อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แทรกซึมเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ มุ่งแก้ปัญหาโลกร้อน

จากแผนปฏิรูปสีเขียวฉบับใหม่ของกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ชื่อ The European Green Deal จะเห็นได้ชัดว่านอกจากการมุ่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) กล่าวคือ มีการผลิต ใช้ไป แล้วทิ้ง จึงเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติของกระบวนการของการผลิตตลอดจนการทิ้งหลังการใช้งงาน จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขใหม่

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงได้แทรกซึมเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับระบบที่มีการวางแผนและออกแบบมาเพื่อใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค

เริ่มตั้งแต่การออกแบบรถยนต์ที่มุ่งเน้นการลดของเสีย การออกแบบรถยนต์ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน มีการนำชิ้นส่วนมาผลิต ซ่อมแซ่ม หรือปรับปรุงใหม่ มีการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า มีการนำกลับไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบ การแปรวัสดุต่าง ๆ ที่จะกลายเป็นขยะให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่โดยการนำมาเพิ่มมูลค่า และใส่ไอเดียใหม่ๆ ให้กับสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะ

การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะไม่ก่อให้เกิดของเสียออกนอกระบบการผลิต การทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทน ใช้งานได้ยาวนาน  มีการสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหลากหลาย มีคุณสมบัติในการแยกส่วนทำให้สามารถนำมาใช้ได้อีกครั้ง โดยใช้พลังงานน้อยที่สุดและสามารถคงคุณภาพเดิมได้มากที่สุด

World Economic Forum (December 2020) ย้ำว่าถึงเวลาที่อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัว จึงมีการริเริ่ม Circular Cars Initiative ขึ้น โดยระบุว่าในช่วงเวลานี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ตั้งแต่ระบบการผลิตไปจนถึงความปลอดภัยแบบใหม่ ระบบไฟฟ้าและดิจิทัล โดยมีแนวคิดสำคัญที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ปลอดคาร์บอนหรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ  ซึ่งสนับสนุนข้อตกลงปารีสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 เพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ  ซึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังภาพ

161598391632

เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบยานยนต์คุณภาพสูง ด้วยวัสดุเกรดดี เลือกส่วนประกอบและวัสดุที่จะรีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานยานพาหนะ โดยพัฒนาระบบการคัดแยกและรวบรวมให้ดียิ่งขึ้น  มีการออกแบบสำหรับการถอดชิ้นส่วนได้สะดวก การใช้ซ้ำ การผลิตซ้ำ และการรีไซเคิล รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน เอื้อให้สามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ได้มากกว่าครั้งเดียว  และสามารถรองรับระบบพลังงานในอนาคตได้  ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้มีกลไกทางการเงินที่เอื้อต่อการลงทุนในด้านนี้ให้กว้างขวางขึ้น  กำหนดเป้าหมายและส่งเสริมระบบมาตรฐานและการรองรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านนี้ให้กว้างขวาง

กรณีฉลากเขียว (Green Label) ของประเทศไทย ซึ่งมีการรับรองรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ได้มีการพิจารณาตั้งแต่การออกแบบให้ชิ้นส่วนสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขณะใช้งาน ลดสารพิษที่ใช้ในกระบวนการผลิต เช่น สีและชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้มีโลหะหนักไม่เกินมาตรฐาน ชิ้นส่วนอลูมิเนียมมีตะกั่วไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ผ้าเบรกและแผ่นคลัตช์ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เป็นต้น ต้องมีคำแนะนำในการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งาน ศูนย์บริการรถยนต์ต้องมีการจัดการของเสียอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

161598397131

เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเดินหน้าไปได้ไกลหรือไม่นั้นขึ้นกับรูปแบบการใช้รถยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เช่น การเดินทางไปด้วยกันในเส้นทางเดียวกัน ระบบการเดินทางที่รวบรวมบริการทุกอย่างด้านการขนส่งมาไว้ในพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้คนได้มากที่สุดภายในแพลตฟอร์มเดียว โดยรวบรวมหรือเชื่อมต่อบริการภาคคมนาคมขนส่งจากผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สามารถจัดการรูปแบบการเดินทางและสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายได้ด้วยระบบเดียวกัน

รวมถึงการเปลี่ยนเครือข่ายการกระจายสินค้าและซ่อมบำรุง เป็นศูนย์รวมการผลิตซ้ำและการรีไซเคิล และการนำการออกแบบที่มีการแยกส่วนประกอบย่อยและการนำวัสดุคาร์บอนต่ำมาใช้ในการออกแบบและผลิตรถยนต์ 

แนวคิดการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์นับว่ามีความน่าสนใจและต้องร่วมกันสนับสนุนกันต่อไป  พร้อมๆ กับการบริหารโครงข่ายการคมนาคมให้มีความเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน โดยต้องไม่ลืมว่าทางเดียวกันไปด้วยกันดีที่สุด

เรียบเรียงโดย แววตา บวรทวีปัญญา  สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

แหล่งข้อมูล

www.weforum.org/agenda/2020/12/how-the-circular-economy-could-forever-change-how-cars-are-made/

khonkaenthinktank.com/news_view.php?id=80

www.allaroundplastics.com/article/sustainability/1898

manufacturing-review.com/TH/circular-economy-in-automotive-industry/