'นิติธรรม' ของไทย เรามีช่วยกันทำให้ดีกว่าเถอะ

'นิติธรรม' ของไทย เรามีช่วยกันทำให้ดีกว่าเถอะ

งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้น ได้พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง ระดับการมี 'นิติธรรม' กับขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

แม้ว่าในทางทฤษฏีจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า  ระดับของของการมีนิติธรรมมีผลต่อเรื่องเหล่านี้  แต่ผลการศึกษาเชิงประจักษ์มีทั้งที่แสดงให้เห็นว่าระดับนิติธรรมของประเทศมีความสำคัญ  และมีงานที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเจน  แต่ถ้าถามคนธรรมดาว่าสังคมที่ดีคุณภาพชีวิตที่ดีควรเป็นแบบไหน  คนจำนวนไม่น้อยคงพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  เท่าเทียม  และเป็นธรรม  ซี่งเป็นลักษณะสำคัญของสังคมอยู่ร่วมกันด้วยหลักนิติธรรม

ความสำคัญของนิติธรรมนี้เอง ที่ทำให้มีการหาวิธีวัดระดับนิติธรรมของประเทศต่าง ๆ โดยผู้วัดหวังว่าผลที่ได้จะช่วยให้ประชาชนและผู้บริหารของประเทศเหล่านี้ได้ทราบถึงสถานะของประเทศของตน  ช่วยให้เห็นว่าประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขมีเรื่องอะไรบ้าง  แต่ละเรื่องมีความรุนแรงมีความเร่งด่วนแค่ไหน

หนึ่งในตัวชี้วัดที่มีการดำจัดทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law index) จัดทำโดย World Justice Project ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีประเทศที่ได้รับการประเมิน 128 ประเทศ แบ่งการประเมินออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่ 

ด้านที่ 1 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ ด้านที่ 2 การปราศจากการทุจริต ด้านที่ 3 ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ด้านที่ 4 สิทธิขั้นพื้นฐาน ด้านที่ 5 รัฐบาลที่เปิดเผย ด้านที่ 6 การบังคับใช้กฎหมาย ด้านที่ 7 กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ด้านที่ 8 กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ด้านที่ 9 กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นทางการที่เป็นทางเลือกแทนกระบวนการยุติธรรมหลัก

คะแนนที่ได้จากการประเมินทั้ง 9 ด้านถูกนำมาคิดเป็นคะแนนรวมของแต่ละประเทศ  แล้วเอาผลที่ได้มาจัดอันดับประเทศ  สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 คะแนน  ผลประเมินรายด้านทุกด้านของประเทศไทยได้มีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมของโลก 

ปกติแล้วเรามักเอาคะแนนของประเทศไทยไปเทียบกับประเทศอื่นที่คะแนนสูงกว่าเรามาก แล้วก็พูดกันว่าประเทศเราสู้ประเทศโน้นไม่ได้  เทียบประเทศนี้ไม่ได้  ซึ่งบางประเทศที่เราไปเทียบกับเขานั้นมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเราเยอะ  มีระดับการพัฒนาโดยรวมที่นำหน้าเราไปหลายก้าว  การเปรียบเทียบแบบนี้จึงอาจไม่เหมาะเสียทีเดียว  ไม่ต่างอะไรกับการเทียบผลสอบของเด็กที่พ่อแม่มีฐานะดี  กับเด็กที่พ่อแม่ยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

วิธีการเทียบที่เหมาะสมกว่าจึงเป็นการถามตัวเองว่าด้วยระดับรายได้ต่อหัวของเราในปัจจุบัน  คะแนนที่ประเทศของเราทำได้ดีมันพอหรือยัง?

161606612496

          เส้นประในรูปที่นำเสนอเป็นเส้นที่จะตอบคำถามนี้ให้กับเรา  เส้นนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูล 128 ประเทศ  โดยแกนตั้งเป็นคะแนนที่แต่ละประเทศได้จากการประเมินในปี 2563 ส่วนแกนนอนเป็นรายได้ต่อหัวของประเทศ  เมื่อนำข้อมูลนี้มาประมาณค่าเส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ต่อหัวกับคะแนนที่ได้ก็จะได้เส้นประที่แสดงให้เห็นว่า  โดยเฉลี่ยแล้ว ณ ระดับรายได้ต่อหัวที่กำหนด  คะแนนที่ได้ควรมีค่าเท่าไหร่ 

            หากจุดของประเทศไหนอยู่บนเส้นประแสดงว่าระดับนิติธรรมที่มีสอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศ  ถ้าจุดสูงกว่าเส้นประหมายความว่าประเทศนั้นทำได้ดีกว่าที่คาดหมายไว้  ส่วนจุดที่ต่ำกว่าเส้นประหมายความว่าคะแนนที่ทำได้มีค่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

          จากรูปจะเห็นได้ว่าจุดของประเทศไทยอยู่ต่ำกว่าเส้นประ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับเราและอยู่ใต้เส้นประเหมือนกัน คือ เบลารุส  สาธารณรัฐ โดมินิกัน  เม็กซิโก  และมาซิโดเนียเหนือ  ประเทศที่รายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับเราแต่ได้คะแนนสูงกว่าที่เส้นประ คือ บอตสาวานา  เกรนาดา  จอร์เจีย  และบาร์เบโดส  การที่มีถึง 4 ประเทศที่ทำได้เกินเส้นประเป็นการบอกใบ้ว่า ประเทศไทยเองก็สามารถยกระดับนิติธรรมให้สูงขึ้นว่านี้ได้

          สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนก็คือความคิดว่าระดับนิติธรรมของประเทศขึ้นอยู่กับภาครัฐ  จริงอยู่ว่ากลไกด้านนิติธรรมส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกของภาครัฐ  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  พวกเราทุกคนสามารถสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมด้วยการเคารพกฎหมาย  เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่น  และมีหลักศีลธรรมควบคุมพฤติกรรมของเราไว้ในระดับหนึ่ง 

      เหมือนกับที่องค์ทะไลลามะเคยกล่าวไว้ว่า "แม้แต่ประเทศที่มีหลักนิติธรรมเข้มแข็ง ถ้าหากหลักขาดศีลธรรมที่กำกับไว้  เราก็ยังจะพบเห็นปัญหาการเลือกปฏิบัติ  ปัญหาการทุจริต  และการเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นในประเทศเหล่านี้ได้เหมือนกัน.”