การบูรณาการงานและชีวิต: กุญแจสู่ความสำเร็จ
หลายคนมองว่า 'งาน' กับ 'ชีวิต' เป็นเรื่องที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง และพยายามหาสูตรการใช้ชีวิตเพื่อแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วน สมดุล ลงตัวมากที่สุด
โดยให้เหตุผลว่า ความไม่สมดุลทำให้เกิดปัญหา เช่น อาการหมดไฟ ปัญหาสุขภาพ พลาดการใช้เวลากับครอบครัว คนรัก เป็นต้น การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงานได้จึงถูกมองเป็นความสำเร็จ
แนวคิดความสมดุลในชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างภาระผูกพันส่วนบุคคล (personal life) กับ งาน (work) รวมถึงผลกระทบต่อกันและกัน โดยมุ่งสร้างความสมดุลเพื่อลดความขัดแย้งในบทบาทของบุคคลเกี่ยวกับ งาน และ เวลาส่วนตัว และสวัสดิภาพของครอบครัว โดยความสมดุลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามช่วงชีวิตของคน และขึ้นอยู่กับความพอใจในการจัดสรรการทำงานกับเวลาส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าแนวคิดความสมดุลในชีวิตและการทำงาน ยังมีช่องโหว่หรือจุดอ่อนบางประการที่ผมไม่เห็นด้วย เช่น
- มองคำว่า “งาน” ในความหมายด้านลบ กล่าวคือ จำใจต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพและยิ่งทำงานในแต่ละวันนานมากขึ้น ยิ่งส่งผลเสียหรือเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิต
- มองว่า “งาน” กับ “ชีวิต” เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ และจำเป็นต้องแยกออกจากกัน
- เมื่อมอง “งาน” กับ “ชีวิต” แยกกัน ทำให้หลายครั้งต้องตัดสินใจแบบได้อย่าง – เสียอย่าง (Trade-off) หรือแบบที่ผลสุดท้ายต้องมีการได้หรือเสียประโยชน์ (Zero-sum game)
- Work - Life Balance ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเสมอไป โดยเฉพาะในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา เกิดวิถีทำงานรูปแบบใหม่ อย่างการทำงานที่บ้าน (work from home) เพราะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
“งาน” ในมุมมองของผม หมายถึง การรับจิตสำนึก (Inner Calling) โดยให้น้ำหนักทั้ง 7 คำร่วมกัน ได้แก่ คำว่า work, employment, job, career, occupation, profession และ vocation แต่ให้น้ำหนักคำว่า Vocation หรือเสียงเรียกในจิตใจให้อุทิศตัวมากที่สุด เป็นการรับเสียงเรียกมาเป็นจิตสำนึก และ รับมาอย่างตั้งใจจะประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะอยู่ในเรื่องนี้ จะหมกหมุ่นอย่างต่อเนื่อง จะลงมือทำเหมือนเป็นสัญญา และจะพยายามอย่างถึงที่สุดจนกว่าจะเกิดผลลัพธ์ กล่าวได้ว่า
สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ทำงาน คือ จิตสำนึก (ไม่ใช่เงินทอง, ตำแหน่ง, ชื่อเสียง ฯลฯ)
ความรู้สึกต่องาน คือ ความรักงาน (ไม่ใช่ เกลียดงาน ปฏิเสธงาน)
การตัดสินใจเลือกงาน คือ การเลือกสิ่งที่จะโฟกัสที่มีคุณค่าสูงสุด ที่ผมสร้างคำว่า ‘เลอค่า’ (ไม่ใช่ สิ่งที่มีมูลค่า)
เป้าหมายของการทำงาน คือ การ “สร้างชีวิตให้ดี เก่ง กล้า” (ไม่ใช่เพื่อ ‘สร้างเนื้อ สร้างตัว’)
ผลลัพธ์ของการทำงาน คือ ความสุข + ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย (ไม่ใช่ ความตรากตรำ จำใจ เหน็ดเหนื่อย)
แนวทางการบูรณาการชีวิตและการทำงาน ทำได้ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 บูรณาการเป้าหมาย
การบูรณาการเป้าหมาย หมายถึง การบูรณาการเป้าหมายชีวิตส่วนตัวให้สอดรับ สอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงาน อย่างไม่แยกออกจากกัน กล่าวคือ เป้าหมายของชีวิตกับงานคือสิ่งเดียวกัน โดยเป็นการเลือกทำสิ่งที่ผสานและเชื่อมโยงระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมได้ เมื่อทำเรื่องส่วนตัว มีผลทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ ดังโมเดล 4 Wins (ส่วนตัว ส่วนร่วม ส่วนเรา ส่วนรวมชนะ) ในยามปกติ และ โมเดล 3 Wins (ยอมสละส่วนตัว) ในยามวิกฤตของผม ในมิติการทำงานเราไม่ควรอยู่ในองค์กรที่เราไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์และเป้าหมายขององค์นั้น ๆ หรือไม่ก็ต้องหาจุดร่วมหรือบูรณาการระหว่างเป้าหมายส่วนตัวกับเป้าหมายขององค์กรให้ได้
ประการที่ 2 บูรณาการความสัมพันธ์
การบูรณาการความสัมพันธ์ หมายถึง การบูรณาการระหว่างคนในชีวิตกับคนในที่ทำงาน คือ การร่วมชีวิต ร่วมงานกับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เป็นการรวมพลัง เพื่อจะทำให้เป้าหมายที่มีบรรลุและสำเร็จได้เร็วขึ้น หากมีเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท คู่ชีวิตที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ย่อมทำให้เกิดการประสานพลังทางบวกทั้งเสริมสร้างและสนับสนุนกันในทุกมิติของชีวิต
ประการที่ 3 บูรณาการเวลา
การบูรณาการเวลา หมายถึง การไม่แยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวออกจากกัน แต่เป็นการผสานและผนึกเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เน้นความยืดหยุ่น โดยที่ในแต่ละช่วงเวลา ต้องฉวยโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากกว่า 1 อย่าง กล่าวได้ว่า สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวัน ทุกอิริยาบถ ไปพร้อม ๆ กัน เวลางานจึงเป็นทั้งเวลาทำงาน เวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อน เวลาแห่งความสุข หากบูรณาการเวลาได้ จะไม่มีการเกษียณอายุ ซึ่งอาจทำได้โดย เช่น การจัดสภาพแวดล้อมชีวิตและที่ทำงาน ห้องทำงาน การวางแผนการเดินทาง เป็นต้น
ประการที่ 4 บูรณาการศักยภาพ
การบูรณาการศักยภาพ หมายถึง การเชื่อมโยงความสามารถกับตัวตนตามเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่มี โดยผสานสิ่งที่คิด สิ่งที่เป็น สิ่งที่พูด สิ่งที่ทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงยินดีพัฒนาตัวเอง ขยายศักยภาพทุกมิติเพื่อการใช้ชีวิตในการทำงาน
ประการที่ 5 บูรณาการทรัพย์สินเงินทอง
การบูรณาการทรัพย์สินเงินทอง หมายถึง การนำเอาทรัพยากรที่มีในชีวิต มาใช้เพื่อการทำงาน ทำประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ เก็บทรัพย์สินเงินทองไว้ใช้เพื่อหาชีวิตส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ในที่นี้ รวมถึงการพยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาทรัพย์สินเงินทองให้มากที่สุด แต่ใช้เพื่อตัวเองเท่าที่จำเป็นอย่างน้อยสุด ดังคาถาเศรษฐีที่ผมเคยให้ไว้: หาให้มากที่สุด ใช้เพื่อตัวเองน้อยที่สุด บริจาคมากที่สุด
การสร้างความสมดุลในชีวิตและการทำงานทำไม่ได้ง่าย เพราะเวลาไม่เคยหยุดเดิน สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตต่างเป็นพลวัต และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้น การหาวิธีสร้างความสมดุล การให้น้ำหนักเรื่องงาน และเรื่องอื่น ๆ ในแต่ละคน ย่อมไม่มีสูตรตายตัว ไม่อยู่นิ่ง และต้องปรับอยู่เรื่อย ๆ ประกอบกับมีปัจจัยภายนอกอีกจำนวนไม่น้อยที่ควบคุมไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ การบูรณาการงานและชีวิตจึงเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของคนในยุคนี้ เพราะ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในชีวิตมนุษย์หนึ่งชีวิตก็มิอาจแยกงานออกจากชีวิตได้อย่างเด็ดขาด งานจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและความเติบโตทางความคิด สติปัญญา ความเข้าใจ รวมถึงโลกทัศน์ชีวทัศน์ หากต้องเลือกงาน ก็ขอให้เลือกงานที่บูรณาการเข้ากับอุดมการณ์เป้าหมายในชีวิตได้ หากมีงานอยู่แล้ว ก็ขอให้ปรับมุมมอง ความคิด ทัศนคติ ความรู้สึกต่องานที่ทำ ให้เป็นไปตามนิยามความหมายงานที่แท้ที่หมายถึง การรับจิตสำนึก ไม่ใช่การรับจ้าง และเป็นคุณค่าแห่งความหมายในชีวิต เป็นธุระในใจที่ห่วงใย ไม่ใช่ภาระอันหนักอึ้ง และท่านจะได้ใช้ชีวิตแบบควบรวมที่มีความสุขกายและใจในทุกที่ ทุกเวลา.