ท่องเที่ยวไทย: จะตั้งหลักใหม่กันอย่างไร

ท่องเที่ยวไทย: จะตั้งหลักใหม่กันอย่างไร

มูลนิธิสถาบันฯ นำเสนอรายงานศึกษาการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในระยะสั้นและระยะปานกลางต่อ บพข. อ้างอิง 3 แนวโน้มอนาคตในวันข้างหน้าหลังโควิด-19

              การคาดการณ์พลวัตเศรษฐกิจโลกในรายงานวิจัยซึ่งมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เสนอต่อหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระยะสั้นและระยะปานกลางระบุว่า องค์กรระหว่างประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถกลับมาถึงเทรนด์เดิมดังเช่นปี พ.ศ. 2562 ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างเร็วก็จะเป็นปี พ.ศ. 2567 แต่อาจจะมีบางประเทศที่ฟื้นตัวได้ก่อน เช่น จีนและเยอรมนี แต่สำหรับไทยนั้นเนื่องจากเรามีความพึ่งพารายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติสูงสุดเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังรูปที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวของเราจึง “กรอบ ไปกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย

161296026320

อัตราการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละประเทศ

ศูนย์วิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยวของ ททท. คาดการณ์ว่าไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปีคือในปี พ.ศ. 2569 ถึงจะกลับมาเทียบเท่าปี พ.ศ. 2562 ระหว่างนี้ก็เป็นระยะเวลาของการกัดฟันสู้และตั้งหลักใหม่เพื่อรอเวลาฟ้าทองผ่องอำไพอีกครั้งหนึ่ง การตั้งหลักใหม่คราวนี้เราคงไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอย่างปัจจุบันทันด่วนแล้วรับมือไม่ได้เหมือนเดิมอีก ถ้าเช่นนั้นเราจะต้องทำอย่างไร

เริ่มจากมาดูแนวโน้มอนาคตในวันข้างหน้าหลังโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร แนวโน้มอะไรที่จะมีความต่อเนื่องพอที่เราจะลงเสาเข็มของธุรกิจในอนาคตได้

แนวโน้มแรกก็คือ แนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะเข้ามาทั้งในรูปของสังคมไร้เงินสด การสื่อสารและส่งผ่านข้อมูล การโฆษณาและซื้อขายสินค้าและบริการ การใช้เทคโนโลยีที่สามารถสร้างโลกจำลองแบบดิจิทัลจนรู้สึกคล้ายว่าอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น Virtual Reality (VR) คือการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงขึ้นมาใหม่ Augmented Reality (AR) ซึ่งเป็นการแต่งเติมสภาพแวดล้อมจริงและ Mixed Reality (MR) หมายความว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวในวันหลังโควิด-19 ต้องเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล

แนวโน้มที่สองที่จะต่อเนื่องอย่างชัดเจน ก็น่าจะเป็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งนอกจากจะมาเที่ยวแล้วก็ยังจะมาลงทุนอีกด้วย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยก็มีทางเลือกว่าจะแข่งขันด้วยราคาหรือเป็นพันธมิตรในห่วงโซ่การผลิตกับจีน และยังอีกทางเลือกหนึ่งคือ ให้บริการที่แตกต่างจนธุรกิจจีนเลียนแบบไม่ได้

แนวโน้มที่สามก็คือ นักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 จะเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งออกเที่ยวก่อน ต้องการการเดินทางเชิงวิถีชีวิตและประสบการณ์มากขึ้น ในขณะเดียวกันรูปแบบการเดินทางก็ยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น มุ่งในกิจกรรมที่มีผลลัพธ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนขึ้น เช่น อาจต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น หรือมีมิตรภาพระยะยาวกับชุมชนท้องถิ่น จุดนี้คือนวัตกรรมท่องเที่ยวที่จะนำเสนอวันนี้

เมื่อมาพิจารณาทั้ง 3 แนวโน้มนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นขนาดไหนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ให้สามารถใช้สื่อออนไลน์นำ Asset on Location ของตนที่ขณะนี้เป็น One time product ให้เป็น All time product ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่สามารถขายได้ทั้งในและนอกประเทศได้ทุกเวลาโดยไม่จำกัดว่านักท่องเที่ยวจะมาเยือนหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนท่องเที่ยวควรเลือกเฟ้น Asset on Location ในชุมชนของตน ที่เป็นจุดเด่นให้เป็นจุดขาย เช่น บรรยากาศหรืออัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร อาหาร ของที่ระลึก ส่วน One time product คือ สินค้าและบริการที่ขายนักท่องเที่ยววันนี้ โดยมองนักท่องเที่ยวว่ามาซื้อครั้งเดียวแล้วก็ไป แต่การเป็น
All time product นั้นจะขายนักท่องเที่ยวได้ทุกเวลา ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิมหรือไม่ก็ได้ ต้องทำให้ลูกค้าจำได้ คิดถึงสินค้าและบริการของเราอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าเราต้องเติม เสริม แต่งสินค้าของเราให้น่าชม น่าซื้อ แปลกใหม่ ตลอดเวลา จะต้องสามารถทำให้นักท่องเที่ยวสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับบุคคลหรือองค์กรของเรา เช่นมี Blogger ที่เป็นคนท้องถิ่นเสนอขายสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยวผ่านโซเชียลมีเดีย

ยกตัวอย่าง YouTuber ชื่อหลี่จื่อชี Li Zi Qi อายุ 31 ปี จากมณฑลเสฉวน เสนอบรรยากาศและวิถีชีวิตชนบทบน Youtube จนมีชื่อเสียงโด่งดังมีผู้ติดตามถึง 14.2 ล้านคน มียอด Views ถึง 2,155 ล้านวิว สามารถได้รายได้จาก Youtube อีกทางหนึ่ง ชุมชนท่องเที่ยวจึงควรหาช่องทางซึ่งสามารถขายบริการและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ชีวิตลูกช้างน้อย อาหารสำเร็จรูปหรือของที่ระลึกจากหมู่บ้านทั้งเป็นสินค้าและองค์ประกอบแบบ Do-it-Yourself สูตรอาหารและเครื่องปรุง เช่น ขนมครกผงบรรจุซอง คอร์สออนไลน์เกี่ยวกับอาหารถิ่น Clip Zumba อีสาน

รัฐอาจส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็น Youtuber หรือสร้างเวทีให้ Blogger หรือ Influencer ท้องถิ่นที่มาจากแหล่งท่องเที่ยวหรือองค์กรของตน เพื่อให้สามารถสร้าง Fan Club กับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างรายได้จาก Youtube อีกทางหนึ่ง

สรุปว่าเศรษฐกิจท่องเที่ยวต้องบูรณาการกับเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจการผลิตกลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เต็มรูปแบบและตลอดห่วงโซ่การผลิต

ต้องเปลี่ยนสถานะปัจจุบันจาก กรอบไปเป็นแกร่งให้ได้ค่ะ