การบริหารองค์กรโดยสตรี กรณีศึกษาและงานวิจัย
วิกฤติโรคระบาด ซึ่งนำพามาซึ่งความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจทำให้การบริหารบ้านเมืองและองค์กรทั้งขนาดใหญ่และเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก
แต่ภายใต้วิกฤตินี้ทำให้คนทั้งโลกเห็นแล้วว่า ประเทศและองค์กรที่มีสตรีเป็นผู้นำนั้นมีแนวโน้มที่จะรอดพ้นหายนะจากวิกฤติได้มากกว่าองค์กรที่นำโดยบุรุษ
เพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลที่เพิ่งผ่านไป ผมจึงอยากจะเล่าให้ฟังถึงความสำเร็จขององค์กรธุรกิจและประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติโรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีผู้บริหารเป็นสตรี อันเป็นที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป
จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีผู้นำเป็นสตรีนั้นมีแนวโน้มในการรับมือปัญหาการแพร่กระจายโรคระบาดได้ดีกว่า อย่างกรณีของนิวซีแลนด์ นายกฯหญิง “จาซินดา อาร์เดิร์น” ที่มีการจัดการปัญหาท่ีต้นตออย่างรวดเร็ว โดยการปิดพรมแดน การสื่อสารที่เป็นมิตรกับประชาชน เป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดีด้วยการอยู่บ้าน ตลอดจนการทำแคมเปญ “stay home, save lives” ที่กระตุ้นจิตสำนึกที่ดีของประชาชนให้หันมาเห็นใจผู้อื่น ดูแลกันและกัน
ผลลัพธ์ของการบริหารที่รวดเร็วและฉลาดระมัดระวังนี้ ทำให้ประเทศขนาดเล็กจำนวนประชากรเกือบ 5 ล้านคนนี้ รอดพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งก็ปรากฏเป็นผลชัดเจนแล้วว่ามีผู้เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มการระบาดเพียง 26 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 2,410 ราย ซึ่งรักษาจนหายดีแล้วถึง 2,304 ราย ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซนต์ที่น้อยมากเทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ
ไต้หวันเป็นอีกที่หนึ่งที่สมควรกล่าวยกย่อง ความสำเร็จจากการบริหารงานโดย ประธานาธิบดีสตรีคนแรก “ไช่ อิง-เหวิน” ที่รับมือการแพร่ระบาดได้อย่างน่าทึ่งจากการบริหารตัดสินใจที่รวดเร็ว อาทิ การปิดเมืองในภาวะที่จำเป็น มาตรการกำจัดเชื้อในที่สาธารณะ การบริหารจัดการความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรคด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการจัดการกระจายหน้ากากอนามัยได้อย่างดีเยี่ยม
มาตรการเหล่านี้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นแนวทางแห่งความสำเร็จ เพราะมียอดผู้เสียชีวิตเพียง 10 ราย และยอดผู้ติดเชื้อที่ 977 ราย ซึ่งรักษาหายแล้วกว่า 932 ราย ตัวเลขนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์และน่ายกย่องอย่างยิ่งเพราะประชากรรวมของทั้งเกาะนั้นคือ 23.57 ล้านคน ซึ่งถือว่าทำได้ดีมาก
องค์กรขนาดเล็กลงมาหรือภาคธุรกิจที่มีสตรีเป็นผู้นำก็มีแนวโน้มเช่นกัน รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด “Women Are Better Leaders During a Crisis” โดย Jack Zenger และ Joseph Folkman ชี้ให้เห็นว่าสตรีนั้นสามารถบริหารองค์กรท่ามกลางภาวะวิกฤติได้ดีกว่าบุรุษ
สิ่งที่น่าสนใจของงานวิจัยนี้พบว่าบุรุษนั้นมีความสามารถในการบริหารงานที่เหนือกว่าสตรีเพียงแค่ 1 จาก 19 เกณฑ์การเปรียบคือ เก่งกว่าในแง่ของเทคนิคหรือความเชี่ยวชาญในทางอาชีพ (Technical or professional expetise) ขณะที่เกณฑ์ความสามารถอื่น ๆ อาทิ ความคิดริเริ่ม ความยืดหยุ่น การรักษาความสัมพันธ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจ หรือการรับความเสี่ยง ทั้งหมดทั้งมวลนี้สตรีทำได้ดีกว่าทั้งสิ้น
กุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กรที่นำโดยสตรีเหล่านี้คือ การทำความเข้าใจปัญหาจากรับฟังผู้ถูกบริหาร (ลูกน้อง) ที่อยู่หน้างานจริง และนำเสนอความช่วยเหลือ จัดสรรทรัพยากรอาวุธยุทโธปกรณ์ได้รวดเร็วถูกจุด การเปิดใจรับฟัง ความรวดเร็วในการสนับสนุนกำลังทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการบริหารองค์กรและประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤติ ซึ่งทักษะนี้ไม่ได้ถูกผูกขาดหรือกีดกันด้วยเพศสภาพแต่อย่างใด
การมีผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กรที่ดีนั้นมีข้อดีหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดนอกจากความปลอดภัยของชีวิตแล้วคือ การการันตีให้ความมั่นใจว่าเราในฐานะประชาชนคนธรรมดาว่าจะสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป เพราะองค์กรหรือรัฐนาวาจะเดินหน้าก้าวต่อไป เมื่อองค์กรหรือประเทศพัฒนาต่อได้ เราก็มีสัมมาอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป การันตีความเป็นดีอยู่ดีให้กับชีวิตของเราและคนที่เรารักได้ทั้งในวันนี้ วันพรุ่งนี้ และวันต่อไป