อาณานิคมเบลเยี่ยม สู่ วัคซีนโควิด-19 ของ JNJ
ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์กับอาจารย์มนู สว่างแจ้ง อดีตผู้จัดการใหญ่บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในรายการ CSI Live ท่านได้พูดถึงวัคซีนโควิด-19
วัคซีนที่เป็นความหวังใหม่ของมวลมนุษยชาติในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั่นก็คือวัคซีนของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (JNJ) ที่ได้พิสูจน์เป็นในวงกว้างว่าสามารถฉีดเพียงเข็มเดียวก็เอาอยู่ ในขณะที่วัคซีนของ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และ แอสตร้า เซเนก้า นั่นต้องฉีดถึง 2 เข็ม นอกจากนั้นการฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ทั้งถูกกว่า สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ และยังจะให้ผลข้างเคียงจากการฉีดน้อยกว่าวัคซีนอื่นๆอีกด้วย
วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ถูกผลิตขึ้นมาจากบริษัทในเครือที่มีชื่อว่า บริษัท แจนส์เซน ฟาร์มาซูติคอล (Janssen Pharmaceuticals) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง เบียร์เซ่ (Beerse) ประเทศเบลเยี่ยม แต่ที่มาที่ไปของวัคซีนนี้กลับเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
หากย้อนกลับไปในช่วงยุคล่าอาณานิคมของจักรวรรดิทางฝั่งยุโรปช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีหลายๆประเทศในฝั่งยุโรปเข้ามาล่าอาณานิคมเป็นจำนวนมากทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน โปรตุเกส และ ในใจกลางของแอฟริกาถูกยึดครองโดยประเทศเบลเยี่ยม ที่ทุกวันนี้คือประเทศคองโก ที่ถูกยึดครองโดยจักรพรรดิลีโอโพลที่สองของเบลเยี่ยม ตั้งแต่พ.ศ. 2428 จนถึง พ.ศ. 2451
ช่วงนั้นเองประเทศที่มีอาณานิคมใหญ่ที่สุดโลกก็คืออังกฤษ และ ฝรั่งเศษ ซึ่งตัวของจักรพรรดิลีโอโพลเองก็อยากให้ประเทศเบลเยี่ยมเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งท่านเองก็รู้ว่าถ้าจู่ๆไปยึดครองส่วนหนึ่งของแอฟริกาก็คงจะเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย ท่านจึงตัดสินใจสร้างองค์กรๆหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า The International African Society ซึ่งมีขบวนการที่จะช่วยเหลือและค้นคว้ากับชาวแอฟริกันทั้งหลาย เพื่อที่จะค้นหาทรัพยากรใหม่ๆที่จำเป็นและมีประโยชน์ให้กับโลก
ในพ.ศ. 2427 มีการะประชุมของบรรดาจักรพรรดิและผู้นำของแต่ละประเทศที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ถึงเรื่องของนโยบายและการค้าในทวีปแอฟริกา ว่าจะรวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร จักรพรรดิลีโอโพลขึ้นมาเสนอว่า ท่านมีองค์กรของท่านและท่านมีแผนว่าจะไปยึดครองพื้นที่ตรงกลางของแอฟริกาเพื่อจัดตั้งฐานทัพและศูนย์บัญชาการขององค์กรนี้ขึ้นมา
หลายๆ ประเทศนั้นไม่เชื่อในศักยภาพกองทัพของเบลเยี่ยมจึงทำให้ถูกคัดค้าน แต่จักรพรรดิลีโอโพลบอกกับที่ประชุมว่า ไม่ใช่ประเทศเบลเยี่ยมแต่เป็นตัวเขาเองที่จะไปยึดครองด้วยเงินของเขาและกองทัพของเขา นานาประเทศต่างแปลกใจแต่ก็ยินยอมเพราะไม่คิดว่าจักรพรรดิเพียงคนเดียวจะสามารถยึดครองได้ เขาเลยได้รับอนุมัติในการยึดครองอำนาจตรงใจกลางทวีปแอฟริกา
หลังจากที่ได้ยึดอาณานิคม สิ่งที่คุณผู้อ่านคงเดาได้คือ เขาไม่ได้ที่จะยกระดับมาตรฐานชีวิตของคนในคองโก มันไม่ได้เป็นความตั้งใจของเขาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กลับกันเขาใช้อำนาจของทหารของเราในการบีบบังคับชาวคองโกให้ตกเป็นทาส เพื่อเอาทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยางพารา ที่ราคากำลังขึ้นช่วงนั้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และ งาช้าง
เขาได้สั่งการกับทหารของเขาให้มีโควต้ากับปริมาณของชาวคองโกว่าต้องมีผลผลิตให้ถึงเป้าหมาย ถ้าไม่ถึงเขาจะสั่งการให้ทหารของเขาตัดอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายชาวคองโก ส่วนใหญ่คือมือ ทั้งชาย หญิง และ เด็ก
จักรพรรดิลีโอโพลนำเงินจากการขายทรัพยากรเหล่านี้ไปสร้างสถาปัตยกรรมแห่งชาติมากมายเช่น ประตูชัยในเมืองบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยม และ สถานีรถไฟอันมหึมาที่เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp)
หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดโรคระบาดรุนแรงในแอฟริกาที่มีชื่อว่า โรคเหงาหลับ หรือ African Sleeping Sickness ซึ่งได้แพร่ระบาดในประเทศที่ติดกับคองโก อย่างยูกันด้า ซึ่งจักรพรรดิลีโอโพลพอได้ทราบข่าวก็เกิดการวิตกกังวลว่ามันจะแพร่ระบาดมาที่แรงงานของเขาในประเทศคองโก เขาจึงตัดสินใจนำนักวิจัย และ นักวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อที่จะมาค้นคว้าและวิจัยโรคระบาดนี้ เพื่อที่จะไม่มากระทบแผนของเขา
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทั่วโลกได้ออกมารุมประนามจักรพรรดิลีโอโพล จนในปีพ.ศ. 2451 เบลเยี่ยมตัดสินใจยึดครองคองโกด้วยตนเองจากจักรพรรดิลีโอโพล แต่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่อยู่ที่คองโก ก็ยังปักหลักอยู่ที่นั่นและการวิจัยก็เริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
พวกเขาเลยตัดสินใจสร้างองค์กรของตนเองขึ้นมาชื่อว่า Prince Leopold Institute of Tropical Medicine ซึ่งทุกวันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Institute of Tropical Medicine Antwerp ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม
ในปี พ.ศ.2503 ประเทศคองโกก็ได้ประกาศอิสรภาพจากการปกครองของเบลเยี่ยมที่ยาวนานถึง 75 ปี ในตอนนั้นสถาบันการวิจัยเวชศาสตร์เขตร้อนนี้ได้ค้นคว้าวิจัยที่ล้ำสมัย ค้นพบปรสิต ไวรัส และ เชื้อโรค มากมาย และเป็นผู้นำของโลกในด้านการวิจัยเชื้อโรคในเขตร้อน
หลังจากนั้นไม่นานสถาบันแห่งนี้ก็กลายเป็นโรงเรียนสำหรับนักวิทยศาสตร์ นักวิจัย และ หมอ ในการวิจัยและค้นคว้าเชื้อโรคในเขตร้อน โดยที่นักเรียนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันนี้ก็ไปเข้าทำงานในบริษัท แจนส์เซน ฟาร์มาซูติคอล ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นนี้ ซึ่งบริษัทเองได้ผลิตยาหลายๆตัวที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองว่าจำเป็นต่อร่างกาย พวกเขายังมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศคองโก ก่อนที่ไม่นานมานี้ก็ค้นพบวัคซีนในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโลกอีโบล่าได้
ในวันที่ 24 ตุลาคม 2504 บริษัท แจนส์เซน ฟาร์มาซูติคอล ก็ถูกซื้อโดยบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอหน์สัน ซึ่งบริษัทแจนส์เซน นี่เองก็เป็นบริษัทที่สร้างวัคซีนโควิด-19 ที่แสนมหัศจรรย์ขึ้นมานี่เอง ซึ่งประธานบริษัทแจนส์เซน ก็เป็นหนึ่งในบัณฑิตที่จบมาจากสถาบันของจักรพรรดิลีโอโพลเหมือนกัน
ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาเปิดโปงที่มาที่ไปอันแสนน่าสะพรึงกลัวของวัคซีนนี้ แต่กลับกันถ้าเรามองออกมา เราจะค้นพบว่าหลายๆสิ่งหลายๆอย่างบนโลกใบนี้ล้วนเกิดมาจากการต่อสู้และการพยายามทั้งหมดทั้งปวง หวังว่าการเข้ามาของวัคซีนตัวนี้จะทำให้โรคโควิด-19 หายไปจากโลกนี้ในที่สุด.