การบังคับฉีดวัคซีนโควิด-19
นานาประเทศต่างเฝ้าคอย ที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนในประเทศ
*ผู้เขียน พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นานาประเทศต่างเฝ้าคอย ที่จะได้รับวัคซีนเพื่อนำมาบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนในประเทศ เพราะเชื่อว่าวัคซีนต้านโควิดจะเป็นฮีโร่เเก้ไขปัญหาการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ได้ และสามารถทำให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งพยายามจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาให้บริการแก่ประชาชน และรัฐบาลก็ออกมาแจ้งว่าได้ทำการสั่งจองกับผู้ผลิตรายสำคัญนั่นก็คือ ซิโนแวคของประเทศจีน และแอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า วัคซีนที่ได้ทำการสั่งซื้อมานั้นประชาชนทุกคนจะได้รับบริการการฉีด โดยจะจัดลำดับการเข้ารับวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงมากเป็นลำดับแรก เช่น กลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ ซึ่งได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนของงานป้องกันการระบาด รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและบุคคลที่มีโรคประจำตัว หลังจากนั้นก็จะฉีดให้ครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามความสมัครใจ
การเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ประชาชนส่วนใหญ่จึงประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ในทางกลับกันก็อาจจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ทางรัฐบาลจัดให้ โดยมีเหตุผลหรือความจำเป็นบางประการ เช่น ปัญหาสุขภาพจึงทำให้ไม่สามารถเข้ารับรับวัคซีนได้ มีความเชื่อว่าการรับวัคซีนเป็นการขัดต่อหลักการทางศาสนา หรือมีความกังวลในประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ทางรัฐบาลพยายามแสวงหามาบริการให้กับประชาชนนั้น อาจมีคำถามว่า หากประเทศไทยสามารถจัดการให้ประชาชนได้เข้าถึงการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง รัฐจะสามารถบังคับให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่
ข้อพิจารณาประการแรก หากรัฐบาลบังคับให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันกระทบต่อสิทธิในร่างกายและสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายมาบังคับให้ประชาชนทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน รัฐบาลต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ว่าควรมีกฎหมายบังคับเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงและกลุ่มบุคคลที่ต้องมีการพบปะกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรณีเช่นนี้ การบังคับฉีดวัคซีนก็อยู่บนความชอบธรรมที่รัฐย่อมทำได้
ข้อพิจารณาประการต่อมา การเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ถือเป็นการเข้ารับการบริการสาธารณสุขอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชน หาใช่เป็นหน้าที่ของประชาชน โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการรับวัคซีนพื้นฐานเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมาย
กล่าวคือหากพลเมืองไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ ก็ไม่ถือว่าผู้นั้นมีความผิด และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายของกฎหมายฉบับอื่นที่กำหนดว่า การฝ่าฝืนไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่นนี้ ประชาชนจึงสามารถปฏิเสธการเข้ารับวัคซีนดังกล่าวได้
นอกจากนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อถือเป็นการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง ซึ่งการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ แพทย์จะทำการรักษาได้ก็จะต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมของผู้ป่วยหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เช่น บิดา มารดา บุตรหรือคู่สมรส เป็นต้น
หากผู้ป่วยไม่ให้ความยินยอม การรักษาก็ย่อมไม่อาจเริ่มดำเนินการได้ หากให้ความยินยอมเข้ารับการรักษาไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่ประสงค์จะให้ทำการรักษาต่อไป ก็ต้องยุติการรักษานั้นได้ ดังนั้น การเข้ารับการฉีดวัคซีนก็ย่อมอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ประชาชนที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนย่อมทำได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด
อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลทั่วโลกว่า ไม่ควรบังคับการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ และการเข้ารับวัคซีนควรเป็นไปด้วยความสมัครใจของประชาชน ซึ่งหลักการนี้ได้นำเอาไปปฏิบัติในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษหรือออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ไม่มีการบังคับให้ประชาชนในประเทศทุกคนจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความเต็มใจและสมัครใจของแต่ละคน
ด้วยเหตุนี้ หากมีการใช้มาตรการบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน ย่อมเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เว้นแต่มีความจำเป็นและคำนึงถึงความได้สัดส่วนในการฉีดวัคซีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ
อย่างไรตาม เพื่อเป็นการป้องกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเผยแพร่และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ และควรสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งควรจัดให้มีการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและการมีสำนึกต่อส่วนรวมว่า การฉีดวัคซีนเป็นความรับผิดชอบของทุกคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง และช่วยหยุดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น