ข้อโต้แย้งต่อวุฒิสภากรณีปัดตก ว่าที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ข้อโต้แย้งต่อวุฒิสภากรณีปัดตก ว่าที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

เพื่อความกระจ่างและความเป็นธรรม จากกรณีที่วุฒิสภา มีมติไม่ให้ความเห็นชอบนายรัชนันท์ ธนานันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

จากกรณีที่วุฒิสภา มีมติไม่ให้ความเห็นชอบนายรัชนันท์ ธนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากพบว่า นายรัชนันท์เคยถ่ายรูปและไปทักทายต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยที่ดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตฟินแลนด์ เมื่อปี 2559 นั้น ได้สร้างข้อกังขาและข้อวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงของศาลปกครอง นักการทูต นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

โดยวุฒิสภาเห็นว่านายรัชนันท์มีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะที่ไปถ่ายรูปคู่กับนายทักษิณที่เป็นผู้ต้องหาหนีคดี และอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยก่อนหน้านี้นายรัชนันท์เคยถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อที่ประชุมวุฒิสภามาแล้ว เมื่อ 17 ก.พ.2563 แต่ที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบ แต่ต่อมาที่ประชุมคณะตุลาการศาลปกครอง(กศป.)ยังมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เสนอชื่อนายรัชนันท์มาให้วุฒิสภาพิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563 แต่ก็ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้งเมื่อ 19 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา

จากเหตุผลข้างต้นผมเห็นว่าเพื่อความกระจ่างและความเป็นธรรม ผมจึงอยากจะเสนอความเห็นในทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาความชอบธรรมของวุฒิสภาในการมีมติไม่เห็นชอบในครั้งนี้ว่า

1.ปัญหาข้อเท็จจริง

          1.1 การจัดงานอันเป็นเหตุที่นำไปสู่การข้อสงสัยนั้นคือการจัดพิธีเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ที่วัดพุทธาราม ประเทศฟินแลนด์ และในโอกาสนี้ทางวัดได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลาปฏิบัติธรรมขึ้นในวันเดียวกัน โดยทางวัดได้เชิญนายรัชนันท์ในฐานะเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ซึ่งทั้งสองงานเป็นงานเปิดให้แก่บุคคลทั่วไปเข้าร่วม

          1.2 นายรัชนันท์ได้ยืนยันต่อทั้งกระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(กศป.) และคณะกรรมาธิการฯของวุฒิสภาว่าไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีความสัมพันธ์ใดๆกับนายทักษิณ ทั้งในหน้าที่ราชการหรือในทางส่วนตัว  และไม่เคยพบเห็นนายทักษิณมาก่อนและภายหลังเหตุการณ์ที่วัด พุทธารามฯเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2558 แล้วก็ไม่เคยพบเห็นนายทักษิณจวบจนปัจจุบัน และยืนยันว่าไม่ได้รู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการไปร่วมงานที่วัดพุทธารามของนายทักษิณ อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้เชิญหรือให้การต้อนรับหรือสนทนากับนายทักษิณแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังไม่เคยได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าในรูปแบบใดๆที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่วัดพุทธารามแต่อย่างใดทั้งสิ้น ซึ่งทั้งกระทรวงการต่างประเทศตามลำดับการบังคับบัญชาจนถึงรัฐมนตรีว่าการฯ เมื่อได้รับรายงานจากนายรัชนันท์แล้วก็ไม่เคยสั่งการใดๆหรือไม่เคยตำหนินายรัชนันท์อีกด้วย อีกทั้งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(กศป.)ก็ไม่ติดใจและยังยืนยันในความเหมาะสมที่จะเสนอชื่อให้นายรัชนันท์เป็นตุลาการศาลปกครองเป็นครั้งที่สองอีก

          1.3 ในส่วนของประเด็นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่คณะกรรมาธิการฯติดใจนั้น ตามหลักปฏิบัติทั่วไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่สืบหาที่อยู่ของผู้ร้ายที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำคำร้องไปยังประเทศที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางการทูต โดยเอกอัครราชทูตไทยหรือกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆตามกฎหมายในการริเริ่มกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่อย่างใด เพียงแต่รายงานข่าวสารใดๆที่อาจเป็นประโยชน์ให้กระทรวงการต่างประเทศทราบเท่านั้น ที่สำคัญก็คือประเทศไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศฟินแลนด์อีกด้วย

2.ปัญหาความชอบธรรม

            2.1 สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือการสรรหาจากประชาชน จึงไม่มีความยึดโยงใดๆกับประชาชนเลย อีกทั้งยังเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสมทั้งๆที่ กศป.และ กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ติดใจแต่อย่างใด จริงอยู่วุฒิสภาอาจมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการ แต่การใช้ดุลพินิจตามกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

          2.2 สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่มาจากอดีตข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ซึ่งมักจะเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นคู่ปรับกัน

          2.3 มีข้อสงสัยว่าสมาชิกวุฒิสภาบางคนที่เคยมีข้อพิพาทกับนายรัชนันท์ ได้ถือโอกาสแก้แค้นเอาคืนเอากับนายรัชนันท์ และก็น่าเป็นห่วงว่าตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะว่างลงด้วยเหตุเกษียณอายุในโอกาสที่จะถึงนี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งคงจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน /คณะกรรมการการเลือกตั้ง 7 คน/ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน/คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 9 คน /คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7 คน แต่ในรัฐธรรมนูญฯไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด การกำหนดให้วุฒิสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นไปตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ.2542 เท่านั้น

ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่านอกจาก กศป.จะต้องมีความกล้าหาญที่จะมีมติยืนยันการเสนอชื่อนายรัชนันท์ให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดกลับไปยังวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง(ถ้าอายุตัวของนายรัชนันท์ยังอยู่ในคุณสมบัติ)แล้วยังเห็นควรที่จะมีการทบทวน พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ก็เพื่อความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ แต่ยังยึดโยงกับประชาชนอยู่ แต่การยึดโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นมีได้หลายวิธีการ เช่น การทำประชาพิจารณ์อย่างเข้มข้น ฯลฯ มิใช่ให้องค์กรที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช.ในบทเฉพาะกาลหรือเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครฯในบทถาวรมาทำหน้าที่นี้ ทั้งนี้ ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชานและความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ มิใช่การแก้แค้นเอาคืน หรือเหตุผลทางการเมืองว่าใครไปถ่ายรูปกับใครแล้วก็ไปเหมาว่าเขาไม่เป็นกลางขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดซะอย่างนั้นน่ะครับ.