บังคับฉีดวัคซีน‘ละเมิด’สิทธิเสรีภาพหรือไม่
ช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 การบริหารจัดการการควบคุมการระบาดของโควิดของหลายประเทศยังมีปัญหา ทำให้การระบาดแพร่ขยายเร็วขึ้น
ต่อมาจึงเริ่มมีการกำหนดมาตรการเพื่อจำกัดการระบาด โดยแนะนำให้เว้นห่างจากบุคคลอื่น ให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เจลล้างมือหรือด้วยสบู่บ่อยๆ แนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งมีการยืนยันรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่าเป็นมาตรการที่ป้องกันการแพร่เชื้อและการติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพ
สำหรับการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ถ้าเป็นมาตรการแนะนำตามความสมัครใจของประชาชน ที่เชื่อว่าการใส่หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการติดเชื้อจากโควิด-19 ได้ ก็จะใส่หน้ากากอนามัยด้วยความสมัครใจ ประชาชนที่ไม่เชื่อหรือรำคาญก็จะไม่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็มีบางเมือง บางรัฐ บางประเทศ ออกมาตรการบังคับให้ประชาชนที่ออกนอกบ้านไปในที่สาธารณะ หรือเดินทางโดยรถสาธารณะ จะต้องสวมหน้ากากอนามัย หากฝ่าฝืนจะมีความผิด ถูกปรับเป็นเงินตามที่กำหนด ซึ่งก็มีประชาชนบางส่วนออกมาต่อต้าน โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
สำหรับประเทศไทย รัฐไม่ได้ออกมาตรการบังคับให้ประชาชนต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้านไปในที่สาธารณะ แต่สถานที่ราชการ สถานที่ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายสินค้าของเอกชน มีมาตรการกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าไปในสถานที่ หรือเข้าไปในห้าง ในร้าน จะต้องใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ โดยมีแอลกอฮอล์และเจลล้างมือบริการให้ นอกจากนี้ในที่สาธารณะผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยจะถูกมองเป็นตัวประหลาด ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ของไทยจึงมีมาตรการบังคับทางอ้อมให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย
ความหวังในการหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ฝากไว้ที่วัคซีน
เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาด ห้องทดลองทางเคมีชีวภาพห้องปฏิบัติการผู้ผลิตเวชภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชน ก็เริ่มค้นคว้าผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และทดลอง ซึ่งบัดนี้มีวัคซีนที่ผ่านการทดลองทดสอบและใช้ได้แล้วหลายราย แต่ก็มีปัญหาการผลิตที่ยังไม่พอเพียงกับความต้องการ จนเกิดสงครามแย่งวัคซีนกันขึ้น เช่นระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร
ถึงแม้จะมีการแย่งวัคซีนกันเกิดขึ้น แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยในหลายเมืองหลายประเทศจะไม่ฉีดวัคซีน เพราะไม่เชื่อว่ามีการระบาดของโควิด-19 หรือคิดว่าไม่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือไม่เชื่อว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันโควิด-19 บางคนก็กลัวว่าจะมีผลข้างเคียงเป็นอันตราย
สำหรับสหราชอาณาจักร ซึ่งมีปัญหาระบาดหนักหลายรอบ แม้จะใช้มาตรการควบคุมเข้มข้น ทั้งการปิดประเทศปิดเมือง ห้ามการรวมตัวของประชาชน แต่การระบาดก็ยังไม่บรรเทา ปัจจุบันจึงหวังพึ่งพาวัคซีนที่จะช่วยยับยั้งการระบาดได้ โดยรัฐบาลออกข่าวอาจกำหนดมาตรการบังคับให้ประชาชนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ปรากฏว่ามีประชาชนบางส่วนแสดงท่าทีต่อต้าน ว่าการบังคับให้ฉีดวัคซีนเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หากรัฐบาลออกมาตรการบังคับจริงคงมีประชาชนอังกฤษยื่นฟ้องศาลแน่
การบังคับให้ฉีดวัคซีนเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือไม่
ในยุโรปมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วกับมาตรการบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน (โรคอื่นที่มีมาก่อนหน้าโควิด-19) โดยมีการฟ้องศาลว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปแล้วหลายคดี โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้แต่งตั้งองค์คณะ Grand Chamber ทำหน้าที่พิจารณาคดีตามคำร้องต่างๆ รวม 5 คดีที่เกี่ยวกับมาตรการบังคับให้ฉีดวัคซีน ดังนี้
คดีตามคำร้องที่ 47621/13 คดีระหว่าง Vavricka และสาธารณรัฐเช็ก ในปี 2543 Vavricka ถูกทางการเช็กปรับ เนื่องจากปฏิเสธที่จะให้บุตรสองคนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ โรคตับอักเสบ และโรคบาดทะยัก ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข Vavricka ร้องอุทธรณ์ต่อศาล แต่ศาลยกคำร้อง
คดีตามคำร้องที่ 3867/14 ระหว่าง Novotna และสาธารณรัฐเช็ก ผู้ปกครองของ Novotna ยินยอมให้เธอฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ทางการกำหนด ยกเว้นวัคซีนป้องกันหัด โรคคางทูม และหัดเยอรมัน เนื่องจากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าว ในปี 2549 Novotna ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเด็กเล็ก แต่ 2 ปีต่อมา ครูใหญ่ของโรงเรียนดังกล่าวได้รับทราบว่าเธอไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันจึงตัดสิทธิไม่ให้เธอเข้าเรียน เธอฟ้องศาล แต่ศาลยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าการรักษาสิทธิให้เธอได้เรียนต่อ อาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขอนามัยของบุคคลอื่น ซึ่งสิทธิที่บุคคลอื่นจะได้รับการปกป้องสุขอนามัยย่อมเหนือกว่าสิทธิของเธอในการได้เข้าเรียน
คดีตามคำร้องที่ 73094/14 ระหว่าง Hornnych และสาธารณรัฐเช็ก ในวัยเด็ก Hornnychc มีปัญหาสุขภาพ จึงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคใดๆ ตามคำแนะนำของกุมารแพทย์ ในปี 2554 Hornnych สมัครเข้าเรียนโรงเรียนเด็กเล็ก แต่ไม่ได้รับให้เข้าเรียน เนื่องจากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ผู้ปกครองยื่นอุทธรณ์ต่อศาล แต่ไม่เป็นผล
คดีตามคำร้องที่ 19306/15 และ 19298/15 คดีระหว่าง Bozlik กับสาธารณรัฐเช็ก และ Dubskyc กับสาธารณรัฐเช็ก ผู้ปกครองของเด็กทั้งสองปฏิเสธที่จะให้เด็กทั้งสองได้รับการฉีดวัคซีนตามที่กฎหมายบังคับ ตามความเชื่อส่วนตัว และถูกโรงเรียนเด็กเล็กปฏิเสธที่จะรับเข้าเรียน ผู้ปกครองได้ยื่นฟ้องต่อศาล แต่ศาลยกฟ้อง
คดีตามคำร้องที่ 43883/15 คดีระหว่าง Rolecek และสาธารณรัฐเช็ก ผู้ปกครองของเด็กเป็นนักชีววิทยา ได้ทำแผนการฉีดวัคซีนตามที่กฎหมายบังคับให้เด็กช้ากว่ากำหนดเวลา และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ถูกครูใหญ่โรงเรียนเด็กเล็กปฏิเสธที่จะรับเข้าเรียน ผู้ปกครองยื่นฟ้องต่อศาล แต่ศาลยกฟ้อง คดีดังกล่าวยังไม่มีคำตัดสิน เพราะเพิ่งเริ่มการพิจารณา หากมีคำพิพากษาแล้วคงเป็นบรรทัดฐานสำหรับประเทศในยุโรปว่าการบังคับให้ฉีดวัคซีนเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล อันเป็นการฝ่าฝืนอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือไม่
แต่ในเมืองไทยคงไม่มีการบังคับให้ฉีดวัคซีน-19 แต่หากต่อไปมีความจำเป็นก็อาจมีมาตรการบังคับให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ได้ ก็อาจมีการกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ จึงอาจนำคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปมาใช้เป็นกรณีศึกษาได้.