มี 'ลำธารทองคำ' กลับไม่ร่ำรวย
สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่ภาพชุดหนึ่ง ซึ่งถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อ ธ.ค.ปีกลาย โดยพาดหัวคำบรรยายภาพว่าเป็น 'ลำธารทองคำ' ในย่านแอมะซอน
“ลำธารทองคำ” ในย่านแอมะซอนนี้ เกิดจากแสงสะท้อนของหลุมบ่อจำนวนมากที่ชาวเปรูขุดค้นหาทองคำเรียงกันไปตามแนวลำธารเก่ากลางป่า ตามธรรมดา การค้นหาทองคำแบบนั้นผิดกฎหมาย แต่มีอยู่ทั่วไปในย่านแอมะซอนตอนเหนือซึ่งครอบคลุมหลายประเทศรวมทั้งเปรู โคลอมเบีย เวเนซุเอลา กายอานาและบราซิล ในช่วงนี้ การขุดค้นเข้มข้นขึ้นมากเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้คนตกงานอย่างแพร่หลายในประเทศดังกล่าวแต่ราคาทองคำยังสูง
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ในป่าและลำน้ำของย่านแอมะซอนตอนเหนือมีทองคำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทองคำจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการส่งกองกำลังเข้าไปในย่านนั้นของชาวยุโรปซึ่งเชื่อว่าป่าแอมะซอนซ่อนเมืองเร้นลับชื่อ “เอล ดอราโด” ไว้ ตามตำนาน เมืองนั้นมีทองคำจำนวนมหาศาล ชาวยุโรปไม่พบเมืองดังกล่าว แต่เนื่องจากเมืองเล็กใหญ่ในย่านนั้นสะสมทองคำที่หามาได้ไว้มากบ้างน้อยบ้าง ชาวยุโรปซึ่งมีเทคโนโลยีเหนือกว่าจึงปล้นเมืองเหล่านั้นแล้วยึดพื้นที่เป็นอาณานิคม จากมุมมองหนึ่งจึงพอสรุปได้ว่า ทองคำสาปให้เมืองต่าง ๆ ถูกปล้นจนถึงกับสูญสิ้นแผ่นดินและอิสรภาพ
ผมไม่มีโอกาสเข้าไปดูการขุดค้นหาทองคำในเปรูว่าเป็นเช่นไร แต่โดยทั่วไปไม่น่าจะต่างกับในกายอานาซึ่งผมมีโอกาสเข้าไปหลายต่อหลายครั้งเมื่อยังทำงานอยู่กับธนาคารโลกและได้นำเรื่องราวมาเล่าไว้ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากวอชิงตัน” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) กายอานาเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายรวมทั้งแร่ทองคำตามลำธารและป่าไม้ ในช่วงที่ผมเป็นพนักงานติดตามโครงการของธนาคารโลก การขุดค้นหาทองคำดำเนินไปอย่างเข้มข้นทั้งจากการลงทุนทำเหมืองแบบถูกกฎหมายผ่านการให้สัมปทานแก่ต่างชาติและจากนักเสี่ยงโชคชาวกายอานาที่ลักลอบทำแม้ตอนนั้นราคาทองคำจะต่ำกว่าในปัจจุบันมากก็ตาม
คำสาปของทองคำที่ปรากฏในกายอานาเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางถึงในต่างประเทศ เหมืองทองคำที่ทำตามกฎหมายตัดต้นไม้ในกลางป่าจนเตียนโล่งเป็นวงกว้างและใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการแยกทอง น้ำผสมไซยาไนด์ที่ได้จากกระบวนการนั้นมีพิษร้ายจึงถูกกักไว้ในสระ เมื่อฝนตกชะหนัก ๆ พื้นที่ป่าไม้ซึ่งกลายเป็นผืนดินเตียนโล่งก็พังทลายและเมื่อน้ำฝนทำให้ขอบสระดังกล่าวพัง น้ำผสมไซยาไนด์ก็ไหลลงแม่น้ำลำคลองและเข้าไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์และคน ด้านนักเสี่ยงโชคผิดกฎหมายมักใช้การเผาปรอทแยกทองที่ปนอยู่กับทราย ควันนั้นเป็นอันตรายต่อผู้สูดเข้าไปในปอด ส่วนปรอทที่ตกหล่นลงไปในน้ำก็ทำให้เกิดอันตรายในห่วงโซ่อาหาร
ดังที่อ้างถึงในคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 5 กพ. ทองคำถูกนำออกมาจากธรรมชาติแล้วราว 2 แสนตัน ในจำนวนนั้น ต่ำกว่า 3 หมื่นตันใช้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์จริง ๆ ที่เหลือถูกเก็บรักษาไว้ในรูปของทองแท่งและเครื่องประดับ การเก็บรักษามีค่าใช้จ่ายและการสวมใส่เครื่องประดับเสี่ยงอันตราย แต่ชาวโลกกลับเห็นพ้องต้องกันว่า ทองที่อยู่ใน 2 รูปแบบนี้มีค่าเท่ากับเงินตราจำนวนมหาศาล ทั้งที่ตามความเป็นจริงทั้งค่าของทองและของเงินตราถูกสมมติขึ้นมาทั้งสิ้น
ในอดีต การมีทองคำทำให้เมืองน้อยใหญ่ในย่านแอมะซอนตอนเหนือถูกย่ำยี ในยุคนี้ การขุดค้นหาทองคำทำลายป่าไม้และสายน้ำ นำอันตรายมาให้สัตว์และคนพร้อมกับทำให้ประเทศยากจนอย่างแพร่หลาย กระนั้นก็ดี ยังมีกลุ่มผู้นำของประเทศที่ไม่เคยเสียเอกราชตั้งหน้าตั้งตาค้นหาทองคำรวมทั้งการให้สัมปทานแก่ต่างชาติโดยไม่ใส่ใจว่า การค้นหาสิ่งที่มีค่าเพียงในสมมตินั้น อาจนำมาซึ่งการทำลายหลายอย่างรวมทั้งห่วงโซ่อาหาร ระบบนิเวศและเอกราชของประเทศของตน.