ปรากฏการณ์ Clubhouse อีกคลื่น disrupt มหาวิทยาลัยไทย
ช่วงสองสัปดาห์นี้หน้านิวส์ฟีดของทุกคนคงเต็มไปด้วยเรื่องของ Clubhouse โซเชียลมีเดียที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในสังคมไทยขณะนี้
ผู้เขียน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทุกวงการต่างกล่าวถึงการเข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่เรื่องธุรกิจ สังคม การเมือง ไปจนกระทั่งเรื่องจิปาถะในห้องที่เปิดให้พูดคุย ฟัง แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ความโด่งดังยิ่งเพิ่มขึ้นจากการต้องถูกเชิญจากผู้ที่เข้าไปเป็นสมาชิกก่อนหน้า ความยากและการจำกัดจำนวนที่ไม่ใช่ใครก็ได้ เลยทำให้ยิ่งเพิ่มความกระหายของผู้คน จน Clubhouse ดังเปรี้ยงในชั่วข้ามคืน ไม่นับรวมการเข้าร่วมของคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันในสังคม จนคนที่กลัวตกขบวนต้องขวนขวายเข้าไปใน Clubhouse ด้วย
ความหลากหลายในประเด็นที่พูดคุย ผู้ตั้งประเด็น ผู้ร่วมคุยร่วมฟังและให้ความเห็นจะเป็นตัวทำให้ Clubhouse ร้อนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกจากความง่าย ความสด ความเร็ว และการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ในไม่ช้าจะได้เห็นแพลตฟอร์มเช่นนี้ออกมาอีกหลายราย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องดีที่เราจะมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายจากผู้รู้จริง ทำจริงที่จะทำให้ความรู้แตกฉานไปได้อีกมากมายในสังคม
ความท้าทายอย่างยิ่งภายใต้ปรากฏการณ์ Clubhouse คือสถาบันการศึกษาของไทยกำลังจะเผชิญกับอีกคลื่นหนึ่งของการดิสรัปชั่น ที่จะกวาดให้สถาบันการศึกษาตกไปจากเส้นความสนใจ หรือไม่ก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงมากเพื่อสนองตอบต่อคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยบอกว่าการเข้าไปคุยกันใน Clubhouse ให้อรรถรสยิ่งกว่าการนั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ที่ออกจะน่าเบื่อทั้งคนเรียนและคนสอนในเวลาที่มหาวิทยาลัยยังไม่เปิดอย่างตอนนี้
ที่กระทบหนักๆ แน่ๆ ในเบื้องต้นคือตลาดการฝึกอบรมที่น่าจะซบเซาหรือถูกกวาดล้างไปแทบจะสิ้นเชิง หลังจากที่เผชิญปัญหาหนักอยู่แล้วจากการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้การรวมตัวในการอบรมและสัมมนาใหญ่ๆ ทำไม่ได้อีกต่อไป การฝึกอบรมที่เคยทำรายได้ให้กับสถาบันการศึกษาและธุรกิจฝึกอบรมต่างๆ จะมี Clubhouse เป็นคู่แข่งโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Clubhouse สามารถทำได้ไม่แตกต่างกับการอบรมในห้องเรียน แถมได้วิทยากรหรือกูรูชื่อดังมาพูดให้ฟังโดยไม่ต้องเชื้อเชิญ สามารถรองรับคนได้ครั้งละหลายพัน ที่สำคัญคือฟรี ในที่สุด Clubhouse ยังจะกลายไปทำหน้าที่แทนบริษัทที่ปรึกษาอีกด้วย ลองนึกภาพห้องสนทนาที่รวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ มารวมกันเพื่อชี้แนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาการทำมาหากิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ การฝึกอบรมที่จะยืนหยัดอยู่ได้จึงต้องเป็นการอบรมแบบเข้มข้นสามารถหวังผลสัมฤทธิ์ได้ทันทีคนจึงจะยอมเสีบเงินมาอบรม ถ้าจะให้มานั่งฟังวิทยากรพูดเฉยๆ ทุกคนก็สามารถหาได้จาก Clubhouse
การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างแรง ที่จริงถึงไม่มี Clubhouse ก็ต้องปรับกันหนักอยู่แล้ว การสอนเล็กเชอร์แบบเดิมๆ ของอาจารย์จะไม่เป็นที่ศรัทธาของนักศึกษาอีกต่อไป หรือจะเชิญวิทยากรมาร่วมสอนในชั้นก็ไม่อาจเทียบความเข้มข้นได้กับหมู่กูรูชื่อก้องใน Clubhouse ที่เขาสามารถสร้างตัวตนหรือแฟนคลับได้ง่ายและกว้างขวางโดยไม่ต้องพึ่งมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์จะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สามารถลงมือทำจริงได้มากขึ้น วิชาประเภทท่องตำรามาสอบต้องเลิกเสียทีแล้วหันมาโฟกัสกับการลงมือทำ หลายๆ วิชาสามารถยุบรวมกันได้ จำนวนหน่วยกิตที่เรียนต้องลดลงแล้วหาเวทีจริงให้นักศึกษามากขึ้น ที่สำคัญการเรียนแบบวิชาเอกหรือที่เรียกกันว่าไซโลเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว นักศึกษากระหายที่จะเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่มีให้เขาเรียนที่อื่น กระหายที่จะข้ามศาสตร์ไปหาสิ่งที่เขาอยากค้นหา โดยไม่ติดกับคณะหรือวิชาเอก ธรรมศาสตร์คิดเรื่องนี้มาตลอด ปริญญาที่เรียกว่า “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” จะทำให้นักศึกษารอบรู้ ทำได้จริง ทำเป็น โดยไม่ต้องติดว่าเมเจอร์อะไร นักศึกษาควรได้ความคล่องตัวในการออกแบบหลักสูตรที่เขาเชื่อว่าตรงกับความถนัดและโอกาสที่จะออกไปเลี้ยงชีพเขาในอนาคต ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากระเบียบข้อบังคับในการเรียนของมหาวิทยาลัย
ไม่น่าเชื่อว่า Clubhouse จะพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยได้รวดเร็วพอๆ กับโควิด 19 เลยทีเดียว