จุดเด่น-จุดด้อย วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า
วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนก้า" จำนวน 117,000 โดส ได้มาถึงสุวรรณภูมิแล้วเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.)
วันนี้ผมอยากจะมาเล่าให้ฟังถึงข้อเด่น ข้อด้อยของวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัคซีนออกซ์ฟอร์ด โดยเน้นตัวเลขที่แท้จริง อ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและ BBC ของอังกฤษ หากอ่านด้วยใจที่เป็นธรรมไร้อคติแล้ว จะเข้าใจวัคซีนตัวนี้มากขี้น
บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษและสวีเดนนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพัฒนาวัคซีน
ตั้งแต่ เม.ย. 2563 ซึ่งคือช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัส จนได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ด้วยอัตราการป้องกันไวรัสได้ถึง 76% (จากรายงานล่าสุด)
วัคซีนตัวนี้มีข้อเด่น 3 ประการ และข้อด้อยอีกจำนวนหนึ่ง
1. วัคซีนออกซ์ฟอร์ดนี้มีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงต่ำ โดยจากผลวิจัยยังไม่เจอผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจนกระทั่งป่วยเข้าโรงพยาบาลเลย แต่จำเป็นต้องฉีด 2 โดส (เช่นเดียวกับวัคซีนซิโนแวคของจีน) โดสละ 0.5 มิลลิลิตร โดยเว้นช่วงห่างกันจากการฉีดครั้งแรกระหว่าง 8-12 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันจาก 76% เป็น 82%
2. วัคซีนออกซ์ฟอร์ดนี้เก็บรักษาได้ง่ายเพราะสามารถเก็บได้ที่ตู้แช่เย็นธรรมดา ไม่เหมือนกับวัคซีนของ Pfizer ที่ต้องจัดเก็บรักษาที่อุณหภูมิเย็นจัดถึง -70 องศาเซลเซียส ทำให้ง่ายต่อการขนส่งแจกจ่ายโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนอย่างไทยเรา
3. วัคซีนออกซ์ฟอร์ดนี้ราคาถูก ไทยเข้าถึงและสามารถหาซื้อได้ที่ราคาประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อโดส ราคาถูกกว่าวัคซีนอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ของ Pfizer ที่ 19.5 หรือ Moderna ที่ 32-37 ดอลลาร์ หรือ Johnson&Johnson ที่ 10 ดอลลาร์ก็ตาม ซึ่งไทยก็ได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนออกซ์ฟอร์ดนี้ไว้แล้วถึง 26 ล้านโดส
ภายใต้ระยะเวลาการพัฒนาและปัจจัยอื่น ๆ ที่จำกัดนี้ ทำให้วัคซีนนี้ยังมีข้อด้อย ที่นักวิจัยจำต้องพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นานาชาติก็รับรองการใช้วัคซีนนี้อย่างมีเงื่อนไข เพราะวัคซีนนี้ยังมีข้อจำกัดในการป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น ๆ
โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาที่ยังไม่มีรายงานทางสถิติถึงความสำเร็จในการป้องกันได้เลย หรือพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ วัคซีนออกซ์ฟอร์ดในตอนนี้ยังไม่สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกาได้
ประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฝรั่งเศส รับรองให้ใช้วัคซีนนี้เฉพาะกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปีเท่านั้น เพราะยังไม่มีผลวิจัยชี้ชัดว่าวัคซีนนี้เหมาะกับเด็กและคนชรา ขณะที่บริษัทก็ยืนยันว่าใช้ได้และผลก็เป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน ทำให้สหภาพยุโรปอนุมัติการใช้วัคซีนนี้ได้กับคนทุกกลุ่มทุกวัย
ยังมีอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทำการเปรียบเทียบวัคซีนระหว่าง 2 บริษัทยายักษ์ใหญ่ คือ Pfizer และแอสตร้าเซนเนก้าที่สมควรถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือเมื่อเพิ่มจำนวนผู้ทดลองให้มากขึ้นแล้ว พบว่าวัคซีนของ Pfizer นั้นให้ผลที่ดีกว่าที่ 95% ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้านั้นเหลือเพียง 62%
รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะฉีดวัคซีนออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะครอบคลุมประชากรคือ 30.5 ล้านคน โดยวัคซีนนี้จะผลิตในไทยโดย Siam Bioscience ซึ่งถือเป็นคำสัญญาที่ทำให้คนไทยกลับมายิ้มได้หากทำได้จริง และสมควรเอาใจช่วยอย่างยิ่ง
เพราะขนาดอังกฤษประเทศเจ้าของบริษัทยาแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีประชากรน้อยกว่าเราที่ 55 ล้านคน ประมาณการการเข้าถึงวัคซีนของประชากรทั้งประเทศยังอยู่ที่ 21 เดือนหรือเกือบ 2 ปีเลยทีเดียว
หากจะฉีดวัคซีนให้คนไทย 70 ล้านคน ฉีดทั้งหมดฉีดทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคจำเป็นต้องใช้วัคซีนทั้งหมด 140 ล้านโดส รัฐควรพิจารณาถึงภาคปฎิบัติ การจัดหา การผลิตและการกระจายอย่างจริงจัง