายแห่งชะลอการเปิดโครงการใหม่ ส่งผลต่อเนื่องถึงผู้รับเหมาก่อสร้างงานเอกชนหลายรายที่งานเริ่มขาดมือและต้องแข่งกันประมูลงานสูงขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก-กลางบางรายที่มีงานเหลือเพียง 25% จากช่วงปกติ
ธุรกิจการผลิตเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่น ยอดคำสั่งซื้อในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ และไม่ติดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเหมือนคราวก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประสบปัญหาค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นสูงจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออก ขณะที่ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่หลายคนสงสัยว่าอาจขายของได้ยากในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกังวลการติดเชื้อในอาหาร กลับพบว่าโรงงานขนาดใหญ่ยังมีคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศในระดับปกติ แต่กลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูปขนาดเล็ก-กลางในพื้นที่สมุทรสาครอาจได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับผลบวกด้วย เช่น ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) และธุรกิจประกันภัย เป็นต้น
นอกจากสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจที่อาจโดนเฉือนทิ้งในวันที่กิจการดำเนินต่อไปได้อย่างยากลำบาก คือ ลูกจ้าง แม้ปัจจุบันยังไม่เห็นการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากมีการปลดไปแล้วบางส่วนตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งก่อน แต่ในระยะต่อไปหลายธุรกิจอาจจำเป็นต้องเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ หลายธุรกิจยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากการจ้างพนักงานประจำเป็นพนักงานรายวันมากขึ้น รวมถึงรักษาไว้เฉพาะพนักงานที่มีทักษะสูงหรือทำงานได้หลายหน้าที่ (Multi-tasking) เท่านั้น
ด้วยผลกระทบที่เกิดกับแต่ละภาคธุรกิจแตกต่างกัน มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งที่จะช่วยภาคธุรกิจ และพยุงการจ้างงานเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic scar) จึงควรต้องลงไปอย่างตรงจุดและทันเวลา เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจและครัวเรือนผ่านเวลาที่ยากลำบากไปได้
นอกจากการจับชีพจรเศรษฐกิจผ่านการต่อสายตรงตามแบบฉบับของ BLP แล้ว ธปท. ยังได้พัฒนาดัชนีชี้วัด Sentiment อีกหลายตัวเพื่อใช้ประเมินภาพความเป็นอยู่ของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งมีเครื่องชี้อะไรบ้างท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในฉบับต่อไป.
*บทความโดย จิตา จีรเธียรนาถ และณัคนางค์ กุลนาถศิริ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย