เจ็บแล้วต้องจำ! แผลเป็นจากจำนำข้าว
จะครบ 10 ปีในปีหน้า ความสูญเสียที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2555 และการสะสางชำระความผิดที่ยังค้างคาอยู่เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวของพรรคการเมืองหนึ่ง
จะครบ 10 ปีในปีหน้า ความสูญเสียที่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 และการสะสางชำระความผิดพลาดทั้งเป็นเม็ดเงินและไม่ใช่เม็ดเงินที่ยังค้างคาอยู่เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวของพรรคการเมืองหนึ่งที่ได้ชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
บทเรียนสำคัญยิ่งคือ จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และ/หรือสกัดกั้นความสูญเสียที่เมื่อเริ่มเกิดขึ้นแล้วในนโยบายสาธารณะของรัฐบาลจะต้องไม่ดำเนินต่อจนลุกลามใหญ่โตได้อย่างไร
การมานั่งติดตามหาผู้รับผิดชอบความสูญเสียของสังคมในภายหลังเอากับนักการเมืองและข้าราชการประจำตลอดจนบุคคลอื่นๆ ด้วยวิธีทางศาล ล้วนแต่เป็นการตรวจสอบ "ปลายน้ำ"ทั้งนั้น
อย่างเช่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินไปแล้วหลายคดี พิพากษาจำคุก จ่ายค่าปรับและฟ้องทางแพ่งยึดทรัพย์กันไปแล้วบ้างก็มี โดยทรัพย์ได้คืนมานั้นมีค่าเพียง "แมวดม" เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเม็ดเงินที่เกิดขึ้นกับสังคม
เท่าที่ผ่านมาเรามีแนวโน้มจะเชื่อว่าเมื่อมาถึงตรงนี้จะไม่ค่อยมีพลาดแล้วเพราะเป็นการตรวจสอบจากฝ่ายการเมืองผ่านองค์กรอิสระคือ ปปช.
อย่างไรก็ดี ล่าสุดก็คือศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๒ เมษาได้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,000 ล้านบาท จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติและปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย
เท่ากับว่าจะต้องเป็นคดีความยืดเยื้อต่อไปอีกเนื่องจากรัฐบาลสามารถอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดได้ คดียังไม่สิ้นสุด แต่ก็จะไม่สำคัญอะไรนักเรื่องทรัพย์ "แมวดม"ที่ยึดไปไม่ถึง 100 ล้านบาทนี้
ที่สำคัญกว่าคือคำตัดสินคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ ปี 2560 ยังมีผลอยู่ตามนั้น ที่พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี มติเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา
แต่ในเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ หลบหนีลอยนวลอยู่นอกราชอาณาจักร โทษจำคุกจึง (ยัง)เอื้อมไปไม่ถึง หากติดตามเอาตัวมาได้จริง ก็เป็นเรื่อง "ปลายน้ำ" อยู่นั่นเอง
"ต้นน้ำ" จริง ๆนั้นอยู่ที่ตั้งแต่การเป็นนโยบายของพรรคการเมืองโน่นแล้ว เราขาดแคลนอย่างหนักการตรวจสอบนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาชนภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เราคุ้นชินและฝากความหวังไว้แค่กับ (การเขียน)รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมาย ตรวจสอบทางการเมืองผ่านการแถลงนโยบายทางรัฐสภา ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งคณะกรรมาธิการสอบ และตั้งกระทู้ถามในสภาซึ่งนับวัน แทนที่จะเป็นการตรวจสอบจริง ก็กลายรูปเป็นเกมหาเสียงหาช่องทางทำการอื่นของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยิ่งขึ้นทุกที
น่าเสียดายพลังภาคประชาชนพอมีอยู่บ้างที่กล้าท้าทายกฎระเบียบการชุมนุมโดยเฉพาะจากหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นใหญ่บางกลุ่มให้การสนับสนุน น่าจะเริ่มสร้างพลังไปในทางตรวจสอบนโยบายสาธารณะของรัฐบาลด้วย แทนที่จะเน้นการตรวจสอบวิถีเดิมๆดังกล่าวอยู่
สังคมไทยต้องเริ่มตรวจสอบนโยบายสาธารณะของพรรคการเมืองและของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งเข้มข้น การ์ดไม่ตก ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ทำเพื่อประโยชน์สังคมจริง ๆ จะมีผู้คนและสื่อต่างๆ หลากชนิดรวมทั้งโซเชียลมีเดียรับฟัง
ว่ากันตามจริงเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดนี้ เราไม่น่าจะต้องมารอผลงานวิจัยจากสกว.หลัง ปี 2557 เลย ภายหลังความเสียหายมหาศาลได้เกิดขึ้นแล้ว
แค่การคิดนโยบายให้รัฐเป็นผู้รับซื้อจำนำข้าวทุกเมล็ดและเอามาค้าขายเอง โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่การซื้อ การเก็บรักษา ฯ จนกระทั่งการขาย หรือว่าไปร่วมมือกับเอกชน มันจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ทุกขั้นตอนตั้งแต่เมล็ดข้าวเปลือกออกจากนามากว่าจะเป็นข้าวสารเป็นศาสตร์เป็นทักษะเป็นศิลป์ของผู้ค้าข้าวผู้ประกอบการที่ต้องสะสมมานานหลายปี ทุกขั้นตอนมีเงื่อนเวลากำกับอย่างที่จะพลาดไม่ได้เพราะเมล็ดข้าวเปลือกจะเน่าจะเสีย
เพียงแต่ผู้ประกอบการข้าวเปลือกมืออาชีพทั่วไปไม่มีโอกาสพูด ไม่มีใครไปถาม ดังนั้น แม้กลิ่นข้าวเน่าโชยคละคลุ้งทั่วประเทศแล้วสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นักวิชาการบางคนเตือนแล้วเตือนอีก บ้างถอนตัวออกจากพรรค แต่ก็แทบไม่มีผลใดเพราะขาดภาคประชาสังคมและสื่อเอาด้วย เราก็จึงยังไม่สามารถสกัดกั้นความสูญเสียไว้ได้
นี่ต่างหากที่น่ากลัว
เราทุกคนต้องตระหนักความผิดพลาดเพิกเฉยอันนี้ของเรากันทั่วหน้า ต่อนี้ไปเราจะป้องกันนโยบายสาธารณะแบบนี้ไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดได้อย่างไรหากว่าความจำของคนไทยที่มัก(ถูกทำให้)ไม่มีหรือถึงมีก็สั้นๆเพราะไร้การบอกเล่าบันทึกฝากฝังสืบต่อให้คนรุ่นหลัง
งานวิจัยของสกว. ที่มาบอกว่านโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดดังกล่าวนี้เป็นการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ รัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาทซื้อข้าวเปลือก 54.4 ล้านตัน เพื่อจะมาพบว่าข้าวเปลือกร้อยละ 80 ไม่ผ่านมาตรฐานเมื่อตรวจสต็อค การดำเนินการมีทุจริตทุกระดับ มูลค่าการทุจริตโครงการนี้ขาดทุน 6.6 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคมมากกว่าประโยชน์ต่อชาวนาและผู้บริโภคคิดเป็นมูลค่า 1.23 แสนล้านบาท
อพิโธ่ อพิถัง แค่ข้าวเปลือกในสต็อคไม่ผ่านมาตรฐานมากเกินครึ่ง จะจีทูจี หรือจีทูเจ๊ เป็นเรื่องฝนตกขี้หมูไหล การซื้อที่ทำโดยระบบราชการเป็นหลัก อาศัยเซอร์เวเยอร์ที่รัฐบาลอบรมสองสามวันนั้นย่อมบกพร่อง ในวงการนั้นเขาประมูลตัวกันเลย ผู้มีทักษะดูข้าวเปลือกระดับ "เซียน"
นโยบายผิดพลาดเกิดการทุจริตทุกระดับทุกขั้นตอนตั้งแต่กลัดกระดุมเม็ดแรกอย่างนี้ เป็นไปได้ยากที่ผู้คิดและ/หรือพรรคการเมืองจะไม่รู้ไม่ระแคะระคายมาก่อน
เจ็บแล้วต้องจำ.