กัญชงพี่กัญชา

กัญชงพี่กัญชา

สองพี่น้อง กัญชง และ กัญชา กำลังดังเปรี้ยงปร้าง และกำลังเป็นความหวังใหม่ของผู้คนจำนวนมากที่กำลังดิ้นรนที่จะออกจากวิกฤตโควิด-19

ที่เรียกกัญชงว่าเป็นพี่กัญชาก็เป็นเพราะทั้งคู่เป็นพืชในตระกูลเดียวกัน กัญชงเป็นพืชที่เคยได้รับอนุญาตให้ปลูกแบบจำกัดพื้นที่มาก่อนกัญชา เพื่อใช้เส้นใยในประเทศไทย ดังนั้น เกษตรกรจึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกกัญชง เพียงแต่จำกัดพื้นที่เพาะปลูกและมีผู้ซื้อน้อยรายมาก

กัญชงเพิ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เชิงพาณิชย์ได้ตามประกาศของราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกร บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสามารถลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตปลูกได้

กัญชาเป็นพืชที่มีค่า THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เมาสูงกว่ากัญชง ส่วนที่มีค่านี้สูงในกัญชาก็คือช่อดอกและเมล็ดพันธุ์ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของกัญชามีสารนี้ต่ำ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดจึงสามารถขายใบกิ่งก้านแรกไปยังบุคคลทั่วไปได้ ส่วนกัญชง มีสาร THC ที่ช่อดอก ส่วนเมล็ด กิ่งก้าน และใบไม่ถือเป็นยาเสพติด


ดังนั้น จึงสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้ กัญชงถึงเป็นพี่แต่ก็นับเป็นมือวางอันดับสองรองจากกัญชา แต่จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ออกตัวได้เร็วกว่า   

เกษตรกรในหลายจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ต้องการพืชทางเลือกใหม่เพื่อจะมาชดเชยรายได้จากการปลูกข้าวโพด ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ต่ำกว่าแล้วยังทำให้เกิดควันพิษและ PM  2.5 อันเนื่องมาจากการเผาไร่ข้าวโพดเพื่อลงพืชฤดูใหม่ การหาพืชใหม่หรือพืชทางเลือกที่เป็นโอกาสใหม่จึงนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการส่งเสริมเกษตรกร

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรในภาคเหนือตอนบนใน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และอำเภอพบพระจังหวัดตาก อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กัญชงได้รับอนุญาตให้ปลูกได้ ข้อมูลนี้จัดทำโดย รศ.ดร. ศิริพร กิรติการกุล  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้โครงการโมเดลอาชีพทางเลือกสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สนับสนุนโดย แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ    

161643153483

กัญชง  (Hemp) เป็นพืชที่ชอบแดดปานกลางคือร้อยละ 70 หรือ 80 และปลูกได้ตั้งแต่พื้นที่สูง 200 – 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชอบดินร่วน ทรายร่วน และดินเหนียวร่วน และมีฝนตั้งแต่ 1,200 1,900 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูเพาะปลูกจะเริ่มในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวต้นเพื่อทำเส้นใยประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน

หน่วยงานและบริษัทที่รับซื้อในปัจจุบันได้แก่ สหกรณ์ผู้ปลูกกัญชงในอำเภอพบพระ มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) กัญชงมีหลายสายพันธุ์ มีพันธุ์ที่ให้ช่อดอกดี พันธุ์สำหรับผลิตเมล็ดเพื่อสกัดน้ำมัน พันธุ์ที่ต้องการลำต้นไปทำเส้นใย ดังนั้นจึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับเป้าหมายผลผลิต

กัญชงเป็นพืชไร่ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับข้าวโพดที่เป็นพืชนิยมในภาคเหนือจนก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 อยู่ทุกวันนี้ หากปลูกกัญชงเพื่อขายเมล็ดจะมีกำไรสุทธิประมาณ 17,634 บาทต่อไร่ ถ้าจำหน่ายเป็นต้นสดจะมีกำไรประมาณ 10,261 บาทต่อไร่ และถ้าจำหน่ายเป็นเส้นใยจะได้รายได้ต่อไร่สูงสุดคือ 26,439 บาทต่อไร่

แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นต้นสดหรือเป็นเส้นใยนั้น ใช้ค่าแรงสูงกว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดมาก คือต้องใช้ต้นทุนแรงงานเพิ่มอีกประมาณ 7,000 – 8,000 บาทต่อไร่ ตารางที่ 1 แสดงต้นทุนสำหรับการจำหน่ายเมล็ด ต้นสด และเส้นใย

161643156249

กัญชงเป็นพืชที่ควรสนับสนุนให้มาทดแทนข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน หากจะให้ชาวบ้านมีกำไรสุทธิ 100,000 บาท/ปี จะใช้พื้นที่เพียง 4 ไร่ ในขณะที่ข้าวโพดจะต้องใช้พื้นที่ถึง 19 ไร่ และกัญชงใช้เงินลงทุนน้อยกว่ามาก หากมีเงินลงทุนในระดับแสนบาท กัญชงจะสร้างรายได้เท่ากับข้าวโพด โดยกัญชงใช้พื้นที่เพียง 8 ไร่ ข้าวโพดใช้ 37 ไร่ เพื่อให้ได้รายได้สุทธิ 200,000 บาท/ปี

ที่เกษตรกรควรเข้าใจก็คือ ถ้ากัญชงปลูกกันแพร่หลายมากเหมือนกระเพรา ราคากัญชงก็คงตกลงมาเช่นกัน ยกเว้นว่าจะร่วมกันลงทุนเป็นวิสาหกิจที่ทำการแปรรูปได้  

ดาวน์โหลดเอกสาร พืชและสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดน่าน.....ทางเลือกและทางรอด ได้ฟรีจาก https://www.khonthai4-0.net/?wpfb_dl=143